ทำความรู้จักดินกรด ส่งผลกระทบ ต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร?
1 ต.ค. 2567
105
0
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
ทำความรู้จักดินกรด
ทำความรู้จักดินกรด ส่งผลกระทบ ต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร?

การทำเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น นอกจากการใส่ใจในเรื่องของการดูแลผลผลิตแล้ว การดูแลดินให้มีความสมบูรณ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันที่จะช่วยให้ได้ผลผลิตที่ดีตามมาด้วย ซึ่งดินหากผ่านการทำเกษตรกรรมหากถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน นอกจากทำให้ขาดความอุดมสมบูรณ์แล้ว หากปล่อยไประยะเวลานานก็จะยิ่งทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมลงไป

ซึ่งสภาพดินที่มักพบปัญหาหลักๆ ก็จะประกอบไปด้วย ดินเค็มและดินเป็นกรด สำหรับวันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ จะพามารู้จักกับสภาพดินกรด หมายถึง ดินที่มีค่าเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินต่ำกว่า 7.0 แต่ดินกรดที่เป็นปัญหาทางด้านการเกษตรคือ ดินกรดที่มีค่า pH ของดินต่ำกว่า 5.5 ซึ่งความเป็นกรดของดินแต่ละช่วงจะมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารพืชในดินให้เป็นประโยชน์

ลักษณะของดินกรด เป็นอย่างไร? 

ดินกรดที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 ถือเป็นข้อจำกัดประเภทหนึ่งในด้านความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร ซึ่งการเกิดดินเป็นกรดนั้นมีสาเหตุหลายประการ อันได้แก่ เกิดตามธรรมชาติจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นกรด เกิดการชะละลายธาตุที่เป็นด่างออกไปจากดินโดยน้ำฝนหรือน้ำชลประทาน พืชดูดเอาธาตุที่เป็นด่างออกไปแล้วปลดปล่อยกรดลงไปแทนที่ รวมไปถึงการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีต่างๆ ที่มีสารกำมะถันเป็นองค์ประกอบ และเกิดจากฝนกรดบริเวณใกล้โรงงาน อุตสาหกรรม เป็นต้น

สังเกตอย่างไร ว่าในพื้นที่เป็นดินกรด

สำหรับการสังเกตดินกรด โดยทั่วไปไม่สามารถพิสูจน์ดินเป็นกรดด้วยการมองเห็นด้วยสายตาเหมือนดินปัญหาอื่นๆ ที่ตาเปล่าสามารถมองว่าเป็นดินเนื้อหยาบ ดินร่วนหยาบ ดินร่วนละเอียด ทั้งที่ลุ่มและในที่ดอน พื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูง มีการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องกันเป็นเวลานานและขาดการปรับปรุงบำรุงดิน 

แต่การสังเกตหลักๆ แล้วอาจพบอาการผิดปกติจากพืชแทน อย่างเช่น รากสั้นบวม หรือปลายรากถูกทำลายจากความเป็นพิษของอะลูมิเนียม อาการผิดปกติจากการขาดธาตุอาหารพวกฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแคลเซียมที่แสดงออกร่วมกัน คือใบเล็ก สีใบเขียวเข้มจนคล้ำ และอาจพบอาการที่เกิดจากแมงกานีสเป็นพิษ คือใบจะซีดเหลือง 

โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วหากปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินกรด จะพบเห็นรากว่ามีปมน้อยลง ปมที่เปิดจะเป็นสีเขียวไม่เป็นสีชมพู และมีการระบาดของเชื้อโรคพืชทางดิน เช่น โรครากเน่าโคนเน่า และพืชแสดงอาการเหี่ยวจากการขาดน้ำได้ง่ายผิดปกติ เพราะรากไม่สามารถแผ่ขยายลงไปในดิน ลึกๆ ได้ 

สำหรับการตรวจสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินทำได้หลายวิธี โดยเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยการใช้น้ำยาตรวจสอบ ใช้กระดาษเทียบสี หรือเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมพัฒนาที่ดิน

ปัญหาของดินกรด ส่งผลอย่างไร?

ให้กับการปลูกพืช ในพื้นที่บ้าง?

ปัญหาของดินกรดที่เห็นได้ชัดคือ จะทำให้พืชขาดธาตุอาหารพืชที่เป็นประโยชน์ในดิน เช่น ฟอสฟอรัสถูกตรึง ทำให้พืชดูดไปใช้ไม่ได้ และมีธาตุบางธาตุ ได้แก่ อะลูมิเนียม เหล็ก และแมงกานีส ละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืชที่ปลูก ทั้งนี้ ผลกระทบของปัญหาดินกรดยังส่งผลดังนี้ 

 การปลูกพืช – ทำให้พืชขาดแคลนธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ทำให้พืชที่ปลูก เช่น ข้าวโพด มะเขือเทศ ถั่ว แสดงอาการขาดธาตุอาหาร พืชไม่เจริญเติบโต ผลผลิตเสียหาย และได้ผลผลิตต่ำ 

ปัญหาของดินกรด ลักษณะของดินกรด – ทำให้ระบบรากพืชถูกทำลาย เนื่องจากมีอะลูมิเนียมและเหล็กละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืชและดิน ขาดธาตุอาหารพืช ทำให้พืชที่ปลูกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนปกติ จึงทำให้ได้ผลผลิตต่ำ 

การระบาดของเชื้อโรค – เกิดการระบาดของเชื้อโรคพืชหลายชนิด เช่น เชื้อราโรครากเน่าโคนเน่าในพืช เพราะเชื้อราเหล่านี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินกรด ทำให้พืชที่ปลูกเกิดความเสียหาย

หากพบดินกรดในพื้นที่ 

มีแนวทางการแก้ไขอย่างไร?

อย่างที่ทราบกันดีว่าดินเป็นกรดนั้น การแก้ปัญหาและการป้องกันถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น 

1.การใช้วัสดุปูนทางการเกษตร เพื่อลดความรุนแรงของกรดในดิน ซึ่งวัสดุปูนที่นิยมใช้ ได้แก่ ปูนโดโลไมท์ เพราะมีทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ โดยอัตราปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรดในดิน โดยทั่วไปใช้ปูนโดโลไมท์อัตรา 300-500 กิโลกรัมต่อไร่

นอกจากนี้ การแก้ความเป็นกรดของดินในที่ดอนที่ระดับลึกมากกว่า 15 เซนติเมตร ซึ่งดินเป็นกรดจัดจนรากพืชไม่สามารถแผ่ขยายลงไปได้นั้น การใช้วัสดุปูนมักไม่ได้ผล เนื่องจากวัสดุปูนมีการละลายและเคลื่อนลงไปในดินล่างได้น้อย จึงต้องใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ยิปซัม หรือฟอสโฟยิปซัมที่มีคุณสมบัติในการละลาย และสามารถแทรกซึมลงไปในดินล่าง โดยอัตรายิปซัมที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรดในดิน

2.การใส่อินทรียวัตถุ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ช่วยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารพืชในดิน ลดการสูญเสีย ธาตุอาหารจากการถูกชะล้าง และอินทรียวัตถุยังช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและอะลูมิเนียมในดินด้วย 

3.เพิ่มธาตุอาหาร การใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ร่วมกับปุ๋ยเคมี ทั้งปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามชนิดและปริมาณที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก และฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนหรือน้ำหมักชีวภาพ (จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2)

4.การคลุมดินโดยใช้วัสดุคลุมดิน เศษพืชหรือปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เป็นการรักษาหน้าดิน ป้องกันการชะละลายหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน

5.เลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชที่ชอบดินกรดมาปลูก ดินกรดที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้วสามารถปลูกพืชได้เกือบทุกชนิด แต่ต้องมีการจัดการน้ำและธาตุอาหารพืชให้เหมาะสม

6.การเลือกใช้ระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม โดยสามารถเลือกระบบการปลูกพืชที่มีระบบรากลึกสลับกับรากตื้น เพื่อเป็นการนำเอาอาหารที่ถูกชะละลายลงในดินล่างมาใช้ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดต่างๆ สลับกับพืชตระกูลถั่ว และการปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล เพื่อดักเก็บตะกอนและรักษาความชื้ในดินบริเวณรอบๆ ต้นไม้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากสอบถามเกี่ยวกับดินที่เป็นกรดนั้น สามารถสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 02-579-7562

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

ตกลง