ระวัง เพลี้ยไก่แจ้ส้ม ในพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน)
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนและแล้ง เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน) ในระยะ แตกยอดอ่อน รับมือเพลี้ยไก่แจ้ส้ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากตาและยอดอ่อน สำหรับตัวอ่อนขณะดูดกินจะกลั่นสารสีขาวมีลักษณะเป็นเส้นด้าย และชักนำให้เกิดราดำ ยอดที่ถูกทำลายจะหงิกงอ และแห้งเหี่ยว ถ้าการทำลายถึงขั้นรุนแรงทำให้ใบร่วงติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย นอกจากทำลายยอดอ่อนโดยตรงแล้ว เพลี้ยไก่แจ้ส้มยังเป็นหาพะถ่ายทอดโรคใบเหลืองต้นโทรม หรือกรีนนิ่ง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของส้มเขียวหวาน ทำให้โรคนี้แพร่กระจายไปเกือบทุกแหล่งที่ปลูกส้ม เป็นสาเหตุให้ต้นส้มทรุดโทรมและตายในที่สุด
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑ ระยะที่ส้มแตกตาและยอดอ่อน ควรหมั่นสำรวจเพลี้ยไก่แจ้ส้มทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการสุ่ม ๕ ยอดต่อต้น จำนวน ๑๐-๒๐ ต้นต่อสวน
๒. ในแหล่งที่มีการระบาดของโรคใบเหลืองต้นโทรม เมื่อพบเพลี้ยไก่แจ้ส้มต้องทำการป้องกันกำจัดทันที โดยการพ่นสารฆ่าแมลงที่แนะนำ ได้แก่ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๒ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๔ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๒ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ๒.๕% อีซี อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร