เกษตรกรชาวสวนยางพารามีการปรับตัว โดยปรับเปลี่ยนทำสวนแบบลดต้นทุนการผลิต แต่ต้นยางพารายังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพเหมือนเดิม คุณจำปี เอกพล เกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ ได้คิดหาวิธีผลิตยางพาราแบบลดต้นทุนภายในสวน โดยนำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาช่วยจนประสบผลสำเร็จ ทำให้การขายยางพาราแต่ละครั้งมีผลกำไร
คุณจำปี เล่าให้ฟังว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนมาทำสวนยางพาราในช่วงปี 2548 ตามที่มีการส่งเสริมในขณะนั้น ทำให้เธอได้นำดินภายในสวนไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน ว่าในพื้นที่ของเธอนั้น เหมาะสมกับการปลูกยางพาราหรือไม่ ผลปรากฏว่าสามารถปลูกได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำสวนยางพาราเริ่มแรกจำนวน 6 ไร่ และขยับขยายต่อมาเรื่อยๆ จนมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 24 ไร่
พอเราเริ่มที่จะทำสวนยางพาราอย่างจริงจัง ช่วงแรกก็ได้เข้าไปอบรมเพื่อศึกษาก่อน จากนั้นก็มีปรับพื้นที่และเริ่มปลูกยางพาราภายในสวน การปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 7×3 เมตร การดูแลก็เน้นให้ระบบน้ำตามธรรมชาติ พึ่งน้ำฝนเป็นหลัก พอต้นยางพาราเริ่มได้อายุที่พร้อมจะกรีดได้ ก็จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงเข้าไป เป็นสูตรตามค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสมกับสวนของเรา ใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง พอดูแลไปได้ถึง 7 ปี ต้นยางพาราก็จะมีเส้นรอบต้นอยู่ที่ 50 เซนติเมตร ก็ถือว่าเหมาะสมพร้อมที่จะกรีดน้ำยางได้
เมื่อต้นยางพาราเริ่มกรีดขายได้ในช่วงปี 2555 คุณจำปี บอกว่า ผลผลิตออกมาดีสามารถขายได้ราคา แต่เมื่อเก็บผลผลิตมาได้ไม่กี่ปีราคายางพาราเริ่มตกต่ำลง จึงได้หาวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยการหาสารชีวภัณฑ์และน้ำหมักต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการบำรุงต้นยางพาราให้มีผลผลิตดีเหมือนเดิมแต่ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง
การใช้น้ำหมักต่างๆ เป็นองค์ความรู้ที่เธอได้เข้าอบรมกับกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อผลิตน้ำหมักนำมาใช้ให้เข้ากับพื้นที่ภายในสวนของเธอ โดยน้ำหมักที่ทำใช้เอง คุณจำปี บอกว่า มีทั้งจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่ และเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้ผลจริงและประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
จุลินทรีย์จากหน่อกล้วยและฮอร์โมนต่างๆ เราก็ทำตามแบบที่เขาสอน ทางหน่วยงานจะมีสูตรให้นำมาใช้ได้ ทำเองง่ายๆ ที่บ้าน ซึ่งช่วงปี 2557 ราคายางเริ่มตกต่ำ เราก็นำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาใช้ทันที อย่างน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยใช้ปริมาณ 2 ลิตร เจือจางต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณสวนช่วงแรกตอนต้นฤดูฝนมา และก็มาครั้งที่ 2 ช่วงกลางฤดูฝน และช่วงสุดท้ายก่อนที่หน้าฝนจะหมดไป ใน 1 ปีทำอยู่ 3 ครั้ง ส่วนพวกเชื้อราไตรโคเดอร์มาก็จะทำไปพร้อมๆ สามารถป้องกันโรคที่เกิดกับใบยางพาราได้ดี ทำให้ใบเงามันไม่เป็นโรค ต้นยางพาราก็ให้น้ำยางที่ดีตามไปด้วย” คุณจำปี บอก
เมื่อทำการลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจังและหมั่นเรียนรู้การทำน้ำหมักและผลิตสารชีวภัณฑ์ไว้ใช้เองอยู่เสมอแล้ว คุณจำปี บอกว่า จากสวนยางพาราที่มีทั้งหมด 24 ไร่ การใช้ปุ๋ยเคมีภายในสวนลดลงตามไปด้วย เหลือเพียง 12 กระสอบต่อปี ซึ่งเธอเองก็ยังไม่ทิ้งการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิต เพียงแต่ใช้ในปริมาณที่น้อยลง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงไปกว่าเดิมเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ยังไม่ได้นำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์เข้ามาใช้ควบคู่กับการผลิต
ซึ่งการขายยางพาราของสวนเธอนั้น เน้นขายเป็นยางก้อนถ้วยกรีดแบบวันเว้นวัน โดยต้นยางพาราจะให้ยางอยู่ที่ 1 กิโลกรัมขึ้นไปต่อต้น ผลกำไรที่ได้ยังพอมีเงินเหลือเก็บไม่ขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตของเธอลดลงไปด้วยหลังนำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์เข้ามาช่วย ทำให้สวนของเธอมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง แถมผลผลิตยังมีคุณภาพดีเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากสมัยก่อน
จากที่ได้นำองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้มาปรับใช้ ก็รู้สึกว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตในสวนยางพาราเราได้จริง เราไม่ได้ทำเพราะคนอื่นบอกว่าดี แต่เราทำและนำมาปฏิบัติจริงภายในสวนของเรา โดยเริ่มจากพื้นที่น้อยๆ ก่อน พอใช้ดีมีประสิทธิภาพ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนทั้งหมด ก็ถือว่าเวลานี้เรานำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ในสวนยางพาราเราทั้งหมด ที่เห็นชัดเลยคือต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมีใช้น้อยกว่าสมัยก่อนมาก และที่ได้ตามมาคือเรื่องของสุขภาพ ประหยัดทั้งเงินและได้สุขภาพที่ดีตามมาด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำสวนยางพาราแบบลดต้นทุน โดยนำน้ำหมักและสารชีวภัณฑ์เข้ามาใช้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจำปี เอกพล อยู่บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 4 ตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ หมายเลขโทรศัพท์ 093-356-9625
ข้อมูลจาก www.technologychaoban.com
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567