เป็นที่รู้กันว่าโลกเรานั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการทำการเกษตรยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การเพาะปลูกอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงด้านการตลาด เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมทั่วโลก คนส่วนใหญ่สื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ ทั้ง Facebook ,IG ,Twitter ,LINE หรือแม้แต่แอปพลิเคชันแชร์คลิปสั้นอย่าง TikTok ก็ได้กลายเป็นช่องทางยอดนิยมในการสื่อสารออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ช่องทางดังกล่าว จึงกลายเป็นโอกาสการตลาดของเกษตรกรไทยที่จะได้ขยายฐานลูกค้าแบบเดิมไปสู่โลกที่กว้างขึ้นนั่นเอง
การขายสินค้าทางออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่แค่การซื้อขายของธรรมดา แต่ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ มีเรื่องราวที่โดดเด่น น่าสนใจ และกลยุทธ์ที่คิดมาล่วงหน้า เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาซื้อซ้ำเป็นลูกค้าประจำ เบื้องต้นก็ต้องเข้าใจการตลาดออนไลน์ก่อนว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง วันนี้แอดมินจึงขอนำเสนอเคล็ดลับการตลาดออนไลน์ที่ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. หาจุดเด่นของสินค้าว่าคืออะไร : สินค้าเกษตรของเราจะโดดเด่นได้ก็ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Storytelling คือการเล่าเรื่องสินค้าให้น่าสนใจ แต่จะเล่าอย่างไรจึงน่าสนใจและแปลกใหม่นั่นมีกลยุทธ์มากมาย เช่น ทำคลิปสั้นเพื่อโปรโมทในเพจของเราเอง เล่าเรื่องความละเมียดในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว หรือสร้างสตอรี่ด้วยการคิดแบบก้าวหน้า เช่น บอกเล่าเรื่องราวผ่านวิถีชุมชนและเกษตรอินทรีย์ หรือแม้แต่เป็นคลิปสั้นแนวตลกก็ยังได้ เพราะจำไว้สิ่งสำคัญของการเล่าเรื่องคือ เล่าแล้วคนฟังจำได้ นึกถึงได้เป็นรายแรกๆ นี่ก็คือการสร้างการรับรู้ หรือภาษาการตลาดที่เรียกว่า Awareness นอกจากนี้การจัดแพ็คเกจ (Packaging) สินค้าที่ดึงดูดใจ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย
2. ไม่รู้จะใช้แพลตฟอร์มไหน เริ่มต้นที่ Facebook ก่อน : หากอยากจะทำการตลาดสักอย่าง หรือขายสินค้าเกษตรผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากแพลตฟอร์มไหนดี Facebook ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ จากยอดผู้ใช้งานที่สูงถึง 2,320 ล้านคน ทำให้พบเจอกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่านั่นเอง อีกทั้ง Facebook ยังมีอัลกอลิธึ่มที่เข้าใจคนทั่วโลกแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อนก็ตาม ยังช่วยให้คนเหล่านั้นค้นเจอคุณ และพร้อมจะเสียเงินในสิ่งที่เขากำลังมองหาได้อย่างง่ายดาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเราเองก็ต้องคอยศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะระบบอัลกอริธึ่มของ Facebook เปลี่ยนบ่อยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีแพล็ตฟอร์มดีๆ ที่ฟรีค่าสมัครตลอดชีพ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่าง www.ouikum.com นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ โดยดาวน์โหลดได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และIOS โดยพิมพ์คำว่า Ouikum แล้วดาวน์โหลดฟรี แค่นี้พี่น้องเกษตรกรก็สามารถทำการสมัครสมาชิก และซื้อขายผ่านแอพฯได้แล้ว
3. ขายสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งาน : อย่างไรก็ตามบนโลกออนไลน์ หรือ Social Media ในทุกๆ แพลตฟอร์มนั้น อายุของผู้ใช้งานทุกวัยแทบจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ หรือกลุ่มมิลเลนเนียลนิยม twitter และ IG ขณะที่กลางคนและสูงอายุมักใช้ Facebook และ LINE ดังนั้นหากจะขายให้ผู้สูงอายุ การโปรโมทในเพจ Facebook หรือการใช้การตลาดใน LINE OA (line official account) ถ้าเจาะตลาดได้แล้วเขาจะเป็นลูกค้าประจำของเรา ดังนั้นคิดดีๆ หากสินค้าเกษตรของเราเป็นของสำหรับใช้ในครัวเรือน ทำอาหาร ของฝาก หรือของรับประทานเป็นกับข้าว คนซื้อก็อาจจะอยู่ช่วงกลางคนไปจนถึงจะสูงอายุหน่อย ตรงนี้ไม่ใช่เกณฑ์ที่แน่นอน ทางที่ดีบันทึกข้อมูลลูกค้าประกอบด้วยเพื่อวิเคราะห์การตลาด
4. บริการไม่ดี ครั้งต่อไปไม่มีใครซื้อ : ถึงแม้การขายสินค้าเกษตรหรือทำการตลาดบนโลกออนไลน์ เราจะไม่ได้เห็นหน้าคนซื้อ หรือรับมือกันโดยตรง แต่หัวใจสำคัญอย่างการบริการก็ห้ามลดลงเด็ดขาด เพราะกว่า 71% ของผู้ใช้งานเผยว่า หากพวกเขามีประสบการณ์ในเชิงลบกับทางแบรนด์ เขาจะไม่ใช้บริการอีกเลยทันที จากตัวเลือกที่มีให้มากมาย ทำให้เขาย้ายไปใช้บริการเจ้าอื่นได้ไม่ยาก กลับกันหากได้รับประสบการณ์เชิงบวกกับแบรนด์ในสื่อโซเชียลมีเดียล่ะก็ เขาจะแนะนำบอกต่อกับเพื่อนหรือคนใกล้ตัว ซึ่งนี่เป็นการตลาดที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้ลูกค้าใหม่เกือบจะ 100%
5. ใช้ Influencer : คำถามที่ทุกคนเองก็อาจสงสัยว่าจะใช้ Influencer อย่างไร ใช้กับใคร และใช้ใคร แน่นอนว่า เกษตรกรคงไม่จ้างพรีเซนเตอร์เป็นเหล่าดารา เซเล็บ แต่ถึงแม้ไม่จ้าง เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากลูกค้าประเภทคนดังได้ (ถ้ามี) เช่นการให้ลูกค้าคนดังรีวิวเพื่อแลกกับการสมนาคุณ เช่น ลูกค้าสั่งซื้อผลไม้ที่ร้าน หรือซื้อผักออร์แกนิกที่ร้าน ก็อาจจะเสนอของแถมหรือลดราคาให้เพิ่มเติม เพื่อแลกกับการรีวิวเล็กๆ น้อยๆ ในเพจของเขา หรือแม้แต่การให้ลูกค้าปกติรีวิวสินค้าให้เพื่อแลกกับของแถมต่างๆ กลยุทธ์นี้ก็สามารถใช้ได้ และจริงอยู่ว่ามันดูเหมือนการตลาดที่ไม่จริงจังนักและไม่ได้มีความแปลกใหม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเราอยู่ในยุคที่คนส่วนใหญ่เชื่อรีวิว ก็ทำเถอะไม่เสียหาย เพราะกว่า 49% ของผู้บริโภคมองว่า พวกเขาอยากได้คำแนะนำจากคนกลุ่มที่เคยซื้อมาก่อนเพื่อที่จะตัดสินใจซื้อ และยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่นิยมมากในปัจจุบัน คือการใช้เทคนิค Live streaming เรียกบ้านๆ ว่าถ่ายทอดสด หรือ ไลฟ์สด จริงๆ แล้วเทคนิคนี้ไม่เหมาะสำหรับเพจขายออนไลน์ในช่วงเริ่มต้น เพราะหากไม่มียอดวิว หรือคนเข้ามาดู เพราะเพจใหม่ยังไม่ค่อยมีคนกดไลก์หรือคนรู้จักนัก ยอดคนเข้ามาดูก็อาจจะน้อยจนหมดกำลังใจเอาได้ ดังนั้นค่อยๆ สะสมแฟนเพจไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่มีแฟนตัวยงหลายสิบคน ค่อยไลฟ์สดก็ยังไม่สาย ทั้งนี้สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นเข้าสู่การขายแบบออนไลน์ คำแนะนำในเบื้องต้นเหล่านี้คือแนวทางที่ควรทำเพื่อการสร้างตลาดออนไลน์ด้วยตัวเอง แถมทำง่าย และแทบไม่ต้องใช้เงินเท่าไหร่เลย และที่สำคัญการเพิ่มช่องทางออนไลน์ไม่ได้หมายความว่าจะลดช่องทางออฟไลน์ลง ดังนั้นจะต้องโฟกัสไปพร้อมๆ กัน เพราะคนเดี๋ยวนี้เข้าใจยาก บางคนเห็นสินค้าในโซเชียลแล้วตัดสินใจซื้อ ในขณะที่บางคนเห็นสินค้าในโซเชียลแล้ว แต่อยากมาดูเองที่ร้านหรือที่สวนด้วยก่อนที่จะซื้อ ดังนั้นทุกช่องทางจำหน่ายจึงสำคัญมากพอๆ กัน
ขอขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย)