บัตเตอร์นัท เป็นผลไม้กลุ่มสควอช (Cucurbita moschata) รูปทรงคล้ายน้ำเต้า เป็นฟักทองเทศที่เติบโตเป็นเถา รสชาติหวาน มัน มีสีเหลืองอ่อนและส้ม โดยที่แกนเมล็ดอยู่ด้านล่างของผล เมื่อผ่าออกมาแล้ว จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้มเข้มขึ้นและจะมีรสหวานขึ้น เริ่มแรกที่คิดจะปลูกฟักทองบัตเตอร์นัทเป็นพืชเสริม เพราะไปเห็นที่อื่นเขาปลูก และเห็นว่ารูปทรงแปลกๆ น่ารักดี ตอนนั้นก็ยังไม่รู้รสชาติว่าเป็นยังไง จึงคิดแค่นำมาปลูกไว้ประดับสวนให้สวยงาม
ฟักทองบัตเตอร์นัท เป็นพืชสร้างรายได้หลักเข้ามาในขณะนี้ เพราะสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนจะติดดอกน้อย หน้าร้อนจะติดดอกได้ดีและมีลูกดกกว่า ถ้าเป็นหน้าหนาวระยะเก็บเกี่ยวจะนานกว่าหน้าร้อนไปสักหน่อย แต่ก็สามารถปลูกได้ทุกฤดู
ขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยาก
เริ่มจากการปรับปรุงดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีการตากดินกวนดินตีดินเหมือนการปลูกพืชทั่วๆ ไป แต่ที่สวนพี่นิเป็นการทำแบบประณีต ทำเป็นแปลงเล็ก ใช้รถพรวนเล็กๆ และมีการใช้ปุ๋ยหมัก…ปุ๋ยหมักจะทำเอง โดยการนำเศษวัชพืช แกลบดิบ และวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาหมักทิ้งไว้ จะทำไว้ใช้เองข้ามปี เอามาผสมในดินที่จะใช้เตรียมปลูก
การเตรียมดิน เตรียมดินตากไว้ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ปรับสภาพดินด้วยการใส่ปูนขาว พร้อมใส่ปุ๋ยหมัก ขี้ไก่ ตีพรวนดินให้ละเอียดขึ้น และยกแปลงตามที่เราต้องการปลูก ในดินหลักๆ ปุ๋ยที่ใช้คือ เป็นขี้ไก่อัดแท่ง เพราะขี้ไก่จะผ่านกระบวนการหมักของโรงงานมาแล้ว อาจจะเป็นดูดมาจากบ่อหมักแก๊ส
ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 1.20 เมตร ปลูกเป็นแถวเดี่ยวยกร่อง มีการปูพลาสติกคลุมดิน และวางระบบน้ำหยด
ปุ๋ย ให้ปุ๋ยเคมีละลายน้ำ เมื่อลงปลูกได้ 1 สัปดาห์ ต้นจะเริ่มโต ระหว่างนี้ไม่ต้องทำอะไรกับต้นมาก ให้หันมาเตรียมปักค้าง การปักเว้นระยะ 3-4 ต้น ปักไม้ 1 ท่อน ไม้ที่ปักเป็นไม้ไผ่ ยาวประมาณ 1.50 เมตร แล้วขึงเชือกขวางเพื่อให้ต้นเลื้อยขึ้นไปตามเชือก
ระบบน้ำ เป็นระบบน้ำหยดตอนต้นเล็กๆ ให้น้ำวันละครั้ง เมื่อโตขึ้นให้เพิ่มความถี่ เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จะไม่ให้ครั้งเดียวเยอะๆ จะทำให้สิ้นเปลือง น้ำจะไหลนองพื้นปล่อยทิ้งไปเสียเปล่า
ปุ๋ย ใส่แบบการคำนวณต่อต้น พื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ปลูกประมาณ 2,000-2,500 ต้น ในช่วงแรกจะให้ปุ๋ย 1 กรัม ต่อต้น ต่อวัน เมื่อต้นโตขึ้นจะมีการปรับให้ปุ๋ยมากขึ้นตามความเหมาะสม
โรคแมลงที่พบ
