รู้หรือไม่? หากใครอยากเลี้ยงปูนาให้ตัวเบิ้มๆ ตัวอวบ แข็งแรง ต้องเริ่มจากการเข้าใจพฤติกรรมของปูนา อาหารที่ใช้เลี้ยง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงปูนาเองก็สำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปูนาเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
เทคโนโลยีชาวบ้านนำเกร็ดความรู้เล็กๆ ที่ถอดองค์ความรู้มาจากการพูดคุยกับ คุณแพท-ศุภนิดา พันธ์สืบพงศ์ เจ้าของธีรดาฟาร์มปูนาศรีราชา ทั้งเกร็ดเรื่องของพฤติกรรมปูนา และปัจจัยภายนอกที่ช่วยให้ปูมีลักษณะตามที่ตลาดต้องการ
เริ่มแรกเราต้องรู้จักพื้นฐานของนิสัยปูนาเสียก่อน ปูนาเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหงุดหงิด อารมณ์ร้อน (หรือรุนแรงนั่นเอง) ซึ่งพี่แพทบอกว่าให้สังเกตง่ายๆ หากปูเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ จะเริ่มทำร้ายร่างกายตัวเอง บางตัวอาจจะหักแขน หักขาของตัวเองทิ้ง
วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ พี่แพทแนะนำว่าให้ย้ายปูที่เลี้ยงไว้ลงบ่อดิน เพราะการที่ปูเริ่มมีพฤติกรรมรุนแรงอาจจะเกิดจากความเครียด หรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่สบายตัว ซึ่งสาเหตุที่ย้ายไปอยู่บ่อดิน เนื่องจากในบ่อดินมีแร่ธาตุอาหารที่ช่วยให้ปูฟื้นตัว
เมื่อนำปูลงไปในบ่อดินแล้ว ปูจะเริ่มสงบ เมื่อปูอารมณ์ดีขึ้น ก็จะหยุดทำร้ายร่างกายตัวเอง นอกจากนี้ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าแขนขาที่ดึงหลุดไปจะงอกขึ้นมาใหม่หรือไม่ ปูเป็นสัตว์ที่หากได้รับแร่ธาตุที่เพียงพอ ก็จะใช้เวลาไม่นานให้ร่างกายสร้างแขนขาที่ดึงหลุดไปขึ้นมาใหม่
อีกข้อสังเกตคือ หากเราเห็นปูตัวผู้หงายท้อง แสดงว่าตอนนั้นปูตัวผู้กำลังเรียกร้องหาตัวเมียเพื่อ “ผสมพันธุ์” โดยพฤติกรรมการขยายพันธุ์ของปูนาคือ ตัวผู้จะหงายท้องรอตัวเมียที่มีความต้องการเหมือนกันขึ้นมาทับบนตัวของมัน และทุกครั้งหลังผสมพันธุ์เสร็จ โอกาสน้อยที่ตัวผู้จะรอด เพราะส่วนใหญ่ตัวผู้จะตาย หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ
วิธีการสังเกตเพศของปู พี่แพทให้ดูที่ช่วงท้องของปูนา จะเห็นความต่างระหว่างปูเพศเมียและเพศผู้
อาหารก็มีความสำคัญ ที่ธีรดาฟาร์ม พี่แพทใช้อาหารเม็ดปลาดุก หรืออาหารกบ หรือข้าวสวย ก็สามารถให้ปูได้ แต่อาหารที่มีความมันไม่ควรให้ เพราะจะทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงเสีย
นอกจากอาหารข้างต้นที่ใช้เลี้ยงปูนาแล้ว ยังมีอาหารเสริม เช่น แหนแดง จอก และสาหร่าย ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ธีรดาฟาร์ม มีบ่อเพาะไว้ที่ฟาร์มเองเช่นกัน
การอนุบาลลูกปูนา จะใช้กระบะสำหรับอนุบาลภายในกระบะจะมีลูกปู และใส่สาหร่ายไว้ เพื่อให้ลูกปูใช้เกาะและกินสาหร่ายเป็นอาหาร สำหรับปูนา พี่แพทบอกว่า ปูนาจะให้ลูกครั้งละประมาณ 1,000 ตัว แต่การอนุบาลให้รอดเป็นปูนาที่สามารถจำหน่ายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง
ท้ายที่สุดหากเราผู้เป็นคนเลี้ยงคอยสังเกต และหมั่นเอาใจใส่ ทำความสะอาด และสังเกตพฤติกรรมของปูที่เราเลี้ยง คำนึงถึงสภาพแวดล้อม อาหาร ปูนาที่เลี้ยงไว้จะเติบโต สามารถจำหน่ายได้อย่างแน่นอน