ระวัง ! โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) ในมะเขือเทศ
9 ม.ค. 2568
58
0
ระวัง !  โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) ในมะเขือเทศ
ระวัง ! โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) ในมะเขือเทศ

ระวัง โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) ในมะเขือเทศ
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอก ในตอนเช้า เตือนผู้ปลูกมะเขือเทศ ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) มักพบอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยด้านบนใบพบแผลฉ่ำน้ำสีเขียวหม่นคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นสีน้ำตาล บริเวณขอบแผลฉ่ำน้ำมีสีดำ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบบริเวณตรงกัน จะพบส่วนของเชื้อราสาเหตุโรคสีขาว แผลจะลุกลามออกไปทำให้ใบไหม้ แห้งเป็นสีน้ำตาลในที่สุด หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ มีความชื้นสูง หรือในสภาพที่มีหมอกลงจัด โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้จะพบอาการโรคที่ส่วนของลำต้น กิ่ง และผล หากเกิดแผลที่ลำต้นหรือโคนกิ่งจะทำให้ส่วนยอดแสดงอาการเหี่ยวเฉา เนื่องจากพืชไม่สามารถลำเลียงน้ำและอาหารได้ ต่อมากิ่งหรือต้นจะแห้งตาย หากโรคเข้าทำลายที่ผลจะทำให้ผลเน่า
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
2. ไถพลิกดินตากแดด 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในดิน
3. ปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบยกค้าง ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
4. ไม่ให้น้ำมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น
5. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WG อัตรา 30 - 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคแซบ 8% + 64% WP อัตรา 50 - 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล-เอ็ม + แมนโคเซบ 4% + 64% WG อัตรา 40 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิเนบ + ไอโพรวาลิคาร์บ 61.3% + 5.5% WP อัตรา 40 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5 วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค
6. ต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรถอนนำไปทำลายนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค
7. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

ตกลง