“ช่วยตานูนเท่ากับช่วยสมาชิก เท่ากับช่วยเครือข่าย” ประโยคคำพูดสั้นๆ ที่ มนูญ แสงจันทร์สิริ หรือ ตานูน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ จ.สงขลา บอกไว้ในเวทีหารือความร่วมมือที่มีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของ ตานูน มาเกือบสิบปี
ชีวิตที่ผ่านงานรับจ้างมาหลากหลายทั้งกรีดยาง ทหารพราน เซลล์ขายของ รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนมาเป็นนายตัวเองกับอาชีพเกษตรกรด้วยการเลี้ยงแพะ และได้มารู้จักต้นหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ที่มีโปรตีนสูง ใช้เป็นอาหารเลี้ยงแพะได้
“ปลูกหม่อนใบเพื่อเอามาเลี้ยงแพะ แล้วมารู้ว่าหม่อนผลมีโปรตีนสูงเหมือนกัน ก็เรียนรู้วิธีปลูก ทำไปทำมาก็เริ่มคิดแล้วว่าจะอยู่เฝ้าแพะแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ล่ะ เลยลองเอาผลหม่อนมาแปรรูปเป็นน้ำหม่อนไปวางขาย ปรากฏว่าขายดี ก็จุดประกายอาชีพให้เรา”
จากแปรรูปหม่อนในระดับครัวเรือน ยกระดับเป็นสินค้าแปรรูปมาตรฐาน อย. ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญเมื่อปี 2557 ที่มีสมาชิกทั้งในชุมชนและต่างอำเภอ โดยแปลงหม่อนของกลุ่มฯ ได้รับมาตรฐาน GAP และเป็นแปลงแรกของจังหวัดที่ใช้ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มฯ นอกจากมีไวน์หม่อน น้ำหม่อน ยังมีน้ำมังคุด น้ำสับปะรด หม่อนกวน และมังคุดกวน
นอกจากปลูกหม่อนแล้ว ตานูน ยังปลูกผักในแปลงหม่อนเพื่อต้องการใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นรายได้เสริม และที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและสมาชิกกลุ่ม ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่ง ตานูน ยึดมั่นเป็นแนวทางดำเนินชีวิต
“คนปลูกหม่อนส่วนมากมักจะคิดว่าปลูกหม่อนแล้วทำอย่างอื่นด้วยไม่ได้ แต่คนไม่ได้กินหม่อนอย่างเดียว ถ้าวันหนึ่งลูกค้าหม่อนไม่มี เราจะทำอะไร”
จุดเริ่มจากการแปรรูปหม่อน ทำให้ ตานูน ต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ เพื่อหาวัตถุดิบมาแปรรูป หาความรู้จากมหาวิทยาลัยเพื่อหนุนเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพ เช่นเดียวกับการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องได้รับรองจากหน่วยงานรัฐ และสิ่งสำคัญคือการหาแหล่งงบประมาณสนับสนุน นั่นจึงทำให้ ตานูน สานการทำงานกับกลุ่มคนต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานขึ้นโดยปริยาย
ในช่วงปี 2562 ตานูน มีโอกาสร่วมงาน สวทช.-วิทย์สัญจร “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” ที่หาดใหญ่ ซึ่งได้จุดความคิด “การทำเกษตรใช้ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย” และกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับ สวทช. ที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชผักไปถ่ายทอดให้ ตานูน และสมาชิกกลุ่มฯ เกิดการขยายเป็น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ โดยมี ตานูน เป็นแกนนำหลัก มีสมาชิก 50 คน ใน 8 อำเภอของสงขลา (บางกล่ำ สะเดา หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) มีเป้าหมาย ขยายคุณภาพและปริมาณผลผลิตผักสดและมะเขือเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับและพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
การปลูกผักสดให้ได้คุณภาพและขายให้ได้ราคาเป็นเรื่องใหม่สำหรับสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพสวนยางหรือปลูกข้าวเป็นหลัก แต่พวกเขาต่างพร้อมใจเรียนรู้และลงมือทำเพื่อเป็นรายได้เสริมหรืออาจกลายเป็นรายได้หลักได้
“คนเราเมื่อเจอวิกฤต ก็ต้องหาตัวช่วย ลงทุนน้อยที่สุดคือปลูกผัก ปลูกแล้วได้กิน สุขภาพดี ไม่ต้องซื้อผัก เหลือก็เอามาขาย” ตานูน เล่าถึงการสนับสนุนให้สมาชิกหันมาปลูกผักในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนขาดรายได้ โดยประสานความร่วมมือกับ สวทช. จัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ให้ความรู้ “การผลิตพืชผักในโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ” ให้สมาชิกเครือข่ายฯ เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ ดังเช่น สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ (จะนะแบ่งสุข) อ.จะนะ และ ตานูน ยังรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งตลาดที่ตนเองผลิตส่งอยู่ 3 แห่ง คือ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสงขลานครินท์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
“จะเรียกว่าเป็นพ่อค้าคนกลางก็ได้ มีกำไรแต่จะคิดแค่ไหนที่เป็นธรรมกับคนปลูก แจกแจงราคาให้หมด ให้ราคาเท่ากันทุกราย บางครั้งก็เข้าเนื้อ ลูกค้ายกเลิกออเดอร์ เราก็ต้องรับผิดชอบผักที่รับซื้อมาแล้ว” แม้จะขาดทุน แต่เขามองว่าสมาชิกขายผักได้ นั่นคือ กำไร และมากกว่านั้นคือ คุณภาพผักที่สะท้อนถึงความรู้และความใส่ใจของสมาชิก ตานูน ตรวจสอบคุณภาพผักจากแปลงปลูก โดยการชิมและสุ่มตัวอย่างส่งตรวจสารเคมีตกค้าง
“ถ้าทำไม่ดี รักษาคุณภาพผักไม่ได้ จะดุกันตรงๆ อย่าโกรธกัน สิ่งที่คุณทำ ทำให้คนอื่นด่าผม แล้วก็จะสอนวิธีทำ แก้ปัญหาให้ วิธีจัดการโรคจัดการแปลง ให้เขาลองทำใหม่ งานเกษตรเป็นงานเรียนรู้ไม่มีวันจบ”
ด้วยบุคลิกที่ใฝ่รู้ พูดจริงและทำจริงของ ตานูน สร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานพร้อมร่วมงาน องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ได้รับผ่านโครงการต่างๆ เขาจะแบ่งปันให้สมาชิกเครือข่ายได้นำไปใช้ “มือบนชนะมือล่าง มือล่างได้รับ มีความสุขแต่ชั่วคราว ส่วนมือบนได้ตลอด ได้จากการให้โดยไม่หวังได้คืน” คือคำอธิบายคุณค่าจากการให้จาก ตานูน ขณะที่ “ความจริงใจ” คือหัวใจสำคัญของการทำงานกับเครือข่ายหน่วยงานรัฐและเอกชน
“เราพูดความจริงและจริงใจ รับปากแล้วต้องทำให้ได้ คนเราซื้อใจไม่ได้ด้วยตังค์ ซื้อได้ด้วยพฤติกรรม”
โรงคัดแยกผักและผลไม้กลุ่มใต้ร่มบุญ เทคโนโลยีการเลี้ยงปลาระบบ Bio Floc ระบบโซล่าร์เซลล์ หรือตู้ควบคุมระบบการให้น้ำในแปลงผัก ที่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญได้รับ และตลาดที่เข้ามาติดต่อไม่ว่าจะเป็นท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม็คโคร เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนับสนุนทั้งเครื่องมือและถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ร่วมกัน สอดคล้องกับเป้าหมายการเกิดขึ้นของเครือข่ายฯ
“ขาดทุนจากการลองทำ หรือทำในบางเรื่องที่คนมองว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำ สมาชิกเราก็ไม่ได้ ส่วนกำไร เราได้ทั้งความรู้ ได้เพื่อนและได้บุญ”
(ที่มา : หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565)