2) เกษตรกรรมยั่งยืนกับการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดย มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ให้ดำเนินงานโครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน ในระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรให้เข้าสู่การทำเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีพื้นที่เป้าหมายโครงการดำเนินงานใน 4 ภาค 9 จังหวัด รวม 12 ตำบล
แนวคิดการเกษตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการในระดับท้องถิ่นและระดับไร่นา โดยเน้นการปรับตัวโดยชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือและลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้มีการบูรณาการแนวคิดการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้ากับกระบวนการทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน หรือการจัดทําและดําเนินการแนวทางการปรับตัวที่อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความสําคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญหาท้องถิ่น และเทคโนโลยีชุมชนอย่างง่าย ซึ่งจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่
การดำเนินงานโครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืนในครั้งนี้ จึงเน้นการประสานเชื่อมโยงแนวคิดการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกันหลายประการ และเห็นว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ที่เพียงพอกับการพึ่งตนเองของเกษตรกรรายย่อยได้ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
ที่มา : มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)