3) การจัดการฟาร์มแบบ Zero Waste โดย นายสุพจน์ สิงโตศรี ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2565
คือ ระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ ด้วยวิธีการจัดการคอกและการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานกับการทำงานของจุลินทรีย์ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หมูที่ปลอดภัย และสามารถกักเก็บของเสียจากคอกเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนไม่เกิดมลภาวะต่อชุมชน เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมในแต่ละกระบวนการ มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ใช้จุลินทรีย์แทนการใช้สารเคมี ไม่มีการเผาเศษวัสดุ ไม่มีน้ำเสียจากคอกสัตว์ สามารถลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวิธีดำเนินการดังนี้
การทำคอกสุกร (หมูหลุม) โดยการรองพื้นคอกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ขุยมะพร้าว แกลบ ขี้เลื่อย หญ้าแห้ง และก้อนเชื้อเห็ดที่ใช้แล้ว จากนั้นใส่ดินแดง ผงถ่าน เกลือทะเล ไอโอเอ็ม3 และจุลินทรีย์ลงในพื้นคอก ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากคอกหมู หลังจากเลี้ยงสุกรได้ 5 เดือน เมื่อนำสุกรออกจากคอกจะได้ปุ๋ยจากพื้นคอกซึ่งมีส่วนผสมจากวัสดุรองพื้นและมูลสัตว์มาใช้และจำหน่าย เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ และยังเป็นวัตถุดิบการผลิตที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
การคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีการสร้างภูมิต้านทานโดยยึดหลักธรรมชาติ ให้กินอาหารปลอดสารเคมี ภายในคอกไม่มีการสะสมของเชื้อโรคและไม่แออัด มีการใช้น้ำหมักผลไม้และจุลินทรีย์ในท้องถิ่นให้สุกรกินเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นการเลี้ยงสุกร โดยไม่ต้องใช้ยาและวัคซีน ไม่ใช้สารเคมีในการผลิตทางการเกษตร ไม่ก่อให้เกิดของเสียหรือขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ของวัคซีน
การทำอาหารสัตว์เน้นพืชผักจากธรรมชาติ เช่น นำต้นกล้วยมาหั่นเป็นชิ้น และนำพืชผักในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมในการทำอาหาร นอกจากนี้ยังมีการผลิตเครื่องหั่นหยวกกล้วยที่ดัดแปลงมาจากพรานรถไถที่ ไม่ได้ใช้แล้ว ทำให้สามารถลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป และยังเป็นการนำกลับมาประดิษฐ์ใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ไม่ก่อให้เกิดของเสียและมลพิษที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม และยังสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย
ที่มา : กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์