ไซมัสคัตปลูกได้ขายดี กก.ละ 600 ในไทย อากาศไม่เย็น ปรุงดินดี ฟันธงมีผลผลิตขายแน่นอน
6 ก.ย. 2567
48
0
ไซมัสคัตปลูกได้ขายดี
ไซมัสคัตปลูกได้ขายดี กก.ละ 600 ในไทย อากาศไม่เย็น ปรุงดินดี ฟันธงมีผลผลิตขายแน่นอน

เมื่อพูดถึงองุ่นในช่วงนี้ หลายคนคงจะนึกถึงองุ่นไซมัสคัต อยู่แน่ๆ เลย ด้วยจุดเด่นขององุ่นไซมัสคัต เป็นผลไม้จากญี่ปุ่นที่มีรสชาติหอมหวาน เนื้อสัมผัสก็นุ่มหยุ่นคล้ายเยลลี่ จึงนับเป็นผลไม้ที่ใครได้ลิ้มชิมรสก็ติดใจ กลายเป็นผลไม้ยอดฮิตในไทยและมีราคาแพง แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันองุ่นสายพันธุ์นี้สามารถปลูกได้ในประเทศไทยแล้ว

คุณพชร เหลี่ยมเจริญ หรือ โกนัน เจ้าของ JK Farm Sukhothai ตั้งอยู่ที่ 42 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เกษตรกรรุ่นเก๋าที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำไร่นาสวนผสม ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ปลูกสวนป่า รวมถึงการทำนา มีโรงสีข้าวเป็นของตัวเอง เป็นระยะเวลากว่า 9 ปี ก็ประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ นำไปสู่การต่อยอดจากไร่นาสวนผสมไปสู่การวางแผนทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว เปิดโฮมสเตย์

ซึ่งในระหว่างที่กำลังวางแผนทำโฮมสเตย์ โกนัน บอกว่า ได้มีการปรึกษาหารือกับลูกสาวว่าเมื่อเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแล้ว ควรจะหาผลไม้อีกสักชนิดที่มีเสน่ห์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวไร่นาสวนผสมของเราได้ และมีความเห็นตรงกันว่าเป็น “องุ่น” ประกอบกับที่ลูกสาวชอบทานองุ่นเป็นพิเศษ จึงตัดสินใจที่จะปลูกองุ่นมาถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี 8 เดือน ที่สวน JK Farm Sukhothai เริ่มปลูกองุ่น และได้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจมากๆ 

โดยที่สวนจะมีพื้นที่ปลูกองุ่นทั้งหมดจำนวน 3 งาน แบ่งเป็น 9 แปลง ความกว้างต่อแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 30 เมตร เลือกปลูกองุ่นอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไซมัสคัต สายพันธุ์ญี่ปุ่น, แบล็คโอปอล สายพันธุ์ออสตรเลีย, และเวลิกา สายพันธุ์ยูเครน โดยนำต้นพันธุ์มาจากอาจารย์ที่สอนปลูก ซึ่งได้เรียนรู้การปลูกองุ่นไซมัสคัต มาจาก พันโท ธวัต แสงสุวรรณ เจ้าของไร่แสงสุวรรณ จังหวัดตาก ที่เป็นผู้มีพระคุณถ่ายทอดองค์ความรู้ทุกอย่างให้ ส่วนสายพันธุ์แบล็คโอปอล และเวลิกา ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก อาจารย์วันชัย บวบงาม ทั้ง 2 ท่านนี้ถือว่าเป็นผู้มีพระคุณมากๆ

จุดเด่นขององุ่น ที่สวน JK Farm Sukhothai
ผู้เขียนเกิดความสังสัยว่าทำไมโกนันถึงเลือกปลูกองุ่นทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ โกนัน อธิบายให้ฟังว่า สำหรับสาเหตุที่เลือกปลูก 1. องุ่นไซมัสคัต เพราะเป็นองุ่นที่ราคาแพง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือรสชาติหวาน เนื้อสัมผัสนุ่มหยุ่นคล้ายเยลลี่ มีกลิ่นหอม จึงตัดสินใจเลือกปลูกไซมัสคัตเป็นสายพันธุ์แรก จำนวน 4 แปลง 24 ต้น  2. แบล็คโอปอล เป็นสายพันธุ์ที่หวานกรอบ อร่อย ทานเพลิน ไร้เมล็ด ผิวออกสีม่วงดำ เมื่อแก่จัดรสชาติหวานกรอบ เปลือกบาง 3. เวลิกา มีโอกาสได้ลองชิมแล้วรู้สึกว่าองุ่นสายพันธุ์นี้อร่อยมาก ลูกสีม่วงดำ ผลยาว ลูกใหญ่ รสชาติหวานกรอบ

