เตือนการเฝ้าระวัง หนอนหัวดำมะพร้าวในมะพร้าว
เตือนผู้ปลูกมะพร้าวหลังพบการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าว พื้นที่ระบาด 43จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ปัตตานี ตราด นครราชสีมาฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร นครปฐม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุดรธานี กระบี่ ขอนแก่น ภูเก็ต พังงา ชัยนาท กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สตูล ศรีสะเกษ สมุทรปราการ ระยอง นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู มหาสารคาม นราธิวาส สระบุรี ร้อยเอ็ด ลำพูน และยะลา) จำนวน 49,308 ไร่ การระบาดเพิ่มขึ้น 268 ไร่ ระบาดในระยะมะพร้าว ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือหนอนหัวดำมะพร้าว ระยะหนอนเท่านั้นเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบจากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายทางใบหลาย ๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1 - 2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
กรณีที่พบการระบาดปานกลางและระบาดน้อยของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ทำการเขตกรรม โดยการตัดทางใบส่วนที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลาย ลงมาย่อยสลาย ฝังกลบ หรือจมน้ำทันที เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ลดจำนวนประชากรของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ง่ายและเร็ว
2. ใช้แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซีส Bacillus thuringiensis อัตรา 80 - 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ 5 ลิตรต่อต้น ทุก ๆ 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
3. ปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัส Goniozus nephantidis ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง หรือปล่อยแตนเบียนบราไคมีเรีย Brachymeria nephantidis (แตนเบียนดักแด้หนอนหัวดำมะพร้าว) ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 120 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง
กรณีที่พบการระบาดรุนแรง ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัดต้นที่สูงน้อยกว่า 4 เมตร
1. การพ่นสารทางใบ ใช้สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (พิษสูงต่อผึ้ง) หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (พิษสูงต่อกุ้ง) พ่น 1 -2 ครั้ง ให้ทั่วทรงพุ่ม จะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้
2. การฉีดสารเคมีเข้าลำต้น โดยเลือกใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ต้นมะพร้าวความความสูง 4-12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อต้นต้นมะพร้าวที่สูงเกิน 12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว โดยใช้ดอกสว่าน 3 – 4 หุน เจาะรูให้เอียงทำมุม 45 องศา จำนวน 1 -2 รู ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 0.5 - 1 เมตร หลังใส่สารใช้ดินน้ำมันตัดให้ได้ขนาดประมาณ 1 ลูกบาศ์นิ้ว อุดตรงรูทันที เพื่อป้องกันแรงดันที่จะทำให้สารไหลย้อนออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำได้นาน 90 วันไม่แนะนำในมะพร้าวความสูงน้อยกว่า 4 เมตร
ที่มา รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร วันที่ 18เมษายน 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์