เค้าเดิมของคำว่า “ชา” คือใบของต้นชา ที่นำเข้ามาสู่กระบวนการผลิต จนสามารถนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ซึ่งก็มีหลายหลากยี่ห้อและราคา ต่อมามีการคิดค้นเลียนแบบ โดยเอาพืชชนิดอื่นมาผลิตเพื่อชงดื่ม เป็นต้นว่า ใบหม่อน ดอกคำฝอย รวมมาถึงใบของผักหวานป่า ซึ่งก็เรียกว่า “ชาผักหวาน” ตามความนิยมอยู่นั่นเอง
ชาผักหวานป่าที่จะกล่าวถึงนี้ ผู้ผลิตคือ คุณธิติมา ทองจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรปลอดหนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 144 หมู่ที่ 4 ตำบลนาสีนวน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 8 กิโลเมตร ได้ผลิตชาผักหวานป่ามา 7-8 ปีแล้ว ก่อนผลิตก็ได้ศึกษาอบรมจากแหล่งเรียนรู้ทั้งของส่วนราชการ องค์กรเอกชนมาหลายที่หลายแห่ง จนมีความรู้ความชำนาญและเกิดความมั่นใจ จนสามารถผลิตชาผักหวานป่าออกจำหน่ายได้
คุณธิติมา มีพื้นที่ปลูกผักหวานป่าเพียงไร่เศษๆ โดยมีบ้านพักและอาคารอื่นรวมในพื้นที่นี้อีกด้วย ทำให้วัตถุดิบในการผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องซื้อหาจากแหล่งปลูกผักหวานป่าจากพื้นที่ใกล้เคียงมาผลิต แต่ก็ไม่มีปัญหาของการผลิตแต่ประการใด ชาผักหวานป่าของคุณธิติมา จึงมีไว้บริการผู้สนใจอยู่ตลอดเวลา
ใบผักหวานป่าที่นำมาผลิตเป็นชา จะใช้ใบลำดับที่ 5 ของยอด โดยนับจากปลายยอดลงมาเท่านั้น ที่ต้องเอาใบที่ 5 ก็เพราะเป็นใบที่มีผลการศึกษาวิจัยมาแล้ว จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มูลนิธิหมอชาวบ้านมาแล้วว่าเป็นใบที่เหมาะสม มีสารต่างๆ ครบถ้วนกว่าส่วนใดของผักหวานป่า
สำหรับขั้นตอนการผลิต คุณธิติมา เล่าให้ฟังว่า เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้ว ต้องมาทำความสะอาดโดยการล้างน้ำ ผึ่งลม ผึ่งแดด คั่ว บด สุดท้ายบรรจุลงในซองและกล่อง ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการคั่ว เพราะต้องทำให้ทุกส่วนของใบผักหวานป่าได้รับความร้อนสม่ำเสมอกัน คือสุกทุกส่วน หากทำแบบสุกๆ ดิบๆ จะทำให้คุณค่าของสารและวิตามินต่างๆ ที่มีอยู่สูญหายไป เสร็จจากการคั่วก็เข้าสู่การบด สำหรับเครื่องบดได้รับความกรุณาให้ยืมใช้เป็นการชั่วคราว จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
จากการศึกษาวิเคราะห์ค้นคว้าของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่า ชาสำเร็จรูปจากผักหวานป่าเป็นเครื่องดื่มที่สามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก มีค่าความเข้มข้นที่ช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ถึง 50% ชาผักหวานป่ามีค่าเท่ากับ 5-8% (VV.) ดีกว่าชาดอกคำฝอยและชาใบหม่อน
คุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ในปริมาณ 100 กรัม มีพลังงาน 39 แคลอรี น้ำ 87.1% โปรตีน 0.1 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม ใยอาหาร 2.1 กรัม เถ้า 1.8 กรัม วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล วิตามินบีหนึ่ง 0.12 กรัม วิตามินบีสอง 1.65 กิโลกรัม วิตามินบีสาม 3.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 168 มิลลิกรัม แคลเซียม 24 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ชาผักหวานป่ายังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟินอลิกอีกด้วย
จากผลวิจัยศึกษาตามที่กล่าวนี้ ทำให้ผู้สนใจมั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่า สรรพคุณของชาผักหวานป่า คุณภาพคับแก้วจริงๆ สามารถซื้อหาไปดื่มได้เลย ประการสำคัญชาผักหวานป่ายังไม่มีผู้ประกอบการผลิตเป็นการทั่วไปนัก จึงเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคที่รักสุขภาพจะซื้อหาไปเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกายของตน
ด้านการตลาดในปัจจุบัน คุณธิติมาบอกว่า ส่วนมากจะเป็นหน่วยงานราชการในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขามุกดาหาร สุดท้าย คุณธิติมา ขอฝากขอบพระคุณผู้มีอุปการคุณผ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมุกดาหาร ที่ได้อนุเคราะห์บรรจุภัณฑ์ วงเงินงบประมาณ 50,000 บาท และส่วนราชการอื่นๆ ที่อนุเคราะห์ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
สนใจสอบถามผลิตภัณฑ์หรือประสงค์จะไปศึกษาดูงาน กรุณาติดต่อสอบถามโดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ (080) 010-7445