เกษตรกรหน้าใส เผยเทคนิคปลูกแตงกวาอย่างเซียน ผลผลิตดก เก็บได้นาน ฟันรายได้วันละพัน
21 ก.ค. 2566
608
0

คุณกนกวรรณ มีภู่ หรือ น้องปูเป้ อยู่ที่บ้านโนนคร้อ ตำบลบ้านขาม อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เกษตรกรหน้าใส วัย 20 ปี หันเอาดีด้านงานเกษตร ใช้ธรรมชาติบำบัดในช่วงรักษาอาการภูมิแพ้ จนสามารถพัฒนาฝีมือตนเองไปสู่ขั้นเกษตรกรมืออาชีพ ที่ฝีมือลายมือในการปลูกแตงกวาของเธอไม่เป็นสองรองรุ่นใหญ่แน่นอน

ปูเป้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ด้วยปัญหาสุขภาพของตน ทำให้ต้องหยุดพักการเรียนไว้ชั่วคราว เพื่อมารักษาตัวให้แข็งแรงก่อน ซึ่งในขณะที่อยู่บ้านก็ได้ช่วยงานเกษตรของพ่อกับแม่ พร้อมกับการได้ซึมซับประสบการณ์ด้านงานเกษตรต่างๆ กลายเป็นความชอบ และอยากที่จะทดลองทำเองในแบบที่ต้องการคือ การปลูกพืชผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ จากที่สมัยรุ่นพ่อกับแม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้มั่นคง ให้กลับมามั่นคงอีกครั้ง

“ด้วยพื้นฐานเดิมพ่อกับแม่ทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง ในแต่ละปีก็มักจะประสบปัญหารายได้ไม่พอใช้ เพราะข้าวและมันสำปะหลังเป็นพืชที่สร้างรายได้เพียงปีละครั้ง และในบางปีก็ถูกซ้ำเติมด้วยราคาผลผลิตที่ตกต่ำ หนูเลยอยากที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ของพ่อแม่ ด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าว และมันสำปะหลังลง มาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชอายุสั้น เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนไว้ใช้ในครอบครัว เริ่มค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ และหนูโชคดีตรงที่คนรอบข้าง ทั้งคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อน ทุกคนต่างให้กำลังใจไม่มีใครพูดหรือดูถูกอะไร กลับกันทุกคนกลับดีใจกับหนูภูมิใจในตัวหนู ตรงนี้ถือเป็นกำลังใจสำคัญทำให้หนูก้าวผ่านอุปสรรคมาได้”

อายุน้อย ไม่เป็นอุปสรรคในการทำเกษตร

หลายท่านคงสงสัยว่าน้องปูเป้เพิ่งจะอายุ 20 ปี จะสามารถทำงานเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งน้องปูเป้บอกว่า สำหรับตน คิดว่าทฤษฎีไม่สู้ประสบการณ์ ไม่สู้การได้ลงมือทำและเรียนรู้ผิดถูกจากสิ่งที่ทำ เพราะหากเมื่อได้ลองลงมือทำแล้วจะรู้เลยว่าความรู้ที่อ่านจากหนังสือ เมื่อนำมาปฏิบัติจริงๆ จะไม่เหมือนกับที่เคยอ่านมาเลย ซึ่งจริงอยู่ที่ความอายุน้อยของตนอาจเสียเปรียบในเรื่องของประสบการณ์ แต่ข้อได้เปรียบของคนอายุน้อยก็มีเหมือนกันคือ

1. ในแง่ของคนรุ่นใหม่ เราทันโลก เรามีกำลัง เรามีความคิด และพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิตภายในสวนได้ รวมถึงการสื่อสารการตลาด โดยใช้เทคโนโลยีสื่อโซเชียลเป็นตัวกลางในการขายสินค้า ไม่ต้องยอมให้พ่อค้าคนกลางกดขี่ราคาอีกต่อไป

ส่วนของการลงมือปฏิบัติ ตนจะมีวิธีคิดและวิธีทำที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า คือก่อนจะปลูกพืชแต่ละชนิด จะต้องมีการคิดวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ดิน ว่าเหมาะสมที่จะปลูกพืชหรือเปล่า ถัดมาคือการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมาปลูก ต้องทนโรค ทนแมลง และสุดท้ายคือปุ๋ย โดยที่สวนตอนนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากเมื่อก่อนทำเกษตรเคมีเพียงอย่างเดียว ตอนนี้เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ได้แล้วบางส่วน ซึ่งในส่วนของปุ๋ยที่นำมาใช้ก็จะมีการคิดค้นสูตรปุ๋ยหมักจากผัก ผลไม้ เพราะด้วยปัญหาสุขภาพของตนเอง จึงอยากที่จะปลูกผักปลอดสารที่ปลอดภัยกับตนเองทั้งตอนปลูกและตอนบริโภค

เทคนิค การปลูกแตงกวาแบบเซียนอายุน้อย
ผลผลิตดก ปลอดภัยโรคพืช การตลาดรุ่ง
ปูเป้ บอกว่า สำหรับในตอนเริ่มต้นทำเกษตรถือเป็นบททดสอบที่หินสำหรับตนอยู่เหมือนกัน เนื่องด้วยประสบการณ์ที่มีน้อย จึงต้องดึงความสามารถในส่วนที่เด็กอย่างเราถนัดมาช่วย คือความสามารถในการเข้าถึงองค์ความรู้ได้กว้างขวาง โดยพยายามศึกษาจากทุกสื่อเท่าที่จะทำได้ ทั้งในส่วนของบทความในหนังสือ ดูสื่อวิดีโอในยูทูป รวมถึงการซึมซับประสบการณ์จากรุ่นบรรพบุรุษ โดยในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ตนจะให้ความสนใจในเรื่องดินและปุ๋ยมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมองว่าการจะปลูกพืชให้ดีได้ดินต้องดี ปุ๋ยต้องดี ถือว่าประสบความสำเร็จไปเกินครึ่ง ส่วนอันดับถัดมาคือการศึกษาพฤติกรรมของพืช และโรคของพืช

โดยในปัจจุบัน ตนมีพื้นที่ทำเกษตรทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งปลูกข้าวหอมมะลิ 8 ไร่ ที่เหลืออีก 2 ไร่ แบ่งทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผัก ผลไม้ มีพืชหลักสร้างรายได้คือแตงกวา และข้าวโพด ด้วยเหตุผลที่ว่าแตงกวาและข้าวโพดเป็นพืชอายุสั้น สร้างรายได้เร็ว ราคาไม่ผันผวนเหมือนกับพืชชนิดอื่น และยิ่งถ้าหากเกษตรกรมีการปลูกและดูแลที่ดี ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้นานเป็นเดือน รายได้ก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนเท่าเดิม

 
ปูเป้ กล่าวเพิ่มเติมถึงเทคนิคการปลูกแตงกวาให้ได้ผลผลิตดก รสชาติหวาน เก็บได้นานถึง 30 มีด ปัจจัยสำคัญคือ 1. ดิน ถ้าดินดีปุ๋ยไม่ต้องใส่เยอะก็ได้ โดยดินที่เหมาะกับการปลูกพืช จะต้องเป็นดินร่วนซุย กำแล้วไม่แน่นเกินไป แต่ถ้าหากพื้นที่ของใครมีสภาพดินเค็ม ก็สามารถหาซื้อปุ๋ยปรับสภาพดินตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตรทั่วไปได้ หรือถ้าหากสภาพดินเป็นกรด ดินเปรี้ยว สามารถแก้ได้ด้วยการใช้ปูนขาวโรยหน้าดินแล้วไถพรวน หากไม่ไถพรวนเมื่อฝนตกลงมาจะทำให้หน้าดินแข็ง ปลูกพืชแล้วไม่งาม 2. วางแผนและสำรวจราคาผลผลิตก่อนลงมือปลูก เพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ส่งผลทำให้ราคาตก 3. เลือกปลูกพืชที่สามารถปลูกร่วมกันได้เพื่อบรรเทาความเหนื่อย ตัวอย่างของที่สวนจะปลูกแตงกวาสลับกับข้าวโพด เนื่องจากแตงกวาเป็นพืชที่ต้องใช้เวลาในการดูแลทุกวัน ส่วนปลูกข้าวโพดเป็นพืชทุ่นแรง ไม่ต้องดูแลมาก พอมีเวลาได้พักเหนื่อย เท่ากับการทำหนักผ่อนเบาเดือนเว้นเดือน

