ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตข้าวและมีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งยกระดับผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรปลูกข้าวที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับระบบนิเวศและพื้นที่ของการปลูกข้าวตามชนิดพันธุ์ที่เหมาะสม โดยมีระบบการจัดการบริหารการวางแผนการผลิต หาปัจจัยการผลิต และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในลักษณะประชารัฐ
นาแปลงใหญ่ นับเป็นโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวรับผิดชอบดูแลในส่วนของแปลงใหญ่ข้าว ซึ่งได้มีวิธีการดำเนินงาน ดังนี้ 1. ด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าว 2. ด้านการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวผลผลิต 3. การบริหารจัดการกลุ่มและเสริมสร้างสมรรถนะกลุ่มนาแปลงใหญ่ 4. ด้านส่งเสริมการตลาดข้าว และยกระดับมาตรฐาน กรมการข้าวได้ดำเนินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ข้าวที่เข้าร่วมโครงการ เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาทต่อกลุ่ม สำหรับให้เกษตรกรได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวมาพัฒนายกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ เช่น รถดำนา รถไถ รถเกี่ยวนวดข้าว โดรน รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
นางประยูร กาญจนารี ประธานแปลงใหญ่ข้าว/ถั่วเขียว หมู่ 6, 9 ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวต้นแบบผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนมาก่อน ในนาม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ้าห่วน” เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยตอนนั้นมีสมาชิกกลุ่มเริ่มต้นเพียง 10 ราย จนต่อมาทางกลุ่มได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าพลังความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มดีอย่างไร ทำให้ชาวบ้านในชุมชนและใกล้เคียงต่างสนใจเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มถึงปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยมีสมาชิกทั้งหมด 70 กว่าราย ที่เน้นผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ105 เป็นหลัก และในเวลาต่อมาทางกลุ่มก็ได้สมัครและได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนาแปลงใหญ่ข้าว ในนาม “กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว/ถั่วเขียว หมู่ 6, 9” ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
แต่กว่าที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ทางกลุ่มก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างมากมาย โดยนางประยูร เล่าให้ฟังว่า หากย้อนไปเมื่อสมัยที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งกลุ่มแรกๆ ทางกลุ่มจะมีการดำเนินการในรูปแบบ “ร่วมกันคิด แยกกันทำ” ความหมายคือ ก่อนถึงฤดูผลิตสมาชิกกลุ่มจะมีการประชุมกันก่อนว่าแต่ละคนจะผลิตเมล็ดพันธุ์คนละกี่กิโลกรัม แล้วพอถึงเวลาผลิตจะแยกย้ายกันไปทำ แยกกันไปเจอปัญหา ใครเจอปัญหาอะไรส่วนใหญ่ก็คิดและแก้กันเอาเอง ซึ่งวิธีการทำแบบนี้ส่งผลให้ไปถึงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพด้วย ทางกลุ่มจึงได้ปรึกษาหารือร่วมกันถึงปัญหาที่เกิดและวิธีแก้ปัญหา และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าทางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ จาก “ร่วมกันคิด แยกกันทำ” มาเป็นการ “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันปฏิบัติ” หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถนำพาสมาชิกในกลุ่มให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มกว่า 10 ล้านบาท บนพื้นที่รวมกันทั้งหมดของสมาชิกกว่า 1,000 ไร่
โดยทางกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้กับศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอำนาจเจริญทั้งหมด เนื่องจากทางศูนย์มีราคารับซื้อที่แน่นอน ไม่เอาเปรียบ ไม่กดราคา รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์เข้ามาเผยแพร่องค์ความรู้เป็นประจำ ทั้งองค์ความรู้ในด้านการปลูก การตัดพันธุ์ปน การเลือกพื้นที่ในการปลูกเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
