มารู้จักกับพันธุ์พืชใหม่ 6 ชนิดของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
กรมวิชาการเกษตร ได้รับรองพืชพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นผลงานศึกษาวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จำนวน 6 พันธุ์ โดยแบ่งเป็น ประเภทพันธุ์รับรอง 2 พันธุ์ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีสะเกษ 3 และมะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ประเภทพันธุ์แนะนำ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูเลยพันธุ์ศรีสะเกษ 4 มะละกอฮอลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ มะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 และมะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์พืชยอดนิยมที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต ด้าน นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการวิจัยพันธุ์พืชใหม่ทั้ง 6 ชนิด ว่าในจำนวนดังกล่าว มี 5 ชนิด คือ มะละกอ ฮอลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ มะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 และพริกขี้หนูเลยพันธุ์ศรีสะเกษ 4 เป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นวัตถุดิบหลักใช้สำหรับทำส้มตำ อาหารยอดนิยมของคนอีสาน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยทุกภูมิภาคที่ทั่วโลกรู้จัก ส่งผลให้แต่ละปีตลาดท้องถิ่น และตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง และบางฤดูกาลถึงขนาดขาดตลาดและมีราคาสูง เช่น มะละกอ มะเขือเทศ ดังนั้น ในการวิจัยปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ในแต่ละครั้ง กรมวิชาการเกษตรจะทำการสำรวจความต้องการของตลาดก่อน โดยมุ่งวิจัยแก้ไขปัญหาการผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์เดิม สำหรับมะละกอฮอลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเด่น คือ ผลิตเฉลี่ย 24.5 กิโลกรัมต่อต้น ให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์ทั่วไป 45 วัน ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวปฏิบัติดูแลได้ง่าย ความสูงถึงปลายยอด 128 เซนติเมตร ลำต้นใหญ่ช่วยป้องกันการหักล้ม ความหนาเนื้อ เฉลี่ย 3.0 เซนติเมตร สีเนื้อสีส้มอมแดง เหมาะสำหรับบริโภคสุก ส่วนมะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 มีลักษณะเด่น คือผลผลิตเฉลี่ยสูง ให้ผลผลิต 30.8 กิโลกรัม/ต้น น้ำหนักผล 1.8กิโลกรัม เนื้อหนา ความหนาเนื้อ เฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร สีเนื้อส้มแดง มะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 เกิดจาการผสมข้ามระหว่างมะละกอ 2 พันธุ์ โดยเป้าหมายในการวิจัยเพื่อคัดเลือกมะละกอพันธุ์แท้จากมะละกอลูกผสมให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ คุณภาพดีเหมาะสำหรับการบริโภคสด และแปรรูป ซึ่งปัจจุบัน ในภาคอีสานมีความต้องการมะละกอสูง เพื่อใช้ทำส้มตำ ทั้งจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน ดังนั้น การวิจัยมะละกอ พันธุ์ศรีสะเกษ 1 จึงเน้นปรับปรุงพันธุ์ให้มีความกรอบสำหรับบริโภคสด เช่น ผลดิบทำส้มตำ และบริโภคผลสุก มีความทนทานโรค และเป็นพันธุ์ที่ไม่ตัดต่อสารพันธุกรรม หรือ Non GMO ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวนอกจากจะเหมาะใช้ทำส้มตำแล้ว ผลมีขนาดใหญ่และเนื้อหนายังสามารถป้อนโรงงานอุตสาหกรรมได้อีกด้วย มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง 6.62 ตัน/ไร่ รูปร่างของผลกลม น้ำหนักผล 36.7 กรัม/ผล สีผลสุกสีแดงเข้ม ปริมาณวิตามินซี (Ascorbic acid) สูง 43.3 มก./100 กรัมน้ำหนักสด สูงกว่าพันธุ์ ศก.1 ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบถึง 37 % มีปริมาณกรดที่ไทเทรตได้สูงถึงร้อยละ 0.93 ทำให้มีรสเปรี้ยว เหมาะสำหรับใส่ส้มตำ มะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีสะเกษ 3 มีลักษณะเด่น คือ ผลผลิตสูง โดยผลผลิตเมล็ดทั้งเปลือก เฉลี่ย 3 ปี (อายุ 5-7 ปี) เท่ากับ 5.38 กิโลกรัมต่อต้น น้ำหนักเมล็ดทั้งเปลือกเท่ากับ 8.5 กรัม /เมล็ด น้ำหนักเมล็ดเนื้อในเฉลี่ย 2.6 กรัม/เมล็ดหรือคิดเป็น 30.8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเมล็ดทั้งเปลือก กรมวิชาการเกษตร ได้มีการรับรองพันธุ์มะม่วงหิมพานต์มาแล้ว 2 พันธุ์ คือ ศรีสะเกษ 60-1 และ ศรีสะเกษ 60-2 พันธุ์ใหม่นี้เป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพสามารถให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ สำหรับมะม่วงหิมพานต์ ปัจจุบันประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้เมล็ดเนื้อในราคาสูงถึง ๔๐๐-๕๐๐ บาท/กิโลกรัม ที่สำคัญคนส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบว่าต้นมะม่วงหิมพานต์นั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เปลือก ราก ใบ เปลือกหุ้มเมล็ด โดยเฉพาะเปลือกเมล็ดนำมาสกัด กรดน้ำมันที่นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายด้าน อาทิ ใช้ทำหมึกพิมพ์ ผลิตสีทาบ้าน ใช้ในกระบวนการทำผ้าเบรก เป็นต้น พริกขี้หนูเลย พันธุ์ศรีสะเกษ 4 มีลักษณะเด่น คือ เป็นพริกผสมเปิดสายพันธุ์ใหม่ ผลผลิตสดเฉลี่ยสูง 1,596 กิโลกรัม/ไร่ ผลแห้ง 284 กิโลกรัม/ไร่ ความเผ็ดเท่ากับ 73,879 สโกวิลล์ จัดเป็นพริกเผ็ดปานกลางเหมาะสำหรับบริโภคสด อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้ได้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร เหมาะสำหรับแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทั้งในครัวเรือนและเป็นการค้า มะขามเปรี้ยว พันธุ์ศรีสะเกษ 1 มีลักษณะเด่น คือ ผลผลิตเฉลี่ยสูง 4.4 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี (อายุ 5-7 ปี) ปริมาณเนื้อสูง มีปริมาณเนื้อ 47.9 % ฝักมีขนาดใหญ่ จำนวนฝักต่อกิโลกรัมเท่ากับ 48.5 ฝักสามารถ เป็นลักษณะฝักดาบซึ่งสะดวกในการแกะเปลือกและให้รูปลักษณ์และคุณสมบัติที่ดีเหมาะแก่การแช่อิ่ม มีปริมาณกรดทาร์ทาริคร้อยละ 13 นิยมมาใส่เป็นเครื่องปรุงในอาหารไทยหรือแปรรูป เช่น น้ำมะขาม ลูกอมมะขาม มะขามกวน มะขามแก้ว เป็นต้น การวิจัยปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ทั้ง 6 ชนิด ในครั้งนี้มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิมที่เกษตรกรใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีลักษณะดีเด่นทางการเกษตรที่ตลาดต้องการมากที่สุด พันธุ์พืชของ กรมวิชาการเกษตร เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองต่อความต้องการของเกษตรกรผู้ผลิตและรองรับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง
สนใจติดต่อสอบถาม ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โทร 0879929346 ในวันเวลาราชกา