วิธีการปลูกแตงกวา เป็นการปลูกแบบเข้าใจแตงกวา ตั้งแต่การเลือกดิน เลือกสภาพแวดล้อมรอบข้าง การเตรียมดิน สำหรับการปลูกแตงกวาของที่สวนจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย เนื่องจากสภาพพื้นดินของที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกอยู่แล้ว เพียงแค่ไถพรวนตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นไถยกร่องคลุมแปลง หากเป็นช่วงอากาศร้อนคลุมด้วยผ้าพลาสติก ส่วนฤดูอื่นๆ จะใช้ฟางคลุม

ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 25 เซนติเมตร โดยก่อนหยอดเมล็ดลงหลุมปลูก จะทำการคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันเชื้อราและโรคพืช

ขั้นตอนก่อนหยอดเมล็ด รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยยูเรียแล้วใช้ดินกลบบางๆ จากนั้นจึงค่อยหยอดเมล็ด (เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดโดนปุ๋ยมากเกินไปจะทำให้เมล็ดเสียหายส่งผลต่อการเจริญเติบโต) หลังจากหยอดเมล็ดเสร็จ บำรุงด้วยปุ๋ยหมักจากเศษพืชคลุมหน้าดินไม่ให้ดินแห้ง ต้นละ 1 กำมือ

การบำรุงรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย
เป็นระบบน้ำหยด เปิดรดทุกเย็นวันละครึ่งชั่วโมง ส่วนปุ๋ยบำรุงจะมีถังสำหรับใส่ปุ๋ย มีวาล์วเปิด-ปิด การให้ปุ๋ยจะให้ช่วงเย็นหลังจากการให้น้ำ โดยจะปิดเครื่องสูบน้ำก่อนแล้วค่อยเปิดวาล์วปุ๋ย น้ำปุ๋ยจะไหลไปตามสายน้ำหยด และในช่วงก่อนเก็บผลผลิตจะให้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 สัปดาห์ละครั้ง จากนั้นเมื่อเริ่มเก็บผลผลิตแล้วจะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักสูตรที่ทำเอง 3 วันครั้ง และเมื่อเก็บผลผลิตได้ประมาณครึ่งเดือนจะกลับมาใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อีกครั้ง แล้วใส่จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 3 วันครั้ง จนถึงมีดสุดท้าย

“ตัวจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใส่ช่วงหลังเพราะแตงกวาเจริญเติบโตจนสุดแล้วรากเขาเริ่มแตกหาอาหารไม่ได้แล้ว ตัวจุลินทรีย์จะไปช่วยย่อยธาตุอาหารในดินเพื่อให้แตงกวาดูดสารอาหารได้เลย อัตราส่วนปุ๋ยเคมีประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ปุ๋ยหมักกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใช้อัตราส่วนเหมือนกัน คือ 200 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร

เพิ่มผลผลิตด้วยฮอร์โมนไข่ จะเริ่มฉีดพ่นฮอร์โมนไข่หลังจากที่แตงกวาเริ่มออกตาดอกได้ประมาณสัปดาห์ที่ 3 กับช่วงที่แตงกวาให้ลูกเยอะที่สุด โดยในแต่ละช่วงจะฉีดพ่นฮอร์โมนไข่ 2 ครั้ง ระยะห่างแต่ละครั้ง คือ 3 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่นคือช่วงเช้าและเย็น แล้วแต่ว่าแต่ละสวนจะสะดวกฉีดตอนไหน

