เตือนการเฝ้าระวัง โรคราแป้งยางพารา (Powdery Mildew)
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Oidium heveae
เป็นโรคที่พบมากช่วงที่ยางพารามีการพลัดใบและมีการแตกใบอ่อนออกมาใหม่
อาการ เชื้อราทำลายใบอ่อนให้เสียหายและหลุดร่วง ทำให้ต้นยางพาราที่อายุยังน้อยชะงักการเจริญเติบโต ส่วนต้นยางพาราที่โตแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำยางที่จะกรีดได้
นอกจากนี้โรคราแป้งยังทำให้ดอกยางพาราร่วง ส่งผลต่อการผลิตเมล็ดที่ใช้ในการผลิตต้นตอขยายพันธุ์ โรคราแป้งสามารถแพร่กระจายได้โดยลม
การป้องกันกำจัด
ให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าปกติในช่วงปลายฤดูฝน และใส่ในช่วงที่ยางพาราผลิใบอ่อน เพื่อเร่งให้ใบที่ผลิออกมาใหม่แก่เร็วขึ้น ถ้าต้นยางพาราอายุน้อยกว่า 2 ปี ให้เกษตรกรฉีดพ่นใบอ่อนในช่วงเช้าด้วยกำมะถันผง (M02) อัตราไร่ละ 1.5-4 กิโลกรัม ทุก 5-7 วัน พ่นประมาณ 5-6 ครั้ง หรือใช้สารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม (1) (สารนี้ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องเพราะจะทำให้เชื้อดื้อยา) และ ไตรดีมอร์ฟ (5) เป็นต้น ในอัตราการใช้ที่แนะนำ ห้ามใช้เกินอัตราเพราะจะทำให้ใบยางไหม้ได้ โดยฉีดพ่นสารเคมีที่แนะนำในช่วงที่พบโรคทุกสัปดาห์ จะช่วยลดอาการของโรคราแป้งได้ ในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคประจำควรหลีกเลี่ยงการปลูกยางพันธุ์ที่มีการผลัดใบช้า
อ้างอิง เอกสารหลักสูตรการป้องกันโรคและศัตรูยาง การยางแห่งประเทศไทย