“อากาศร้อน” ปลูกองุ่นให้ได้ผลผลิตปัจจัยสำคัญอยู่ที่การเตรียมดิน
เมื่อถามถึงเทคนิคการปลูกองุ่นของโกนันว่าทำอย่างไรถึงสามารถปลูกองุ่นได้ผลผลิตดีขนาดนี้ โดยเฉพาะไซมัสคัตที่ชอบอากาศเย็น และไม่คิดว่าจะปลูกได้ในไทยด้วย โกนัน อธิบายว่า องุ่นเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ดูแลยาก เพราะตอนปลูกปลูกด้วยดินอะไรก็ปลูกขึ้น แต่หลังจากปลูกติดแล้ว การพรุนนิ่ง หรือการตัดแต่งกิ่งองุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษาไปจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 120 วัน ตรงนี้บอกเลยว่ายากที่สุด แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของเรา

โดยการปลูกองุ่นให้ประสบความสำเร็จเคล็ดลับสำคัญของที่สวนคือการให้ความสำคัญกับดิน 80 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องการบำรุงทางใบ และการจัดการดูแลรักษา

“การปลูกองุ่นในช่วงแรกเราจะเลี้ยงบนตอ 1 ปี ช่วงนี้เป็นการเลี้ยงไปเรื่อยๆ ให้ต้นโตสมบูรณ์ แล้วก็ให้ขึ้นค้างให้ได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยมาจัดทรง และขึ้นอยู่ว่าจะจัดทรงแบบไหน จะจัดแบบดาวกระจาย หรือจัดแบบตัว T ตัว H หรือตัว I อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ เพราะฉะนั้นพอหลังจาก 1 ปีไปแล้ว เราทำการพรุนนิ่ง ก็คือตัดแต่งกิ่ง หรือว่าทำสาว เพราะองุ่นเป็นพืชที่ตัดแต่งกิ่งเมื่อไหร่แทงยอดเมื่อนั้น”

เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของการปลูกองุ่นคือต้องเป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งเผอิญว่าเรามีพื้นฐานเรื่องอินทรียวัตถุอยู่แล้ว จึงได้โอกาสนำความรู้จริงนี้มาใช้เวลาในการปรุงดินประมาณ 1 ปี แล้วก็ยกโคกขึ้นตั้งร่องไว้เลย เพราะพื้นฐานของดินตรงนี้ไม่มีอินทรียวัตถุอยู่เลย ก่อนปลูกจึงต้องทำการปรุงดินกันยกใหญ่

“องุ่นทุกสายพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ ปลูกง่ายทุกต้น เพียงแต่ถ้าให้ปุ๋ยทางดินดี คือถ้าพูดกันตามเทคโนโลยีชาวบ้าน อินทรียวัตถุสำคัญ แต่การดูแลทรงพุ่ม หรือใบ และยอด ก็สำคัญ เพราะก่อนที่ต้นจะโตต้องได้อาหารจากทางดินก่อน พอได้ทางดินเสร็จก็แทงยอดแล้วมีใบ แล้วใบก็จะสังเคราะห์แสง ก็จะผลิตอาหารได้เพียงพอ ก็จะผลิตดอกผลิตใบได้เยอะ เพราะฉะนั้นองุ่นทุกสายพันธุ์ปลูกคล้ายกันหมด เพียงแต่ว่าตอนพรุนนิ่งกิ่งแล้ว อาหารใต้ดินสะสมเพียงพอไหม หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้”

การเตรียมดิน ปลูกของที่นี่จะใช้หลักการปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้านคือหาสิ่งใกล้ตัวมาทำวัสดุปลูก ส่วนผสมหลักๆ ก็จะมีมูลสัตว์ต่างๆ เศษใบไม้สด ใบไม้แห้ง รำข้าว เศษอาหาร มาทำการหมัก