สูตรทำฮอร์โมนไข่ ส่วนผสม 1. นมเปรี้ยว 1 ช้อนโต๊ะ 2. ไข่ไก่จำนวน 4 ฟอง 3. ผงชูรส 1 ช้อนโต๊ะ 4. น้ำตาลทรายแดง 4 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ นำส่วนผสมทั้ง 4 อย่างมาผสมให้เข้ากันโดยใส่เปลือกไข่ลงไปด้วย คนจนส่วนผสมเข้ากัน แล้วเทใส่ขวดปิดฝาไม่ต้องแน่นมาก หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ สามารถนำมาใช้ได้ ในอัตราส่วนฮอร์โมนไข่ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร ช่วยให้ติดดอก ติดผลดี ดอกไม่ร่วง ทำให้ผลผลิตดก ผลกรอบและหวานมาก และช่วยให้เก็บได้นานกว่าปกติ เก็บใส่ตู้เย็นไว้ 1 สัปดาห์ยังไม่เหี่ยว

ปริมาณผลผลิต โดยปกติแตงกวาทั่วไปจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 20-22 มีด แต่ของที่สวนจะเก็บได้ถึง 30 มีด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการปลูกอย่างเข้าใจธรรมชาติของแตงกวา โดยปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ในช่วงปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 200-300 กิโลกรัม หากเป็นช่วงพีคเก็บได้มากถึงวันละประมาณ 400 กิโลกรัม

ราคาในแต่วันจะไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วที่สวนจะกรอกใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ขายในราคาถุงละ 100 บาท เฉลี่ยรายได้ต่อวันประมาณ 2,000-3,000 บาท เฉพาะรายได้จากแตงกวายังไม่รวมกับพืชผักผสมผสานในสวนชนิดอื่นๆ เมื่อหักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่าถุงกรอกแตง เฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกำไร นับเป็นรายได้ที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก ด้วยอายุที่ยังน้อยแต่สามารถหารายได้เยอะขนาดนี้

อุปสรรคแรกคือ การตลาด
หาทางออกด้วยช่องทางออนไลน์
“ในช่วงแรกของการหาตลาดถือว่าเป็นอุสรรคที่สำคัญ ด้วยความที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ยังไม่มีตลาดส่งขายประจำ จำเป็นต้องยอมให้พ่อค้าคนกลางกดราคาไปก่อนในช่วงแรก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดที่ทำให้ต้องกลับมาคิดหาทางออก ว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้พ่อค้าคนกลางมากดราคาได้อีก ในขณะที่ผักของเราปลูกและดูแลเป็นอย่างดี เป็นผักปลอดภัย แต่กลับโดนกดราคา จึงได้เริ่มต้นหันกลับมาพึ่งตนเอง หันมาพึ่งสิ่งที่มีอยู่ในมือคือโทรศัพท์ โดยการใช้โทรศัพท์เป็นสื่อในการลงโซเชียล โพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มต้นจากการถ่ายรูปผลผลิตที่มีอยู่ และพร้อมขายลงในเพจเฟซบุ๊ก จนหลายคนเห็นและให้ความสนใจเข้ามาถามขอซื้อกันอย่างมากมาย กลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าประจำกันจนถึงทุกวันนี้ และนอกจากนี้ยังมีวางขายที่หน้าสวนให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ขายในราคาเป็นกันเอง คนปลูกอยู่ได้คนซื้อซื้อได้ หรือพ่อค้ารายย่อยจะเอาไปขายทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้ รวมถึงการส่งให้กับร้านอาหารเจ้าประจำ หรือพูดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้แตงกวาของที่สวนผลิตไม่ทันขายแล้ว” น้องปูเป้ กล่าวทิ้งท้าย

ตกลง