ปลาแรด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ของไทยชนิดหนึ่ง พบมีน้ำหนัก 6-7 กิโลกรัม มีความยาวถึง 65 เซนติเมตร เป็นปลาจำพวกเดียวกับปลากระดี่ ปลาสลิด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ปลาแรดมีเนื้อนุ่ม
สีเหลืองอ่อน และรสชาติดี จึงได้รับความนิยมจากประชาชนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ทั้งยังนิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
การเพาะและขยายพันธุ์
1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปกติปลาแรดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จะจำแนกความแตกต่างได้ชัดก็ต่อเมื่อมีขนาดสมบูรณ์พันธุ์ โดยสังเกตจากลักษณะภายนอกของตัวปลา คือตัวผู้สังเกตได้ที่โคนครีบหูจะมีสีขาวและมีนอ (Tuvercle) ที่หัวโหนกสูงขึ้นจะเห็นได้ชัด ตัวเมียที่โคนครีบหูมีสีดำอย่างเห็นได้ชัด ถ้าแม่ปลาตัวเมียพร้อมวางไข่สังเกตได้ว่าท้องอูมเป่ง ปลาแรดที่มีอายุเท่ากันตัวผู้จะตัวโตกว่า ปลาแรดตัวเมียเริ่มมีไข่เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม มีไข่ประมาณ 2,000–4,000 ฟอง แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถไข่ได้ 2-3 ครั้งต่อปี อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลา เพื่อผสมพันธุ์ ใช้อัตราส่วนเพศผู้ 2 ตัวต่อเพศเมีย 1 ตัว (2:1) โดยปล่อยปลา 1 ตัวต่อพื้นที่ 3-5 ตารางเมตร
2. การเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ ปกติปลาแรดมีปริมาณไข่มากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนสิงหาคม เกษตรกรจึงควรขุนพ่อ-แม่พันธุ์ปลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยใช้อาหารเม็ดลอยน้ำโปรตีนสูงหรืออาหารปลาดุกที่มีโปรตีน 25-30 เปอร์เซ็นต์ ให้ปริมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาในบ่อ และควร เสริมด้วยอาหารสมทบประเภทพืช เช่น จอก สาหร่าย แหน กล้วยน้ำว้าสุก ผักต่างๆ เป็นต้น
3. การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อเพาะพันธุ์ควรเป็นบ่อดินหรือบ่อ คสล. โดยบ่อดินควรมีขนาด0.5-1.0 ไร่ ส่วนบ่อ คสล. ควรมีขนาด 50 ตารางเมตร เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการดูแลการวางไข่และการรวบรวมไข่ปลามาอนุบาล ภายในบ่อใส่ผักบุ้งหรือวัชพืชน้ำ เพื่อให้ปลานำไปใช้ในการสร้างรังหรือจะ ใช้วัสดุอื่นเพื่อเป็นที่สังเกตในการสร้างรังของปลา เช่น เศษเชือกฟางสีต่างๆ วัชพืชน้ำหรือวัสดุที่ใส่เพื่อให้ปลาสร้างรังนั้นควรวางกระจายเป็นจุดๆ ทั่วบ่อเพาะพันธุ์ เนื่องจากพ่อแม่ปลาจะสร้างอาณาเขตในการดูแลรังของมัน หรืออาจใช้คอกที่สร้างขึ้นบริเวณตลิ่งที่เป็นคุ้งน้ำลำน้ำที่กระแสน้ำไม่แรงนักเป็นที่เพาะปลาแรดได้ เช่นเดียวกับการเพาะในบ่อ
4. การสังเกตการวางไข่ของปลาแรด หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาแรดลงในบ่อ เพาะพันธุ์แล้ว ให้สังเกตการวางไข่ของปลาแรดทุกวัน โดยปลาแรดจะใช้พืชจำพวกรากผักบุ้ง กิ่งไม้ รากหญ้า หญ้าแห้ง และวัสดุอื่นๆ ที่มีในบ่อนำมาสร้างรัง รังปลาแรดมีลักษณะคล้ายรังนกลักษณะกลม และมีฝาปิดรัง ขนาดรังทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 ฟุต โดยปลาแรดใช้เวลาในการสร้างรังประมาณ 3-5 วัน แม่ปลาจึงวางไข่ หากต้องการทราบว่าแม่ปลาวางไข่แล้วหรือยัง ให้สังเกตได้จากคราบไขมันที่ลอยบนผิวน้ำ
เหนือรังที่แม่ปลาทำไว้ ถ้าพบว่ามีคราบไขมันบนผิวน้ำที่มีรังไข่ปลาแรดอยู่ หรือเมื่อจับดูที่รังแล้วพบว่ารังปิด หรือเมื่อเห็นแม่ปลามาคอยเฝ้าดูแลรังและฮุบน้ำโบกหางอยู่ใกล้ๆ รัง แสดงว่าปลาวางไข่แล้ว จากนั้นตักรังไข่ขึ้นมา คัดเลือกเฉพาะไข่ที่ดี (ไข่ที่มีลักษณะสีเหลืองวาว) ไปพักในบ่อซีเมนต์หรือตู้กระจก เพื่อดำเนินการฟักไข่ต่อไป