“ก่อนที่ทางกลุ่มเราจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับทางศูนย์ กลุ่มของเราก็ผลิตส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางทั่วๆ ไป ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ เขาให้เท่าไหร่ก็ต้องเอาเพราะไม่มีทางเลือก และอีกอย่างความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ยังไงให้ได้คุณภาพก็ยังมีไม่มาก แต่พอได้มีการปรับเปลี่ยนหันมาผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้กับทางศูนย์ สิ่งดีๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มเรา ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายเมล็ดพันธุ์ที่มีราคารับซื้อที่แน่นอน ให้ราคาสูง และได้รับความเป็นธรรม ไม่โดนเอารัดเอาเปรียบ ส่งผลทำให้สมาชิกกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และมีความหวังจากการทำนามากขึ้น” นางประยูร กล่าว
นายประมวล ขันธ์เพชร ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวโนนค้อทุ่ง หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวต้นแบบผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เริ่มจากการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาก่อน ต่อมามีนโยบายจากภาครัฐเปิดรับสมัครกลุ่มนาแปลงใหญ่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อหวังที่จะพัฒนาข้าวอินทรีย์ของกลุ่มให้ไปได้ไกลขึ้น ทั้งในด้านการผลิต มาตรฐานสินค้า และเทคโนโลยีนวัตกรรมลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 35 คน พื้นที่ทำนาทั้งหมดประมาณ 750 ไร่ เน้นปลูกข้าวอินทรีย์อยู่ 5 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวเหนียว กข6 โดยจุดเด่นของกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านโนนค้อทุ่งคือ การปลูกข้าวอินทรีย์ และได้รับรองมาตรฐานสากล ได้แก่ มาตรฐาน ระบบอินทรีย์ IFOAM มาตรฐาน EU และมาตรฐาน COR ปริมาณผลผลิตต่อปีทางกลุ่มสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ประมาณ 180-250 ตันต่อปี และยึดหลักการทำตลาดนำการผลิต ด้วยการรับฟังเสียงจากผู้บริโภค และดูความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ว่าส่วนใหญ่ต้องการบริโภคข้าวพันธุ์อะไร แบบไหน ทางกลุ่มก็จะเน้นผลิตข้าวแบบนั้น ทำให้ที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องราคา หรือผลผลิตล้นตลาดเลย โดยปัจจุบันผลผลิตข้าวอินทรีย์ของกลุ่มทั้งหมดจะส่งขายไปยังต่างประเทศ ร้านอาหารซิสเลอร์ทั่วประเทศ และส่งให้กับโรงแรมอีกหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่ม และนำพาชื่อเสียงให้กับพี่น้องชาวจังหวัดอำนาจเจริญทุกคนอีกด้วย
“กว่าที่ทางกลุ่มนาแปลงใหญ่โนนค้อทุ่งของเราจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมจนมีวันนี้ได้ เริ่มต้นตั้งแต่ขอบคุณสมาชิกกลุ่มทุกคน ที่ร่วมแรง ร่วมใจ และซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทำให้กลุ่มเดินทางมาไกลแบบวันนี้ และอีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือการที่เราได้ร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ เพราะถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็เหมือนกับขาดโอกาสดีๆ เพราะนอกจากการที่ทางกลุ่มเข้มแข็งแล้ว มีฐานองค์ความรู้ที่ดีแล้ว แต่ถ้าขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดก็คงจะประสบความสำเร็จได้ยาก โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท ในการนำมาซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานข้าวไทย เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยื่น” นายประมวล กล่าว
นายวันนา บุญกลม ประธานแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ห้วยไร่ และประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวนาในพื้นที่ตำบลห้วยไร่ ในเรื่องของต้นทุนการผลิตสูง การใช้สารเคมี เกษตรกรผลิตข้าวไม่ได้คุณภาพและไม่มีมาตรฐานรองรับไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และต่อมาได้มีการจดทะเบียนในนาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ตำบลห้วยไร่ จนได้รับรองมาตรฐานสากล EU และ NOP ที่ทางยุโรปและสหรัฐอเมริกายอมรับ ต่อมาเมื่อปี 2552 ได้รวมวิสาหกิจชุมชน 5 แห่ง จดทะเบียนเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ ครอบคลุมทั้งหมด 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ลืออำนาจ ปทุมราชวงศา พนา และอำเภอเสนางคนิคม ถือเป็นต้นแบบองค์กรชุมชนที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 819 ราย พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 24,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ
ปัจจุบันข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม ได้การรับรองมาตรฐานสากล Fairtrade, EU, NOP, JAS และ COFCC ถือเป็นกลุ่มที่ได้ใบรับรองมาตรฐานมากที่สุดในประเทศ และมีมาตรฐาน ISO มาตรฐาน อย. ที่ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ถูกต้องตรงตามมาตรฐานเกณฑ์การผลิต
โดยผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มคือ ข้าวหอมมะลิ105 ข้าวมะลิแดง ข้าวมะลิดำ และข้าวเหนียว ข้าวในจังหวัดอำนาจเจริญมีจุดเด่น “ใหญ่ ยาว ขาว นุ่ม หอม” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
จุดแข็งทางด้านการตลาดของกลุ่ม จะมีนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ทางกลุ่มจะมีการทำออร์เดอร์ตลาดล่วงหน้าก่อนการผลิต โดยนายวันนาได้ยกตัวอย่างการรับออร์เดอร์ตลาดล่วงหน้าให้ฟังว่า “ฤดูกาลผลิตที่จะปลูกหว่านข้าวในฤดูกาลพฤษภาคมต่อไปนี้ ผมได้ไปรับออร์เดอร์ตลาดล่วงหน้ามาแล้วเป็นหมื่นตันข้าวเปลือก สินค้าของเราไม่ใช่ตอนเก็บเกี่ยวถึงค่อยมาหาออร์เดอร์ และถ้าทำกันไม่มีการแปรรูปหรือไม่มีการตลาดก็ไปไม่รอด” สำหรับกลุ่มของเราเป็นกลุ่มที่ใหญ่ สินค้าเยอะ คู่ค้าถึงมุ่งเป้ามาที่กลุ่ม เนื่องจากมีสินค้าเพียงพอกับความต้องการของตลาด ที่สามารถนำไปกระจายได้ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก
การทำมาตรฐานอินทรีย์ ทุกกลุ่มสามารถทำได้ เพียงไม่ใช้สารต้องห้ามในมาตรฐานของบริษัทต่างประเทศกำหนดไว้ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของคุณภาพ คนที่รักษาคุณภาพไว้ได้คนนั้นถึงจะเป็นแชมป์ ลูกค้าต่างก็เชื่อมั่นทำให้มีออร์เดอร์ล่วงหน้าก่อนผลิตทุกครั้ง
“ทิศทางมีทางเลือก ทางรอดให้เกษตรกรมากมาย เราคิดว่าคณะกรรมการกับทีมพี่น้องเกษตรกรเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก่อนเราเดินหาตลาด เดินหาคู่ค้า เดินหาสินค้า แต่ทุกวันนี้เรามีครบทุกอย่าง มีแต่ลูกค้าหรือคนมาดูงานของเรา เรียกได้ว่าทำมาค่อนชีวิตและประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ในโครงการนาแปลงใหญ่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท เรื่องของเครื่องมือในการทำเกษตร การสนับสนุนองค์ความรู้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของพี่น้องกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ที่ไม่มีกำลังจะไปซื้อเครื่องจักรพวกนี้” นายวันนา กล่าว
การผลักดันพัฒนาเกษตรกร “นาแปลงใหญ่” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้การดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นการดำเนินงานที่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันที่พร้อมจะพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกัน โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต เพื่อผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้ นอกจากการสนับสนุนเครื่องมือทางการเกษตร งบประมาณและองค์ความรู้ ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอำนาจเจริญ ได้มีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสนับสนุนจำนวน 3 ปี ดังนี้ ปีที่ 1 สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 20% ของพื้นที่ ส่วนปีที่ 2 และปีที่ 3 สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 10% ของพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกแปลงเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ความงอก ความชื้นก่อนนำไปจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน
ผลลัพธ์หลังจากที่เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่ม “นาแปลงใหญ่” ทำให้การจัดการคุณภาพผลผลิตดีขึ้น มีการตรวจรับรองได้ตามมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการแปรรูป ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร