การนำแมลงดานามาประกอบอาหาร นิยมนำแมลงดานามาเผาไฟให้สุกก่อน เพื่อให้ความร้อนกระตุ้นให้มีกลิ่นมากขึ้น แล้วจึงมาตำผสมกับอาหารหรือบดแล้วคลุกใส่อาหาร นอกจากนั้น ยังสามารถเก็บแมลงดานาให้สามารถเก็บได้นานด้วยวิธีการดองเค็มกับน้ำปลาหรือน้ำเกลือ
เนื่องจากแมลงดานาในปัจจุบันเป็นที่หายาก หากเป็นช่วงนอกฤดูกาลแมลงดานาเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้น้อย ก็ทำให้ผลผลิตไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบ ซึ่งจะให้กลิ่นเหมือนกลิ่นแมลงดานา มาใช้สำหรับปรุงอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมลงดาที่ต้องใช้ในปริมาณมาก
แมลงดานามีลักษณะรูปร่างรูปไข่ ลำตัวแบนยาว ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาล มีขนขนาดเล็กปกคลุม มีขา 6 ขา ขาคู่หน้าใช้สำหรับจับเหยื่อ การคุ้ยหาอาหาร ส่วนขา 2 คู่หลัง ใช้สำหรับการว่ายน้ำและการเดิน อาหารของแมลงดานาคือ ลูกอ๊อด ลูกปลาขนาดเล็กหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก เวลากลางคืนชอบบินเข้าหาไฟ โดยเฉพาะไฟสีม่วง
แมลงดานาพบได้ทั่วไปในนาข้าวหรือบริเวณแหล่งน้ำขนาดตื้น จะพบมากในช่วงต้นฤดูทำนาหลังจากน้ำขังในแปลงนาในต้นฤดูฝน แมลงดานาถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในแปลงนาหรือแหล่งน้ำ มีอาหารสำคัญที่เป็นลูกอ๊อดหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงถือเป็นผู้ล่าชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ระบบนิเวศในแหล่งนั้นสมดุล
คุณมะลิ โนนธิง อายุ 60 ปี อาศัยอยู่บ้านโนนเชือก ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำคลอง จังหวัดขอนแก่น ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงดานา ระบบฟาร์ม คุณมะลิ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบในการกินแมลงดานามาก และประกอบกับเปิดร้านอาหารอีสานท้องถิ่นในหมู่บ้าน แมลงดานาถือว่าเป็นสิ่งของหายากมากในช่วงนอกฤดูกาล ทำให้ลูกค้าสอบถามเข้ามาเยอะมาก แต่คุณมะลิก็ไม่สามารถหาวัตถุดิบมาประกอบอาหารให้ลูกค้าได้
คุณมะลิจึงเกิดความคิดที่อยากจะทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงดานา เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงได้ทำการทดลองเลี้ยง ลองผิดลองถูกตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน ใช้วิธีสังเกตและแก้ไขไปที่ละจุด การทดลองนี้ใช้เวลาถึง 1 ปีครึ่ง ถึงมาจุดที่ประสบความสำเร็จ และปัจจุบันนี้ฟาร์มแมลงดานาแห่งนี้มีอายุถึง 4 ปีแล้ว และได้การรับรองเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงแมลงดานา
คุณมะลิ กล่าวว่า การเลี้ยงแมลงดานาเป็นการลงทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากสามารถทำได้บริเวณพื้นที่ว่างข้างบ้านหรือใต้ถุนบ้าน แม้การทดลองเลี้ยงอาจทำให้สูญเสียแมลงดานาไปบ้างแต่ก็ไม่ถือว่าขาดทุนเพราะสามารถเอาแมลงดานาที่ตายแล้วมาประกอบอาหาร เพื่อแปรรูปได้
การเตรียมบ่อเพื่อทำโรงเรือน
การทำบ่อโรงเรือนขนาดบ่อขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มี แต่ความลึกของบ่อต้องไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร หากให้ดีความลึกของบ่อควรจะอยู่ที่ 80-100 เซนติเมตร และใช้ผ้าใบรองก้นบ่อเพื่อให้มีการกักเก็บน้ำที่ดียิ่งขึ้น โครงสร้างที่ใช้ทำบ่อสามารถหาได้ภายในท้องถิ่น เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ไผ่ เป็นต้น นำมาขึ้นแบบของโครงสร้าง และขึงด้วยซาแรนทั้งด้านบนและด้านข้าง เพื่อกันแมลงดานาบินหนี
จากนั้นทำการปลูกพืชน้ำต่างๆ และสาหร่าย พืชน้ำต่างๆ จะช่วยฟอกอากาศในน้ำ และเรียนแบบธรรมชาติได้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้ น้ำภายในบ่อสามารถใช้น้ำธรรมชาติ น้ำประปา แต่ต้องพักน้ำไว้ 4-5 วัน และสภาพน้ำภายในบ่อต้องมีค่าที่เป็นกลาง ไม่เปรี้ยว ไม่เค็ม เพราะหากน้ำมีค่าความเค็มหรือเปรี้ยวมากไปสามารถทำให้แมลงดานาตายได้
และติดสปริงเกลอร์เพื่อทำฝนเทียมภายในบ่อ เปิดสปริงเกลอร์วันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที อาจเปิดวันเว้นวันหรือทุกวัน ตามสภาพอากาศ ฤดูฝนถ้าฝนตกก็ไม่ต้องเปิด เน้นเปิดก่อนช่วงเย็น 30 นาที บ่อแมลงดานาหลักๆ จะแยกออกเป็น 3 บ่อ 1. บ่ออนุบาล 2. บ่อขุนทำพันธุ์ 3. บ่อโตเต็มวัยพร้อมขาย
การเพาะพันธุ์
แมลงดานาจะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน นอกฤดูฝนก็สามารถพบเจอได้แต่อาจจะน้อย ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แมลงดานาเป็นสัตว์ที่ชื่นชอบอากาศร้อนชื้น พ่อแม่พันธุ์ที่ดีต้องมีอายุ 6 เดือน สามารถเจริญพันธุ์ได้ดี ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ นำพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อขุนทำพันธุ์ โดยอัตราส่วน พ่อพันธุ์ 1 ตัว สามารถผสมพันธุ์ได้ 3-4 แม่พันธุ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ด้วย การปล่อยแมลงดานาลงบ่อแต่ละบ่ออัตราส่วนจะอยู่ที่ 1 ตารางเมตรต่อแมลงดานา 50 ตัว ถือเป็นอัตราส่วนที่ไม่หนาแน่นเกินไป แมลงดานาสามารถเติบโตได้ดี ไม่กินกันเองเพราะจำนวนที่ไม่หนาแน่นและมีอาหารที่ให้ไปได้รับอย่างเพียงพอ
เมื่อพ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเสร็จแล้วสามารถสังเกตได้จากแม่พันธุ์จะเริ่มร้องส่งเสียงดัง นั่นหมายความว่าการผสมพันธุ์สมบูรณ์แล้ว ต้องนำแม่พันธุ์แยกออกมาอีกบ่อเพื่อให้พร้อมต่อการวางไข่ เพื่อไม่ให้ตัวอื่นมารบกวน เพราะหากมีการรบกวนแม่พันธุ์จะไม่วางไข่ การวางไข่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัย หากพื้นที่บ่อไม่ปลอดภัย เช่น พื้นน้ำไม่แข็งแรงวางไข่ไม่ได้ แม่พันธุ์ก็จะไม่วางไข่
เมื่อแม่พันธุ์วางไข่ที่โคนต้นพื้นน้ำแล้ว แยกไข่ออกมาฟักอีกบ่อ เพื่อลดความดุร้ายของแม่พันธุ์ที่หวงไข่ อาจจะฆ่ากันเองได้ ไข่จะใช้เวลาฟัก 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
การอนุบาลลูกแมลงดานา
อนุบาลลูกแมลงดานาจนมีปีก หรือประมาณ 30 วัน จะมีการลอกคราบประมาณ 3-4 คราบ จึงจะสามารถเอาลงบ่อเลี้ยงรวมได้ หรือแยกบ่อเฉพาะลูกๆ แมลงดานาอีกบ่อก็ได้ ระยะเวลาการเลี้ยงตั้งแต่ออกจากไข่จนปีกครบ ประมาณ 2 เดือนครึ่ง แล้วแต่สภาพแวดล้อม อาหาร เมื่อมีอายุครบ 4 เดือน ก็สามารถขายได้แล้ว
อาหารแมลงดานา
อาหารของแมลงดานาจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ ลูกอ๊อด ลูกปลาตัวเล็ก โดยทางฟาร์มจะเพาะเลี้ยงเองเพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร ขนาดของเหยื่อต้องมีขนาดเล็กกว่าแมลงดานา โดยอัตราส่วนแมลงดานา 1 ตัว ลูกอ๊อด 1 ตัว ลูกปลา 1 ตัว
ข้อควรระวัง
น้ำเป็นส่วนประกอบหลักของการเลี้ยงแมลงดานา ดังนั้น ต้องตรวจเช็กสภาพน้ำ เพราะบางพื้นที่ฝนก็เป็นกรดทำให้น้ำในบ่อแย่ แล้วส่งผลต่อแมลงดานาอาจตายได้ และหากให้อาหารที่ไม่เพียงพอสามารถกินกันเองได้
การตลาด
แมลงดานาเป็นที่นิยมมากในภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน คนภาคอื่นหันมาบริโภคแมลงดานาเพิ่มมากขึ้น มีตลาดรองรับที่ดี และความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านอาหารอีสานทั่วประเทศ ร้านอาหารอีสานท้องถิ่น ตลาดออนไลน์ ตลาดอำเภอ ทางฟาร์มเน้นการขายแบบแปรรูป เป็นน้ำพริกต่างๆ และขายเป็นตัวแบบแพ็กแช่แข็ง เพื่อคงความสดใหม่ให้ถึงมือผู้บริโภค
การเลี้ยงแมลงดานาให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนไม่ยาก เพียงแต่ต้องชอบ มีความพร้อม ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างแท้จริง และมีพื้นที่ในการเลี้ยง นอกจากนี้ ยังต้องถามความคิดเห็นจากครอบครัวในการเลี้ยง หากทำความเข้าใจกับทุกอย่างได้แล้ว ก็สามารถทำได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม สร้างรายได้ที่ดีในระยะยาวแน่นอน
สำหรับท่านใดที่สนใจ พ่อแม่พันธุ์แมลงดานา แมลงดานาแช่แข็ง น้ำพริกแมลงดานา ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมะลิ โนนธิง บ้านโนนเชือก ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำคลอง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 080-923-4525 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก ศูนย์เลี้ยงแมลงดาปูนาหอย น้ำพองขอนแก่น เพจจริง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2566