“การหมักอินทรียวัตถุ หรือว่าปุ๋ยหมักอินทรีย์คุณภาพสูงจริงๆ แล้วหลังจากการหมักแล้วจะเกิดกระบวนการย่อยสลายหรือเกิดเป็นแบบแก๊สขึ้นมา สังเกตดูว่าในกองปุ๋ยหมักจะมีความร้อนสูง เพราะเกิดกระบวนการย่อยสลาย ก็จะเกิดแก๊สมีเทน พอเกิดแก๊สมีเทนแล้วจะมีกลิ่นฉุนเลย ซึ่งบางสูตรจะให้กลับกอง และบางสูตรก็ไม่ต้องกลับกอง ก็แล้วแต่ความสะดวกของที่ละคน แต่ของโกนันทำสูตรสะดวกตัวเอง คือถ้าว่างวันไหนก็กลับ ถ้าไม่ว่างก็ไม่ต้องทำ เพียงแต่ว่าพอย่อยสลายได้สักเกือบเดือน กองปุ๋ยจะเริ่มเย็นลง หรือให้ลองนำมือไปซุกดูว่าบริเวณจุดศูนย์กลาง หรือใต้สุดของกองยังร้อนอยู่ไหม ถ้าไม่มีความร้อนแล้วเป็นอันใช้ได้”

จากนั้นเมื่อเตรียมดินเสร็จและได้จำนวนที่เพียงพอแล้ว ให้ตั้งกองสูงจากพื้นดินสัก 50-70 เซนติเมตร แล้วยกโคกทำแปลงยาวไว้เลย แล้วระหว่างนี้ให้หาฟาง ใบไม้แห้ง ใบไม้สด มาคลุมดินแปลงเพื่อรักษาความชื้น และเพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ตาย ซึ่งในระหว่างนี้เราจะใช้ EM หรือน้ำหมักจุลินทรีย์ มาผสมกับไตรโคเดอร์มา ตักน้ำใส่ฝักบัวรดฟางหญ้ารักษาความชื้น และเพื่อให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้าไปแฝงตัวอยู่ในดิน และพร้อมรักษาอารักขาพืชก็คือรากองุ่น

เคล็ดลับปรุงดินฉบับ JK Farm Sukhothai ชั้นที่ 1 เอาเศษใบไม้มาวาง ชั้นที่ 2 มูลสัตว์ สลับกันไปเรื่อยๆ จนกองสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร แล้วเอาใบไม้สดคลุมทับอีกชั้น กองทิ้งไว้ให้ย่อย ใส่กากน้ำตาลผสมกับน้ำราดไปที่กองให้พอเหมาะแล้วทิ้งไว้โดยที่ไม่ต้องไปสนใจ ประมาณ 5-8 เดือน พอเวลาผ่านไปกองปุ๋ยตรงนี้จะย่อยสลาย จากกองสูง 50-70 เซนติเมตร จะเหลือแค่ 1 ใน 3 พอเหลือ 1 ใน 3 จะแปลงสภาพจากใบไม้เศษจะไม่มีเหลือแล้ว จะกลายเป็นผงดินดำ พอเป็นผงดินดำแล้ว ที่สวนจะเรียกว่าสารตั้งต้น

แล้วจากนั้นเอาสารตั้งต้นที่ได้ไปทำการหมักอีกครั้งเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์คุณภาพสูง ด้วยการทำเป็นกองใหม่เป็นชั้นเหมือนเดิม โดยชั้นแรกเป็นสารตั้งต้น แล้วสุดท้ายที่เราต้องการปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงเราก็ไปเลือกผักผลไม้ที่มีไนโตรเจนสูง เช่น แหนแดง กระถิน ข้าวโพด ต้นปอเทือง พืชตระกูลถั่ว เอาตรงนี้มาหมักชั้นที่ 2 แล้วชั้น 3 ใส่มูลสัตว์ ชั้นที่ 4 รำข้าว ชั้น 5 กากน้ำตาล ชั้น 6 ใส่ใบไม้ รดน้ำ แล้วทำการคลุกเคล้าด้วยเครื่องตีดิน เสร็จแล้วทิ้งไว้ 15 วัน ก็มาขึ้นแปลงปลูกองุ่นได้แล้ว

ลักษณะโรงเรือนปลูก ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละฟาร์ม แต่ของที่สวนจะปลูกในระยะร่องกว้าง 3 เมตร ยาว 30 เมตร เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ส่วนตัวโรงเรือนข้างบนมุงด้วยพลาสติกความสูงประมาณ 3.80 เมตร ส่วนระยะห่างระหว่างต้นต้องดูที่ความเหมาะสมขององุ่นแต่ละสายพันธุ์ เช่น ไซมัสคัต มีลักษณะต้นใหญ่ กิ่งก้านเยอะ ก็ต้องปลูกระยะห่างหน่อยคือ 6 เมตร แถวหนึ่งมีทั้งหมด 30 เมตร ก็ปลูกได้แปลงละ 6 ต้น ส่วนแบล็คโอปอล และเวลิกา เป็นพันธุ์ที่มีกิ่งก้านเยอะ แต่ต้นไม่ใหญ่มาก และเป็นพันธุ์ที่มีลูกดก ก็จะจัดทรงลักษณะเป็นดาวกระจายในระยะห่างต่อต้นประมาณ 2.50 เมตร

ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ หลายคนเป็นกังวลว่าอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทยจะสามารถปลูกองุ่นได้หรือไม่ ต้องอธิบายจากประสบการณ์ที่ปลูก และจากการศึกษาหาความรู้ทั้งในและนอกตำรา องุ่นที่ปลูกทั้ง 3 สายพันธุ์ ต้องการความเย็นหมด และต้นไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นต้นอะไร หรือไม้ดอกไม้ประดับ ต้องการแสงแดด 100 เปอร์เซ็นต์ ในการสังเคราะห์แสง และในตอนกลางคืนต้องการความเย็นถึงเย็นมาก

แต่ในทางกลับกันจังหวัดสุโขทัยค่อนข้างมีอากาศที่ร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุด 39-40 องศา กลางคืนในเดือนที่ร้อนที่สุดประมาณ 28-30 องศา แต่ด้วยความโชคดีของสวนเรา มีสระน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 9 ไร่ เหมือนกับเป็นทะเลสาบน้ำจืด จึงได้มานั่งวิเคราะห์ว่านอกจากการปรุงดินดี บำรุงทางใบไปตามขั้นตอนแล้ว ก็มาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่า มีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบคือความชื้นสัมผัสค่อนข้างสูง เนื่องจากสวนอยู่ติดกับสระน้ำ จึงส่งผลต่อการออกผลผลิต แต่หากใครไม่มีสระน้ำในสวนก็ยังสามารถปลูกได้ เพียงต้องให้ความสำคัญที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์

ระบบน้ำ ใช้ระบบน้ำหยดหรือมินิสปริงเกลอร์ การให้น้ำองุ่น ถือเป็นเทคนิคของแต่ละสวน บางสวนแดดจ้าก็ต้องให้น้ำเช้า-เย็น บางสวนแดดน้อยให้ช่วงเช้าอย่างเดียวก็ได้ องุ่นต้องการน้ำแต่ไม่ต้องการน้ำขัง แต่ว่าต้องมีความชื้นใต้ดินอยู่ในระดับประมาณ 60-40 เปอร์เซ็นต์

การบำรุงใส่ปุ๋ย หลังจากที่ให้ความสำคัญกับดิน 80 เปอร์เซ็นต์ ก็แทบจะไม่ได้แตะปุ๋ยเคมีเลย เพราะมีอินทรียวัตถุพร้อมแล้ว พอหลังจากขึ้นร้านเสร็จจะมีการบำรุงทางใบด้วยแคลเซียม โบรอน สังกะสี แมงกานีส ฉีดพ่นทางใบทุกสัปดาห์ โดยเริ่มฉีดตั้งแต่เริ่มมีใบ

ปริมาณผลผลิต ไซมัสคัตเป็นพันธุ์ที่ลูกไม่ค่อยดก 1 กิ่ง จะได้ผลผลิตเท่ากับ 1 ช่อ เพราะมีกิ่งน้อย เมื่อปี 65 อายุต้น 1 ปี 6 เดือน ปลูก 24 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 80 กิโลกรัม ต่อมาในปี 66 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เก็บผลผลิตได้ประมาณ 150-200 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 600 บาท ส่วนแบล็คโอปอลกับเวลิกา เป็นพันธุ์ลูกดก กิ่งหนึ่งสามารถที่จะออกช่อได้เป็น 10 ช่อ สำหรับแบล็คโอปอล ปลูกทั้งหมด 45 ต้น ผลผลิตปี 65 เก็บได้ 120 กิโลกรัม ในปี 66 ได้ผลผลิต 500-600 กิโลกรัมผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวด้วยอายุต้นที่มากขึ้น จำหน่ายกิโลกรัมละ 300 บาท และเวลิกาที่ผ่านมาต้นยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อยู่ในช่วงกำลังปรับปรุง ผลผลิตได้ประมาณ 60 กิโลกรัม จาก 30 ต้น จำหน่ายกิโลกรัมละ 400 บาท แต่เรื่องของคุณภาพหายห่วงเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวสุโขทัยเป็นอย่างมาก เปิดสวนขาย 20 วัน ผลผลิตหมดเกลี้ยง โกนันกล่าวทิ้งท้าย

ท่านใดสนใจเยี่ยมชมสวนองุ่น JK Farm Sukhothai สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 098-228-1168 หรือหากสนใจเทคนิคการปลูกองุ่นสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-888-6625 หรือเฟซบุ๊ก : JK Farm Sukhothai

ที่มา: เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน 

ตกลง