5. การฟักไข่ ไข่ปลาแรดเป็นประเภทไข่ลอย (มีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน มีไขมันมาก กลิ่นคาวจัดไม่มีเมือกเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร) เมื่อแม่ปลาแรดวางไข่แล้ว ให้นำรังไข่ขึ้นมาแล้วตักเฉพาะไข่ดีและควรช้อนคราบไขมันออก มิฉะนั้นแล้วจะทำให้น้ำเสียและลูกปลาที่ฟักออกมาติดเชื้อโรคได้ง่าย ต่อจากนั้นรวบรวมไข่ที่ดีใส่ถังกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ระดับน้ำประมาณ 30-50 เซนติเมตร ให้เครื่องเป่าอากาศเบาๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนและใส่พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง เพื่อช่วยในการดูดซับ ไขมันและให้ลูกปลาได้ยึดเกาะ จะฟักไข่ในบ่ออนุบาลหรือฟักไข่ในกระชังผ้าโอลอนแก้ว ซึ่งมีโครงร่าง สี่เหลี่ยมขนาด 2x1x0.5 เมตร และมีหูเกี่ยวหรือโครงเหล็กถ่วงที่พื้น เพื่อให้กระชังตึงคงรูปอยู่ได้ในระหว่างการฟักควรเพิ่มอากาศหรือน้ำลงในกระชังเพื่อให้ไขมันที่ติดมากับไข่ออกให้มากที่สุดไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนภายใน 18-36 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส เมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ ตัวอ่อนจะลอยหงายท้องอยู่และรวมอยู่กันเป็นกลุ่มบริเวณพืชน้ำหรือรากผักบุ้ง
6. การอนุบาลลูกปลาแรด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
6.1 ระยะ 1-5 วัน หลังจากเก็บไข่ออกจากรังและฟักออกเป็นตัวแล้ว ช่วงนี้ยังไม่ต้องให้อาหารเนื่องจากลูกปลาจะมีอาหารที่ติดตัวมาเรียกว่า “ถุงไข่แดง” ซึ่งติดอยู่ตรงบริเวณท้องลูกปลาวัยอ่อนลูกปลาวัยอ่อนในระยะนี้จะไม่ค่อยว่ายน้ำ และจะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ
6.2 ระยะ 6-15 วัน ลูกปลาจะเริ่มมีสีเข้มขึ้น ระยะนี้เรียกว่า “ระยะถุงไข่แดงยุบ” ในช่วงนี้จะเริ่มให้ไรแดงเป็นอาหาร โดยให้วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ลูกปลาจะเริ่มแตกกลุ่มอยู่กระจายทั่วไปในบ่ออนุบาล
6.3 ระยะ 16-50 วัน ระยะนี้จะย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อดิน อัตราปลอ่ย 100,000 ตัวต่อไร่หรือประมาณ 60-65 ตัวต่อตารางเมตร บ่ออนุบาลควรมีขนาด 400-800 ตารางเมตร ส่วนการอนุบาลใน บ่อซีเมนต์ ควรให้อัตราส่วน 5 ตัวต่อตารางเมตร ในช่วง 10 วันแรกที่ลงบ่อดิน ยังคงให้ไรแดงเป็นอาหารอยู่และเริ่มให้รำผสมปลาป่น ในอัตราส่วน 1:3 ผสมน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เมื่อปลามีขนาดโตขึ้น
จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำหรืออาหารต้ม วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ของ น้ำหนักปลาในบ่ออนุบาล จนกระทั่งลูกปลามีขนาดความยาว 2-3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม สำหรับการเลี้ยงในบ่อดินให้เติบโตได้ขนาดตลาดต้องการ หรืออนุบาลจนกระทั่งมีขนาดความยาว 3 นิ้ว (5-7 เซนติเมตร) เพื่อนำไปเลี้ยงในกระชังต่อไป
การเลี้ยงปลาแรด
ปลาแรดมีอวัยวะช่วยในการหายใจ ทำให้สามารถอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อยและทนทาน ต่อโรคได้ดี ทนอุณหภูมิต่ำถึง 15 องศาเซลเซียส เจริญเติบโตได้ดีในน้ำจืดและน้ำกร่อย นอกจากนี้ปลาแรด ยังเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย จึงได้รับความสนใจจากประชาชนที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพ สถานที่ใช้เลี้ยงปลาแรด
มี 2 ลักษณะ คือ เลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยงในกระชัง
1. การเลี้ยงปลาแรดในบ่อดิน : บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาแรด ควรเตรียมบ่อโดยการระบายน้ำออกจากบ่อให้หมด ตากบ่อให้แห้งเป็นเวลา 3-7 วัน จากนั้นหว่านปูนขาว 60-120 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและกำจัดปลาที่ไม่ต้องการ ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 200-500 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วแต่พื้นที่หรือลักษณะของดิน ใช้วิธีทยอยใส่โดยให้สังเกตจากสีน้ำในบ่อถ้าสีจางลง ให้ใส่ปุ๋ยเสริมลงไปเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม อัตราการปล่อยเลี้ยง อัตราการปล่อย ปลาแรดในบ่อเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปลา น้ำหนักปลา ที่เริ่มปล่อยและขนาดของปลาที่ต้องการเก็บเกี่ยว ผลผลิต หากต้องการเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ควรปล่อยในอัตรา 1-3 ตัวต่อตารางเมตร ใช้เวลาเลี้ยง 1 ปี จะได้ปลาน้ำหนักประมาณ 0.8-1 กิโลกรัมต่อตัว ปลาแรดสามารถเลี้ยงแบบผสมผสาน รวมกับปลากินพืชชนิดอื่นๆ เพื่อให้ปลาแรดกินพืชน้ำหรือวัชพืชน้ำที่ขึ้นในบ่อ และ เป็นการทำความสะอาดบ่อไปด้วย หรือจะเลี้ยงร่วมกับสัตว์อื่น เช่น เป็ด ไก่ โดยกั้น รั้วเป็นคอกไว้ไม่ให้เป็ดออกมากินลูกปลาได้ ซึ่งวิธีนี้ผู้เลี้ยงจะสามารถประหยัดต้นทุนค่าอาหารปลาและ เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับปลาที่เลี้ยงในบ่อดินมักจะมีปัญหาตัวปลามีกลิ่นโคลนสามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนน้ำพร้อมทั้งควบคุมคุณภาพน้ำและอาหารที่เลี้ยงปลาในช่วงก่อนจับประมาณ3วัน
2. การเลี้ยงปลาแรดในกระชัง : ปัจจุบันการเลี้ยงปลาแรดในกระชัง กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากปลาที่ได้จากการเลี้ยงในกระชังจะมีราคาสูงกว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน
2.1 รูปแบบกระชัง สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
2.1.1 กระชังประจำที่ ลักษณะของกระชังแบบนี้ ตัวกระชังจะผูกติดกับเสาหลักซึ่งปักไว้กับพื้นดินอย่างมั่นคง กระชังแบบนี้จะไม่สามารถลอยขึ้นลงตามระดับน้ำได้ ดังนั้นแหล่งเลี้ยงควรมีระดับน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดแตกต่างกันไม่เกิน 50-60 เซนติเมตร
2.1.2 กระชังลอยน้ำ กระชังแบบนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงที่มีระดับน้ำลึกตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ตัวกระชังจะผูกแขวนอยู่กับแพหรือทุ่นลอย ซึ่งลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ แพที่ใช้มีหลายลักษณะ อาทิใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นแพลูกบวบและบางพื้นที่นิยมใช้ทุ่นโฟมหรือถังพลาสติกทำเป็นทุ่นพยุงแพ โดยใช้ท่อพีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว หรือจะใช้ท่อเหล็กแป๊บน้ำ ก็จะเสริมความเข็งแรงได้ดี ซึ่งแยกออกเป็น 2 แบบ
ตลาดและผลตอบแทน
-ตลาดในประเทศไทย : ปลาแรดเป็นที่นิยมบริโภคเพราะเป็นปลาที่มีเนื้อมาก ก้างน้อย รสชาติดี ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอดกระเทียม ทอดราดพริก นึ่งแบบต่างๆ ต้มยำ แกงหรือลาบ ฯลฯ ปลาแรดที่ตลาดในเมืองไทยต้องการ คือ มีน้ำหนักตั้งแต่ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัมต่อตัว
- ปลาแรดที่เลี้ยงในกระชัง จะนิยมขายปลามีชีวิต สำหรับการเลี้ยงในกระชัง น้ำจะถ่ายเทตลอด ปลาจะไม่เหม็นกลิ่นโคลนราคาจึงสูงกว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน
"เกษตรกรจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเลี้ยง"
ที่มา : กรมประมง