ชุมชนบ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การผลิตผ้าไหมแบบครบวงจรทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกหม่อน เก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม การเลี้ยงไหม ให้อาหารตัวไหม การเลี้ยงไหม สาวไหม ไปจนถึงการฟอก ย้อม มัดหมี่ ทอผ้า แปรรูป กระทั่งถึงการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าไหม การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม เช่น กระเป๋าอเนกประสงค์ พวงกุญแจ ตุ๊กตาผ้า
ผ้าหางกระรอก เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม ใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทคือ “การควบเส้น” มีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก การทอผ้าหางกระรอกหรือ ““กะนีว” พบมากในแถบอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ นิยมใช้เพียงสีเขียวควบเหลือง หรือแดงควบเหลือง
ชุมชนบ้านสนวนนอก ได้นำเอกลักษณ์การทอผ้าดังกล่าวมาประยุกต์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นจนได้ “ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง” ซึ่งเป็นสินค้าผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชนบ้านสนวนนอก และยังได้รับคัดเลือกเป็นผ้าประจำจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ชุมชนบ้านสนวนนอก ยังมีฝีมือการทอผ้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ผ้าไหมคลุมไหล่ยกดอกแก้ว ลายดอกพิกุล ผ้าสะโหร่ง ผ้าขาวม้า
ผ้าไหมของบ้านสนวนนอก มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เส้นไหมมีความเงางามเพราะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยธรรมชาติ ไม่ใช้สารคมีทำให้เส้นไหมมีสีสวย ยืดหยุ่น และมีความเงางาม ทางกลุ่มเน้นผลิตผ้าไหมทอมือตามออร์เดอร์ที่สั่งจองไว้ก่อน นำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าที่ทางหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชนจัดขึ้น
กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก
กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก เกิดจากการรวมกลุ่มผู้ทอผ้าเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจครัวเรือน เริ่มแรกมีสมาชิกจัดตั้งจำนวน 18 คน ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการแทนสมาชิกทั้งหมดเพื่อติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
ด้านเงินทุน มีการระดมทุนจากสมาชิกในรูปแบบหุ้น และมีการจัดสรรจากผลกำไรเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกลุ่ม ทางกลุ่มมีการระดมทุนเพิ่มทุกเดือนโดยการเพิ่มทุนให้เป็นไปตามความสามารถของสมาชิกที่จะเพิ่มทุนได้ และขอรับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านวัตถุดิบ ชาวบ้านนิยมใช้พื้นที่ว่างหลังบ้านปลูกต้นหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงตัวไหมคือ พันธุ์สิ่วตุ่ย และพันธุ์เหลืองสระบุรี ทางกลุ่มดำเนินกิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบรวมกลุ่มและส่งเสริมให้สมาชิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของตนเองแล้วนำมาจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม
กรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บุรีรัมย์ เล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนบ้านสนวนนอก ที่ดำเนินอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และมีฝีมือการทอผ้าไหมที่งดงามและโดดเด่น เกิดความยั่งยืนในอาชีพอย่างเห็นผลชัดเจน จึงเข้ามาสนับสนุนทั้งพันธุ์หม่อน ไข่ไหม รวมถึงการฝึกอบรมการย้อมสีเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์
ใช้นวัตกรรมอัจฉริยะ
ช่วยลดต้นทุนการผลิต
กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก มีกิจกรรมรวมกลุ่มกันปลูกหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมเป็นหลัก โดยทางกลุ่มมีพื้นที่เพาะปลูกมากถึง 10 ไร่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องระบบการจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง เนื่องจากเป็นระบบเก่าที่ใช้น้ำเยอะมากทำให้ในฤดูร้อนปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช
ทางกลุ่มต้องการพัฒนาระบบน้ำรูปแบบใหม่ที่สามารถจ่ายน้ำได้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกและลดการสูญเสียน้ำลง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จึงเข้ามาช่วยเหลือ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้น้ำสำหรับการปลูกหม่อนไหมปลูกด้วยระบบควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IOT มาใช้ในการเปิด-ปิดน้ำ คำนวณการใช้น้ำ การจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติในแปลงปลูกใบหม่อน
การตรวจสอบการเจริญเติบโตผ่านแอปพลิเคชั่น พร้อมสั่งการ ระบบและติดตามการทำงานบนโทรศัพท์มือถือ ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลแปลงปลูกต้นหม่อนที่จะนำมาเลี้ยงหนอนไหมได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ต้นหม่อนจะให้ผลผลิตเฉพาะในช่วงหน้าฝน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 20% คิดเป็นเงิน 44,505 บาทต่อปี และลดต้นทุนในการผลิต จำนวน 30% คิดเป็นเงิน 19,620 บาทต่อปี
กุลกนก เพชรเลิศ
เกษตรกรต้นแบบ
นางกุลกนก เพชรเลิศ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 2 ตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. 087-452-8277 เป็นเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชุมชน และเป็นประธานกลุ่มทอผ้าไหมสนวนนอก นางกุลกนกเชี่ยวชาญด้านการทอผ้าพื้นถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ การเดินเส้นไหมเพื่อเตรียมทำเส้นยืน การออกแบบลวดลายผ้า มีฝีมือด้านการผลิตผ้าไหมคุณภาพ ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน
นางกุลกนกดำเนินงานอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่มีผลผลิตต่อไร่หรือต่อหน่วยพื้นที่เกินค่าเฉลี่ยของประเทศ ดำเนินการผลิตปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีการผลิตทอผ้าที่ถูกหลักการวิชาการ มีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีในปรับปรุงสภาพการผลิต และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่ชุมชน จึงได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2561
นางกุลกนกดำเนินอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามรอยพ่อแม่ สมัครเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพและนำความรู้ที่ได้มาปฏิบัติ มีการจัดการแปลงหม่อนโดยวิธีเขตกรรมและการจัดการสวนหม่อนกับการเลี้ยงไหม มีการวางแผนการจัดการแปลงหม่อน โดยการตัดแต่งกิ่งหม่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช และลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
นางกุลกนกมีพื้นที่ปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 จำนวน 2.5 ไร่ สำหรับใช้เลี้ยงไหมวัยอ่อนและไหมวัยแก่ โดยมีการให้น้ำในฤดูแล้ง เน้นการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ใช้เอง เลือกใช้ฟางคลุมแปลงหม่อนเพื่อควบคุมและรักษาความชื้นในดินและลดปัญหาวัชพืช และผลิตพืชหลายระดับในพื้นที่เดียวกันเพื่อรักษาทรัพยากรดิน
นางกุลกนกสามารถผลิตใบหม่อนได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ยไร่ละ 2,900 กิโลกรัม และเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเป็นเส้นไหม 8 รุ่นต่อปี โดยเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 4 รุ่นต่อปี และพันธุ์เหลืองสระบุรี 4 รุ่นต่อปี ผลผลิตเส้นไหมรวม 6.4 กิโลกรัมต่อไร่ เลือกใช้วัสดุธรรมชาติในการฟอกย้อมสีเส้นไหมใช้บ่อบำบัดน้ำเสียหลังจากการฟอกย้อมสีเส้นไหม สามารถผลิตผ้าไหมคุณภาพตรานกยูงพระราชทานอย่างต่อเนื่อง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2566
ที่มา ภูมิปัญญาไทย
ผู้เขียน สาวบางแค 22
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2567