เกษตรกรรุ่นใหม่พะเยา ผันตัวเองจากเลี้ยงหมู สู่เลี้ยงเป็ดไข่ สร้างรายได้เกือบ 6 หมื่นต่อเดือน
12 ธ.ค. 2566
218
0
เกษตรกรรุ่นใหม่พะเยา
เกษตรกรรุ่นใหม่พะเยา ผันตัวเองจากเลี้ยงหมู สู่เลี้ยงเป็ดไข่ สร้างรายได้เกือบ 6 หมื่นต่อเดือน

สายพันธุ์เป็ดน่าเลี้ยง
พันธุ์กากีแคมเบลล์ เป็ดไข่เชิงการค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีขนลำตัวสีน้ำตาล ในเพศผู้มีขนที่บริเวณส่วนอกเข้มกว่าลำตัว และมีขนที่ปลายหางม้วนงอ สามารถจำแนกเพศได้ง่าย โดยเพศผู้มีขนเป็นวงแหวนสีน้ำตาลอ่อนรอบคอ มีขนที่หัวสีเขียว เพศเมียให้ผลผลิตไข่ฟองแรกที่อายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ และให้ผลผลิตไข่อย่างน้อย 280 ฟองต่อตัวต่อปี

พันธุ์กบินทร์บุรี เป็ดไข่ที่พัฒนาพันธุกรรมจากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์โดยกรมปศุสัตว์ สามารถให้ผลผลิตไข่เมื่อมีอายุ 150-160 วัน โดยให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟอง ต่อตัว ต่อปี

พันธุ์ปากน้ำ เป็ดไข่พื้นเมืองขนาดเล็กที่อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ มีขนลำตัวสีดำ เพศผู้มีขนที่หัวสีเขียวเข้ม ปาก แข้ง และเท้าสีดำ เริ่มให้ผลผลิตไข่เมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟอง ต่อตัว ต่อปี

พันธุ์บางปะกง เป็ดไข่ที่พัฒนาพันธุกรรมโดยกรมปศุสัตว์ มีขนลำตัวสีกากี เพศผู้มีขนสีเขียวเข้มที่บริเวณหัว ปลายหาง และปลายปีก โดยมีขนปลายหาง 2-3 เส้นงอนขึ้นด้านบน ปากสีดำ ขาและเท้าสีส้ม เริ่มให้ไข่ที่อายุประมาณ 20 สัปดาห์ โดยให้ผลผลิตไข่เฉลี่ย 280 ฟอง ต่อตัว ต่อปี อาหาร หากใครที่เลี้ยงไก่อยู่แล้วสามารถให้อาหารไก่กับการเลี้ยงเป็ดได้ ซึ่งอาหารสำหรับเป็ดในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตเมื่อเป็ดเริ่มไข่จะกินอาหารวันละ ประมาณ 100 กรัม ต่อตัว ต่อวัน น้ำหนักไข่ระยะแรกประมาณ 45 กรัม และจะเพิ่มขึ้นตามอายุเป็ด เมื่อเป็ดอายุมากขึ้นต้องให้อาหารมากขึ้นด้วยราว 140-160 กรัม ต่อตัว ต่อวัน ถ้าอาหารไม่เหมาะสมไข่ก็จะเล็กลง อาหารเป็ดอาจจะใช้อาหารสำเร็จรูป หรือใช้หัวอาหารผสมกับวัตถุดิบจากธรรมชาติอื่นๆ เพื่อลดต้นทุน ได้แก่ ปลายข้าว รำหยาบ กากถั่วเหลือง ปลาป่น ใบกระถินป่น เปลือกหอยป่น เป็นต้น

คุณพงษ์สันต์ หรือ คุณโจ สิงห์แก้ว เกษตรกรหนุ่มวัย 33 ปี พร้อมด้วย คุณวรรณวลัย หรือ คุณแนน เกิดนวล อายุ 31 ปี สองสามีภรรยา ได้พาทีมงานเข้าชมฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่ อารมณ์ดีฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านม่วงคำ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา พร้อมกับดูวิธีการให้อาหารเป็ด การเก็บไข่เป็ด รวมถึงวิธีการคัดขนาดไข่จากเครื่องคัด ที่เขาทั้งสองทำเป็นประจำทุกวันกว่า 3 ปีแล้ว  

