หากกล่าวถึงไก่พื้นเมืองที่นำมาประกอบอาหารอร่อย และใช้เวลาการพัฒนาสายพันธุ์มาหลายทศวรรษนั้น หลายๆ ท่านคงจะนึกถึงไก่บ้านตะนาวศรี ซึ่งเป็นผลงานของ คุณลิขิต สูจิฆระ ที่ได้ใช้เวลาในการพัฒนามามากกว่า 20 ปี โดยใช้การผสมข้ามสายพันธุ์ของไก่พื้นเมืองสายพันธุ์อื่นๆ หลายสายพันธุ์ เช่น ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่ชีท่าพระ ไก่แดงสุราษฎร์ และไก่ประดู่หางดำ ฯลฯ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้เองจนสามารถได้พ่อแม่พันธุ์ไก่ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่คือ พ่อพันธุ์ไก่ชนตะนาวศรีและแม่พันธุ์ไก่แดงตะนาวศรี
ไก่บ้านตะนาวศรี จึงได้เป็นการรวบรวมลักษณะเด่นของพ่อและแม่พันธุ์มาอย่างครบถ้วน ทำให้ไก่ชนิดนี้มีโครงสร้างตัวที่ดี แม่พันธุ์สามารถผลิตไข่ได้ดีและใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่นาน ซึ่งในเรื่องของการนำไปประกอบอาหาร เนื้อไก่มีรสชาติที่อร่อย เนื้อนุ่ม ไม่เหนียว เนื้อไม่ยุ่ย ไม่มีกลิ่นคาว และกลิ่นสาบ มีโปรตีนสูง พร้อมทั้งมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำเมื่อเทียบกับไก่ทั่วไป
การเลี้ยงไก่ตะนาวศรี เกษตรกรหลายพื้นที่ให้ความสนใจนำมาเลี้ยงแบบอินทรีย์มากขึ้น พร้อมทั้งไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง โดยนำสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และไพลเข้ามาช่วย จึงทำให้ไก่ตะนาวศรีมีความเข้มแข็งจากการเลี้ยงแบบธรรมชาติ รวมไปถึง คุณทรงพจน์ อ่อนแช่ม หรือ คุณมด ที่ได้นำไก่ตะนาวศรีมาเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในระบบอินทรีย์ ทำให้เนื้อไก่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
ไก่ตะนาวศรี ไก่ดีเนื้อมีคุณภาพ รสชาติอร่อย
คุณมด เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เลือกไก่ตะนาวศรีมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ เกิดจากได้ไปศึกษาไก่พื้นเมืองมาหลายพื้นที่ ทำให้ได้รู้จักไก่พื้นเมืองมากมายหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่ถูกใจและอยากนำมาเลี้ยงก็คือไก่ตะนาวศรี เพราะมองเห็นถึงช่องทางการทำตลาดได้มาก เพราะไก่สายพันธุ์นี้มีการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ไก่มีเลือดไก่พื้นเมืองอยู่ที่ 52-53 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อได้ลองกินเนื้อไก่ได้รสสัมผัสที่ดีจึงชื่นชอบในรสชาติ เพราะไม่มีกลิ่นคาวและเนื้อยังร่อนไม่มีติดกระดูก จากการได้ลองกินด้วย ตัวเขาจึงมั่นใจมากขึ้นและนำมาเลี้ยงในเวลาต่อมา
“ไก่ตะนาวศรีจากที่เลี้ยงมา ค่อนข้างที่จะทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เพราะจากการพัฒนาสายพันธุ์ มันมีเลือดผสมของไก่พื้นเมืองมาก จึงทำให้ผมอยากนำมาเลี้ยงแบบธรรมชาติ เพราะการเลี้ยงแบบนี้จะทำให้ไก่ได้วิ่งเล่นและได้คุ้ยเขี่ยแสดงพฤติกรรมของตัวไก่ออกมา และยุคนี้การเลี้ยงแบบอินทรีย์สามารถทำได้ ผมก็เลยพัฒนาการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ควบคู่กับการเลี้ยงด้วยอาหารอินทรีย์ ไก่ก็ถือว่าให้เนื้อที่มีคุณภาพและทำตลาดได้อย่างต่อเนื่องครับ” คุณมด เล่าจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไก่ตะนาวศรี
การปล่อยเลี้ยงในโรงเรือน
ต้องไม่เกิน 5 ตัวต่อตารางเมตร
สำหรับการจัดพื้นที่เลี้ยงไก่ตะนาวศรี คุณมด บอกว่า เนื่องจากการเลี้ยงเป็นแบบปล่อยให้ไก่หากินเองตามธรรมชาติ ดังนั้น โรงเรือนที่ให้ไก่นอนจะปล่อยไม่เกิน 5 ตัวต่อตารางเมตร ส่วนพื้นที่เดินเล่นที่ให้ไก่ออกไปหากินตั้งแต่เวลาเช้าจนถึงเวลาเย็น จะมีขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่าของโรงเรือน โดยพื้นที่ปล่อยจะต้องเป็นพื้นดินและมีหญ้าอยู่ด้วย เพราะต้องการให้ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากกว่าที่จะอยู่ในพื้นที่โรงเรือนที่เป็นพื้นปูน
หลังจากที่รับลูกไก่แรกเกิดเข้ามาภายในฟาร์ม จะนำมาไว้ภายในโรงเรือนที่เตรียมไว้ โดยจะเป็นโรงเรือนสำหรับกกให้ความอบอุ่นกับลูกไก่ การปล่อยให้อยู่แต่ละโรงเรือน จะมีลูกไก่อยู่ที่ประมาณ 200-400 ตัวต่อโรงเรือน การปล่อยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรือน โดยในช่วงแรกจะให้กินอาหารที่เป็นสูตรของทางฟาร์มเอง เป็นอาหารสูตรอินทรีย์ที่สั่งซื้อเข้ามาพิเศษ โดยมีใบรองรองชัดเจนในเรื่องของการปลูกแบบอินทรีย์ อย่างเช่น ปลายข้าว รำ ซึ่งอาหารเหล่านี้ถือเป็นอาหารข้นที่มีโปรตีนอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้เป็นหลักแทนการเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป
“อาหารเหล่านี้ตอนที่ลูกไก่ตะนาวศรีเล็กๆ ผมจะให้กินอยู่ประมาณ 4 ครั้งต่อวัน ไม่ต้องกำหนดว่าจะกินต่อตัวปริมาณเท่าไร แต่จะเติมอาหารให้เต็มอยู่ตลอด เรียกได้ว่าไก่ไม่มีขาดไม่มีอด พอไก่โตจะออกไปหาอาหารเอง เราก็เสริมอาหารตามสูตรเข้าไปบ้าง เลี้ยงอย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนครึ่ง แต่การกกที่รับลูกไก่เข้ามาภายในโรงเรือนใหม่ๆ เราจะให้อยู่แบบยังไม่ปล่อยออกข้างนอกประมาณ 7 วัน เพื่อให้ลูกไก่อยู่ในพื้นที่กำหนด พอไก่เริ่มโตก็จะจำที่อยู่ได้ หลังจากปล่อยออกไปเช้าพอเย็นจะกลับเข้ามาโรงเรือนได้เอง” คุณมด บอก
ระยะเวลาที่ใช้เลี้ยงไก่ตะนาวศรีอยู่ที่ประมาณ 3 เดือนครึ่ง คุณมด บอกว่า ไก่จะให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัม ซึ่งระยะน้ำหนักตัวเท่านี้สามารถเริ่มจำหน่ายได้หากต้องการ หรือลูกค้าบางรายอาจต้องการน้ำหนักอยู่ที่ 800 กรัม ก็จะใช้ระยะเวลาการเลี้ยงอยู่ที่ 2 เดือน แต่ส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะเน้นเลี้ยงให้ได้น้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัมมากกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ชอบไก่ขนาดไซซ์นี้
การเลี้ยงไก่ตะนาวศรีแบบปล่อยอิสระ นอกจากทำให้ไก่มีความแข็งแรงแล้ว ในเรื่องของการลดต้นทุนอาหารก็สามารถช่วยได้มากด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากที่ไก่โตแล้วจะไม่เน้นกินอาหารที่ให้ในโรงเรือน แต่จะออกไปคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองด้วยส่วนหนึ่งตามธรรมชาติ ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคจะมีการทำวัคซีนให้บ้างตามแผนที่กำหนด ก็จะช่วยให้ไก่ภายในฟาร์มทุกตัวมีความแข็งแรงและปลอดโรค
วางแผนการเลี้ยงไก่ดีทำให้มีจำหน่ายได้ทุกเดือน
เรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายไก่ตะนาวศรีนั้น คุณมด บอกว่า การวางแผนการเลี้ยงถือว่าสำคัญมาก โดยจะนำลูกไก่เข้ามาเลี้ยงเป็นรอบๆ ทุกเดือน จึงทำให้ในแต่ละเดือนจะมีไก่ออกจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า อย่างต่ำภายใน 1 สัปดาห์ จะมีไก่ที่ผ่านการเชือดส่งจำหน่ายอยู่ที่ 30-40 ตัว ซึ่งตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดลูกค้าสุขภาพที่ชื่นชอบการบริโภคไก่ตะนาวศรี
ไก่ตะนาวศรีราคาปลีกจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 280 บาท ส่วนราคาส่งจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 225 บาท จากที่ได้ทำตลาดมาหลายปี ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบในรสชาติของไก่สายพันธุ์นี้ จากสถิติที่จำหน่ายมาได้เห็นลูกค้ารายเก่าที่ซื้อไปแล้วก็ยังกลับมาซื้อซ้ำอยู่เสมอ พร้อมกันนี้ทางฟาร์มยังได้ทำการตลาดแบบออนไลน์ ไม่ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนไกลออกไปก็สามารถส่งไก่สดไปให้ถึงหน้าบ้านได้ เพราะด้วยระบบการขนส่งในปัจจุบันที่ทันสมัยและมีห้องเย็นเพื่อรักษาความสดใหม่อยู่เสมอ
“อนาคตข้างหน้าตลาดผมก็จะขยายไปเรื่อยๆ โดยหาคนมารับซื้อถึงหน้าฟาร์มให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งผมทำสินค้าดีมีคุณภาพออกไปได้มากเท่าไร ผมรู้สึกมีความสุขที่อยากให้ลูกค้าได้กินอาหารที่มีคุณภาพดี เพราะฉะนั้นใครจะเลี้ยงไก่ตะนาวศรี ผมก็แนะนำว่าการเลี้ยงเราต้องดูพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติให้เขาหน่อย เพื่อให้ไก่มีความสุข เป็นพฤติกรรมของเขาที่ต้องมีการคุ้ยเขี่ย จากนั้นก็เรียนรู้ไปกับมัน ไม่นานก็สามารถประสบผลสำเร็จได้แน่นอนครับ” คุณมด บอก
สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการเลี้ยงไก่ตะนาวศรี หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ คุณทรงพจน์ อ่อนแช่ม หรือ คุณมด ฟาร์มตั้งอยู่บ้านเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 2 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 097-945-9159
ที่มา : เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน