พบเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาดใน 14 จังหวัด (เชียงใหม่ ตาก น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย สุรินทร์ ตราด กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี) จำนวน 47,641 ไร่
เพลี้ยกระโดดหลังขาวตัวเต็มวัยเข้ามาในแปลงข้าวช่วง 30 วันแรกหลังจากเป็นต้นกล้า โดยจะอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว ใน 1 ฤดูปลูกสามารถเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้น้อยชั่วอายุกว่าเพลี้ยกระโดดสี น้ำตาล และชอบดูดกินน้ำเลี้ยงบนข้าวต้นอ่อน และขยายพันธุ์เป็นพวกปีกยาว จากนั้นจะอพยพออกจากแปลงข้าวก่อนที่ข้าวจะออกดอก กับดักแสงไฟสามารถดักจับตัวเต็มวัยได้เป็นจำนวนมาก เพลี้ยกระโดดหลังขาวพบเป็นแมลงประจำท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาค เหนือตอนบนมากกว่าภาคกลาง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากโคนกอข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายใบมีสีเหลืองส้ม ซึ่งต่างจากต้นข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายจะแสดงอาการใบสีน้ำตาล แห้ง เมื่อมีปริมาณแมลงมาก ต้นข้าวอาจจะถูกทำลายจนเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด การระบาดค่อนข้างกระจายสม่ำเสมอเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งแตกต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่การระบาดทำลายข้าวจะเป็นหย่อมๆ พบระบาดตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวง ยังไม่มีรายงานว่าเป็นแมลงพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นข้าว
หากสำรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวในนาข้าว ป้องกันโดย พ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 250 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ควบคุม ระดับน้ำในนาข้าว แต่หากสถานการณ์รุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง บูโพรเฟซิน/ไอโซโพรคาร์(buprofezin/isopro carb) อัตราการใช้ 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ใช้ในระยะข้าวหลังหว่านถึง 40 วัน เมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนวัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 5 ตัว/ต้น งดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 21 วัน
@รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร วันที่ 21 ตุลาคม 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
@ภาพ กรมการข้าว