ปลูกแบบขึ้นค้างจะพบโรคแมลงได้น้อยกว่าการปลูกเลื้อยดิน ส่วนมากที่พบจะคล้ายกับพืชตระกูลแตงทั่วไป คือโรคราน้ำค้าง ราแป้ง โรคต้นเน่าโคนเน่าพบได้น้อย ค่อนข้างทนกว่าพืชตระกูลแตงทั่วไป ถ้าเกิดขึ้นจะกำจัดด้วยสารเคมีในระยะที่ยังไม่ติดดอกออกผล เมื่อต้นเริ่มแข็งแรงจะงดใช้สารเคมีทันที
ปลูกแบบขึ้นค้าง เทคนิคสำคัญเพิ่มผลผลิต ประหยัดพื้นที่ รูปทรงสวยงาม
การปลูกแบบขึ้นค้าง มีข้อดีหลายข้อด้วยกัน คือ
1. ประหยัดพื้นที่กว่าการปล่อยให้เลื้อยตามดิน เพราะเราสามารถควบคุมการเลื้อยของต้นได้
2. ต้นไม่เบียดเสียดสีกัน ทำให้รูปทรงผลและผิวสวยงาม
3. แมลงรบกวนน้อย
4. ได้ผลผลิตและจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้น
หลังลงปลูก 10 วัน เริ่มปักไม้และขึงเชือก 12-14 วัน ผูกเชือกเพื่อยกยอดแต่ละต้นให้ไต่ขึ้นไปตามเชือกในแนวตั้ง หลังปลูก 25-30 วัน ดอกตัวเมียพร้อมผสม ช่วยผสมโดยนำเกสรตัวผู้จากดอกตัวผู้มาแต้มที่ดอกตัวเมียที่มีลักษณะผลเล็กๆ ที่ขั้ว จะช่วยทำให้ติดผลดีและดกกว่าปล่อยให้ติดลูกเอง หลังจากผสมเกสร 7-10 วัน ก็จะติดลูกให้เห็นชัดเจน ผลเมื่อแก่เต็มที่ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลส้ม ขั้วสีเขียวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน อายุนับจากผสมเกสร ประมาณ 40-50 วัน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วผลผลิตเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องแช่เย็น 2 เดือน
ปลูก 3 เดือน เก็บผลผลิตได้ ฟันรายได้หลักแสน
ฟักทองบัตเตอร์นัท เป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการดูแลและเอาใจใส่ ช่วงหน้าร้อนและหน้าฝนตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลา 80-90 วัน หน้าหนาว 100-110 วันมีพื้นที่ปลูกฟักทองบัตเตอร์นัท 1 ไร่ จะใช้วิธีการปลูกแบบสลับแปลง แบ่งซอยเป็นรุ่นๆ ให้มีผลผลิตออกต่อเนื่องทุกเดือน ปลูกฤดูฝนให้ผลผลิต 1-3 ลูกต่อต้น หน้าร้อน 3-5 ลูกต่อต้น เฉลี่ยกิโลครึ่งต่อต้น…1 ไร่ เก็บผลผลิตได้ประมาณ 2.5 ตัน 1 รอบการปลูก ทั้งขายผลผลิตและเมล็ดพันธุ์ 1 ตัน สร้างรายได้ 80,000 บาท…2 ตัน เป็นเงินแสนกว่าบาท
ต้นทุนหลักหมื่นรายได้หลักแสน
ผู้เขียนถามกับพี่นิว่า…ผลตอบแทนดีขนาดนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายเยอะตามไปด้วยไหม
พี่นิ บอกว่า มาเดี๋ยวพี่อธิบายให้ฟัง คือ 1 ไร่ ปลูกได้ 2,500 ต้น ถ้าเราคิดทุกอย่าง ค่าเมล็ดพันธุ์ เมล็ดละ 2 บาท เป็นเงิน 5,000 บาท ปุ๋ย 1 รอบการปลูก ใช้ 3 กระสอบ กระสอบละ 2,500 บาท เป็นเงิน 7,500 บาทต่อไร่ ค่าน้ำไม่เสียเพราะดูดจากสระ ค่าไฟ 500 บาท ค่าแรงจ้างมาเตรียมดิน รวมแล้วเกิน 10,000 บาท ไม่มาก แต่ถ้าเริ่มปลูกครั้งแรกจะมีค่าไม้ปักค้างและเชือกขึงค่อนข้างหลายบาท แต่รุ่นต่อไปจะสบายละ เพราะสามารถใช้ได้นานนับปี
ที่มา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_187680