โดยคุณโจ เล่าว่า ปัจจุบันตนเองรับราชการเป็นนักพัฒนาสังคม สังกัดสำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัดพะเยา ก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยงเป็ดไข่ ตนเองและภรรยาได้เลี้ยงหมูมาก่อน แต่ประสบปัญหาโรคระบาดจึงเลิกเลี้ยงไป กระทั่งหันมาศึกษาและเลี้ยงเป็ดไข่ จนปัจจุบัน มีเป็ดที่เลี้ยงอยู่ทั้งสิ้นรวม 2,000 ตัว บนพื้นที่เลี้ยงราว 2 งาน โดยแม่พันธุ์เป็ดนั้นตนเองได้สั่งซื้อมาจากฟาร์มพื้นที่ภาคกลาง เป็นเป็ดพันกากีแคมเบลล์ที่พร้อมออกไข่ อายุไม่น้อยกว่า 5 เดือน ในราคาตัวละ 150-160 บาท  

ส่วนการเลี้ยงนั้นก็ไม่ยาก จะให้อาหารเป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับเป็ดไข่ วันละ 2 ครั้ง เช้า-บ่าย ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งตนเองมีสูตรคำนวณเฉพาะ เพื่อคุณภาพผลผลิตที่ดี รวมไปถึงการเลี้ยงเป็ดไข่ที่นี่เป็นการเลี้ยงแบบไม่ให้เป็ดเครียด มีการปล่อยออกนอกฟาร์ม เพื่อให้เป็ดผ่อนคลายและกินยอดหญ้า ส่วนการดูแลทั่วไปนั้น ก็มีการให้น้ำกินอย่างเพียงพอ และสามารถล้างตัวได้ด้วย และต้องเป็นน้ำบาดาลที่ไม่มี หรือมีสารเคมีเจอปนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ยังต้องมีบ่อน้ำให้เป็ดได้เล่นน้ำ การให้ยาเมื่อเป็ดป่วย หรือเป็ดเป็นหวัด ให้วิตามินเสริม โดยไข่เป็ดที่ฟาร์มเป็นไข่เป็ดคุณภาพ ซึ่งแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป โดยไข่แดงจะมีสีแดงสดและไม่มีกลิ่นคาว เคล็ดลับคือจะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดี การเลือกน้ำ เลือกอาหาร รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการเลี้ยง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ เพื่อสร้างความแตกต่างในท้องตลาดที่มีการแข่งขันกันด้านคุณภาพผลผลิตไข่เป็ด ทำให้ที่ฟาร์มแห่งนี้มีแม่เป็ด 2,000 ตัว สามารถเก็บไข่เป็ดได้ราว 1,600-1,800 ฟองต่อวัน ส่วนแรงงานนั้นมีเพียง 3 คน คือตนเอง ภรรยา และจ้างคนงานมาช่วยอีก 1 คน เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว สามารถสร้างรายได้เกือบ 60,000 บาท ต่อเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตนเองยังได้มีขยายเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงเป็ดในพื้นที่ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองราคาไข่เป็ดกับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไข่เป็ด รวมถึงอาหารเป็ดด้วย โดยการบริหารกลุ่มนั้น ตนเองจะมีการจัดทำบัญชี การคัดขนาดไข่ มีค่าบริหารเพียงแผงละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ มีกลุ่มเครือข่าย ประมาณ 6-7 ฟาร์ม มีแม่เป็ดรวมกว่า 12,000 ตัว สามารถเก็บไข่ขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อได้ ไม่น้อยกว่า 8,000-9,000 ฟอง ต่อวัน โดยตลาดไข่เป็ดนั่น ยังมีความต้องการอีกมาก ไข่เป็ดไม่พอขาย สำหรับใครที่ไม่มีทุน ก็สามารถรับไข่เป็ดไปขายก่อนก็ได้ แล้วนำเงินส่วนต้นทุนมาคืน ส่วนผลกำไรที่ได้จากการขาย ก็เก็บกลับไป ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย 

และเร็วๆ นี้ตนเองยังมีโครงการใหม่ในการเลี้ยงเป็ดไข่ สำหรับคนที่ไม่มีเวลา แต่มีทุน ซึ่งตนเองจะมีทีมงานบริหารจัดการให้ทั้งหมด และมีการแบ่งปันรายได้จากการขายไข่เป็ดให้ หากเกษตรกรคนไหนสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ หรือสอบถามวิธีการเลี้ยงได้ ซึ่งตนเองก็ยินดีให้คำแนะนำทุกขั้นตอน เลี้ยงเป็ดไข่อย่างไรให้ไข่มีคุณภาพ ไข่ฟองโต ไม่มีกลิ่นคาว เป็นที่ต้องการของตลาด แบบไม่พอขาย

ที่มา: เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน

ตกลง