5 โรค ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน
24 ก.ค. 2567
175
0
5 โรค ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน
5 โรค ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน

 ช่วงฤดูฝนสภาพอากาศจะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะสมกับการระบาดของโรคพืชหลายชนิด ทั้งโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย กองส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำถึงวิธีรับมือกับการระบาดของ 5 โรค ที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน โดยให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังการระบาด และวางแผนการจัดการโรคพืชในแปลงปลูกให้ดี เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดจากการเข้าทำลายของโรคพืชเหล่านี้

1)  โรคราน้ำค้าง มักพบในพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ

        การระบาด : สภาพที่เหมาะสมของการเกิดโรคคือ ช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง เชื้อราสาเหตุโรค สามารถแพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือการเกษตรและการเคลื่อนย้ายพืชปลูก โดยสามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้

        การป้องกันกำจัด :

หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบพืชที่แสดงอาการ ให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกและนำไปทำลายทิ้งนอกแปลง
คลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก หากระบาดมากสามารถใช้สารเคมีไดเมโทมอร์ฟ ฉีดพ่นตามคำแนะนำ
2)  โรคเน่าคอดิน มักพบใน ต้นกล้าของพืชผักและพืชไร่

          การระบาด : เชื้อราสามารถแพร่กระจายจากการติดมากับเมล็ดพันธุ์ อยู่ในดินหรือแพร่กระจายโดยน้ำ

         การป้องกันกำจัด :

หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบต้นกล้าที่เป็นโรค ให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที
ใช้เมล็ดพันธุ์ดีปราศจากเชื้อโรคพืช และมีความงอกสูง ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป เว้นระยะต้นให้แสงแดดสามารถส่องผ่านได้
ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา
วัสดุปลูกและแปลงปลูกควรสะอาด มีการระบายน้ำที่ดี อาจปรับสภาพดินในแปลงด้วยปูนขาว หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินก่อนปลูก
3) โรคราสนิมขาวในผัก มักพบในผัก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และในไม้ดอก เช่น เบญจมาศ

        การระบาด : ระบาดรุนแรงในฤดูฝนหรือช่วงอากาศชื้น

        การป้องกันกำจัด :

กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก
หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ หากพบโรคในปริมาณน้อยให้ถอน หรือตัดเผาทำลาย
 แปลงที่เกิดโรคระบาด ควรงดการให้น้ำแบบพ่นฝอย และไม่ควรให้น้ำจนชื้นแฉะเกินไป
ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดหรือหว่านลงแปลงก่อนปลูก หรือฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรค อัตราตามคำแนะนำ
4) โรคใบจุด มักพบในพืชผักตระกูลกระหล่ำ

        การระบาด : ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ความชื้นสูง เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่กระจายตามน้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือทางการเกษตรกร และเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง

        การป้องกันกำจัด :

หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบส่วนที่เป็นโรคให้เด็ดทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
ปลูกพืชหมุนเวียน และมีการจัดการระบบน้ำที่ดี
คลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก
สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโดเดอร์มา เพื่อป้องกันกำจัดหรือเมื่อพบโรคในแปลง
หากพบการระบาดรุนแรง สามารถฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดโรคพืช หรืออาจต้องมีการพักแปลง ตากดิน
5) โรคเหี่ยว พบในพืชพวกแตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงแคนตาลูบ (cantaloup) แตงไทย แตงโม ฟักแฟง ฟักทอง แตงสควอซ (squash) เป็นต้น

       การระบาด : สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง ดินมีความชื้นสูง และฝนตกชุก จะทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี

       การป้องกันกำจัด :

หมั่นตรวจแปลงปลูก เมื่อพบโรคให้ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาดมาก่อน หรือปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป
ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการเกษตร เพื่อป้องการเชื้อสาเหตุโรคไปยังต้นปกติ
ก่อนปลูกควรไถกลับหน้าดินตากแดด และใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินก่อนปลูก
ใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส สำหรับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
หากพบการระบาดรุนแรงสามารถใช้สารเคมีในกรณีเกิดจากเชื้อรา เช่น เมตตาแลกซิล อัตราตามคำแนะนำ กรณีเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรพักแปลง ตากดิน ใส่ปูนขาว เพื่อลดการสะสมของเชื้อในดิน หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการเกิดโรค

ตกลง