แหนแดง พืชสารพัดประโยชน์
แหนแดง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mosquito fern เป็นพืชตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำ เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็ก มักพบในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น บ่อน้ำ, บึง, พื้นที่ชุ่มน้ำ, หรือแอ่งน้ำที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจหลายประการ เติบโตบนผิวน้ำในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก แม้ว่าจะพบว่ามีถึง 7 ชนิดทั่วโลก แต่ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata)
ต้นของแหนแดงมีขนาดเล็ก ในระยะเริ่มต้นจะมีสีเขียวคล้ายกับแหนเป็ด แต่เมื่อโตเต็มที่หรือแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำหรือสีน้ำตาล ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ ลำต้น ราก และใบ โดยแหนแดงจะมีกิ่งแยกออกจากลำต้น ในส่วนใบของแหนแดงนั้นเกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือใบบนและใบล่าง ใบของแหนแดงทั้ง 2 ส่วน มีขนาดใกล้เคียงกัน ใบล่างมีลักษณะค่อนข้างโปร่งใส มีคลอโรฟิลล์อยู่น้อยมาก ส่วนใบบนนั้นเป็นสีเขียวมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ มีปริมาณไนโตรเจนสูงมาก ประมาณ 4-5% ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนประมาณ 2.5-3% สาเหตุที่พบไนโตรเจนปริมาณสูงในแหนแดงเกิดจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanobacteria) ที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง สาหร่ายนี้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศไว้ในตัวได้ จึงทำให้แหนแดงมีธาตุอาหารที่สูง สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ นอกจากนี้ แหนแดงยังเหมาะสมที่จะนำไปใช้บำรุงพืชเกษตรอินทรีย์หลากหลายชนิดได้อีกด้วย
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรของไทยได้นำพันธุ์แหนแดงจากต่างประเทศมาปรับปรุง และได้พัฒนาสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เมื่อนำไปวิเคราะห์ค่าธาตุอาหาร แหนแดงพันธุ์นี้ จะมีค่าธาตุอาหารหลัก N-P-K ค่อนข้างสูง โดยมีไนโตรเจน (N) อยู่ที่ 5% ฟอสฟอรัส (P) อยู่ที่ 0.8% และโปแตสเซียม (K) 5%
ประโยชน์ของแหนแดง
1. แหนแดงช่วยบำบัดน้ำเสีย
แหนแดงเป็นพืชลอยน้ำที่มีความสามารถในการช่วยบำบัดน้ำเสียและลดความสกปรกของน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานการศึกษาในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกรด้วยแหนแดง พบว่าแหนแดงสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำเสียได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) โดยสามารถลดค่าความสกปรกในรูปของ BOD, TKN, NO, และ PO ได้ประมาณ 6-98% ภายในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ การใช้แหนแดงในการบำบัดน้ำเสียนับเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความประหยัด เนื่องจากแหนแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีสภาวะไม่ดีและยังช่วยเพิ่มคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้น ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการบำบัดน้ำเสียในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ
2. ใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยในนาข้าว
แหนแดงสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว โดยผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติพบว่า แหนแดงมีประโยชน์ต่อนาข้าวอย่างเห็นได้ชัด การใช้แหนแดงสดในนาข้าวนั้น เกษตรกรควรทำการหว่านแหนแดงใน 2 ช่วง ช่วงแรกคือการหว่านแหนแดงก่อนตีเทือก เพื่อให้แหนแดงได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในท้องนาประมาณ 20 วัน จากนั้นให้ทำการไถกลบเพื่อให้เกิดการย่อยสลายแหนแดง ซึ่งจะเริ่มปล่อยไนโตรเจนออกมา หลังจากทำการตีเทือกเสร็จก็สามารถหว่านข้าวหรือดำนาได้ทันที ในช่วงที่สอง คือ เมื่อดำนาแล้วจึงหว่านแหนแดงลงไปในนาข้าว โดยแหนแดงจะทำหน้าที่ช่วยบดบังแสงแดดและป้องกันการเกิดวัชพืชในนาข้าว นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติว่าการเลี้ยงแหนแดงในนาและการไถกลบแหนแดงก่อนปักดำสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 4.8 กิโลกรัมต่อไร่ และการเลี้ยงแหนแดงในนาข้าวหลังปักดำก็ให้ผลผลิตเช่นเดียวกัน
3. แหนแดงแห้ง ใช้เป็นปุ๋ยได้
แหนแดงเป็นพืชที่สามารถเพิ่มปริมาณตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราสามารถเก็บรวบรวมแหนแดงมาตากแห้ง โดนการผึ่งแดดประมาณ 2 วัน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าธาตุอาหารลดลงไปเล็กน้อยราว 0.5% เท่านั้น แล้วเก็บไว้ในกระสอบเพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชได้ โดยทั่วไปจะใช้แหนแดงแห้งในสัดส่วน 20 กรัมต่อวัสดุเพาะปลูก 1 กิโลกรัม จากผลการทดลองพบว่า แหนแดงแห้งมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสด เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนสูง เมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรีย แหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม สามารถใช้แทนปุ๋ยยูเรียประมาณ 10-12 กิโลกรัม
4. ใช้แหนแดงเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์
แหนแดงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน เซลลูโลส และแร่ธาตุมากมาย ทำให้เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ แหนแดงจึงเหมาะกับการใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลา โดยเฉพาะในนาข้าวที่ปลูกแหนแดงร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักและขนาดของปลาได้ นอกจากนี้ แหนแดงยังถูกนำมาใช้เลี้ยงเป็ดเช่นเดียวกับแหนเป็ดชนิดอื่นๆ โดยสามารถปล่อยให้เป็ดลงกินตามธรรมชาติในบ่อน้ำที่มีแหนแดง ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนด้านอาหารในการเลี้ยงเป็ดได้
แหนแดงยังสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น ไก่ และหมู โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่มีการขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์สามารถใช้แหนแดงทั้งแบบสดและแห้งผสมกับฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง เพื่อใช้เป็นอาหารที่มีคุณภาพดีให้แก่สัตว์ซึ่งทำให้เป็นทางเลือกที่ดีในการปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้มีความยั่งยืนและประหยัดมากขึ้น
ขั้นตอนและวิธีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดง
การเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดงทำได้โดยเริ่มต้นจากการใส่ดินนาลงในบ่อให้มีระดับความสูงของดินประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นให้ทำการเติมปุ๋ยคอกลงไป 1 กิโลกรัม และเติมน้ำให้สูงจากระดับผิวดินในบ่อประมาณ 10 เซนติเมตร ขั้นตอนต่อไปใส่แหนแดงลงไปในบ่อประมาณ 50 กรัม รอจนแหนแดงเจริญเติบโตเต็มบ่อจนแน่น หลังจากนั้นสามารถปล่อยน้ำออกจากบ่อ หรือนำแหนแดงที่เติบโตเต็มที่ไปขยายพันธุ์ต่อในที่ที่ต้องการ เช่น ในกระชังขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณแหนแดงไว้ใช้งานต่อไป โดยสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับแหนแดง คือ ระดับน้ำ ลึก 5 – 10 เซนติเมตร, อุณหภูมิ 20–30 องศาเซลเซียส, ได้รับแสงประมาณ 50%–70% และค่า PH ที่เหมาะสม อยู่ในช่วง 4.0–5.5
ข้อควรระวังคือ แหนแดงมีไนโตรเจนสูงและเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม ทำให้แมลงสามารถเข้าทำลายได้ง่าย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างบ่อเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์แหนแดงเพื่อแหล่งสำรองพันธุ์ หากแหนแดงในแปลงนาถูกแมลงทำลายลงไป ยังมีพ่อแม่พันธุ์สำรองสำหรับการเพาะเลี้ยงแหนแดงรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
แม่พันธุ์แหนแดง 10 กิโลกรัม จะเพียงพอสำหรับนำไปใช้ในนาข้าว 1 ไร่ หลังจากนำแหนแดงไปปล่อยในนาประมาณ 3-4 สัปดาห์ แหนแดงจะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากระบบขยายพันธุ์ของแหนแดงมีความสามารถในการเพิ่มน้ำหนักสดเป็น 2 เท่าตัวในทุก ๆ 3-5 วัน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม