เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ พัฒนาโมเดลทำเกษตรพื้นที่น้อยแต่สร้างรายได้สูง
ปลูกผักในบแปลงปลูกผักน็อกดาวน์ ขนาดของแปลงหน้ากว้าง 1.20 เมตร ยาว 6 เมตร พื้นที่เหลือด้านล่างประยุกต์ทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งฝอยและหอยเชอรี่ รูปแบบแปลงผักน็อกดาวน์มีหลังคาเหมือนดอกเห็ด ความสูงของโครงสร้าง 2 เมตร แล้วพื้นที่ทำแคร่ปลูกผักสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร เป็นความสูงที่กำลังพอดี ทำงานได้สะดวก และด้วยขนาดความกว้างของแปลงกว้าง 1.20 เมตร เท่ากับกระเบื้องแผ่นลอนพอดี แล้วระยะเอื้อมแขนเอื้อมได้สุดแปลง ซ้ายขวา ส่วนความยาว 6 เมตรก็คือความยาวของเหล็ก 1 เส้น ง่ายสะดวกต่อการทำงาน
ถัดมาคือบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย เนื่องจากมีความคิดต่อยอดในอนาคต ปัจจุบันกุ้ง หอย ปู ปลา ตามท้องที่เริ่มหายาก เพราะคนใช้สารเคมีเยอะ จึงเริ่มทำการทดลองทำบ่อเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกก่อน
การเลี้ยงกุ้งฝอย เพราะเลี้ยงง่าย สร้างมูลค่าสูง จึงเกิดไอเดียทดลองเลี้ยงกุ้งฝอยเป็นโมเดล โดยใช้พื้นที่ข้างล่างแปลงผักในการทดลองเลี้ยง แล้วให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ เพื่อไปเลี้ยงขายสร้างรายได้ในชุมชน
วิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย
ที่ฟาร์มจะเพาะเลี้ยงในบ่อพลาสติก คล้ายๆ กับการเลี้ยงในกระชังบก โดยการใช้พลาสติก HDPE อย่างดี มาเป็นวัสดุในการทำบ่อเลี้ยง ซึ่งใต้แปลงผักมีโครงสร้างเป็นเหล็กอยู่แล้ว เราก็ใช้พลาสติกมาคลุมทับให้เป็นบ่อสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 6 เมตร โดยอัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ต่อบ่ออยู่ที่ 3,000 ตัวต่อบ่อ ใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 3 เดือน สามารถจับขายได้
โดยหลักการในการเลี้ยงกุ้งคือ กุ้งชอบน้ำสะอาด ไม่มีสารเคมีตกค้าง มีออกซิเจนเพียงพอ และมีพืชน้ำไว้ให้สำหรับวางไข่ เท่านี้ก็เพียงพอ
การเตรียมบ่อเลี้ยง เนื่องจากที่ฟาร์มเลี้ยงในบ่อพลาสติกก็จะมีกลิ่นของพลาสติกติดมาด้วย ให้ล้างทำความสะอาดจนกว่าจะไม่มีกลิ่นเหม็นของพลาสติกค้างอยู่ในบ่อ ด้วยการเทน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำเปล่าลงไปประมาณ 1-2 ลิตร แช่ไว้ 3-5 วัน เสร็จแล้วปล่อยน้ำทิ้ง และมีข้อแนะนำว่าน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งควรเป็นน้ำบาดาลจะดีที่สุด เพราะน้ำบาดาลค่อนข้างจะปราศจากเชื้อโรค หากเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอาจจะมีไข่ของสัตว์อื่นๆ ปนมาอาจจะเป็นศัตรูของกุ้งในอนาคต
จากนั้นเมื่อทำการล้างบ่อจนสะอาดไม่มีกลิ่นของพลาสติกหลงเหลือแล้ว ให้เติมน้ำเข้าไปใหม่ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน แล้วในบ่อต้องมีพืชน้ำใส่ไปด้วย ใช้เชือกฟางมาฉีกเป็นเส้นๆ แทนการใช้พืชน้ำ เพื่อทดแทนการใช้สาหร่ายสำหรับเป็นที่ยึดเกาะของกุ้ง ให้ซ่อนตัวและวางไข่
อาหาร ใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ่อละ 2 ช้อนโต๊ะ ให้วันละมื้อช่วงเย็น ซึ่งข้อดีของอาหารสำเร็จรูปคือน้ำไม่เน่าเสีย
แผนการสร้างรายได้ในอนาคต
ตลาดในระยะยาวจึงมุ่งไปที่ตลาดเนื้อ คือขายกุ้งฝอยพร้อมนำไปประกอบอาหาร เริ่มต้นจากการเปิดตลาดในชุมชนก่อน โดยการไปดีลกับพ่อค้าแม่ค้าร้านส้มตำซึ่งก็ต้องมีของพอไปป้อนตามความต้องการของร้านค้าด้วย ส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่พื้นที่น้ำน้อย 5-6 อำเภอในกาฬสินธุ์ หันมาเลี้ยงกุ้งฝอยเพิ่มรายได้ พร้อมกับการทำสัญญาซื้อขายกับตลาดตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น และอุดรธานี เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่มีร้านค้าที่ต้องการกุ้งฝอยอีกมาก ซึ่งที่ฟาร์มก็จะรับหน้าที่เป็นตัวแทนรวบรวมผลผลิตและส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าเอง
ที่มาของข้อมูล: https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_265241