กุ้งเต้น หรือกุ้งฝอย เป็นอีกหนึ่งในวัตถุดิบหลักของคนอีสาน กินดิบ หรือปรุงสุกก็ได้ นิยมนำมารังสรรค์เมนูอาหารอีสานพื้นบ้านแซ่บๆ ไม่ว่าจะเป็น คั่วกุ้งฝอยใส่ปลาร้า ก้อยกุ้งดิบ หรือตำแจ่วกุ้งฝอย แกล้มด้วยผัดสดๆ อยากบอกว่าอร่อยสุดๆ กุ้งฝอยถือเป็นเมนูที่คนอีสานต้องกินกันทุกมื้อไม่แพ้ส้มตำเลย
คุณชุติกาญจน์ ไกลโนนทอง อยู่บ้านเลขที่ 182 หมู่ที่ 7 ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย คุณชุติกาญจน์ กล่าวว่า ตนเองปลูกพืชผสมผสานอยู่แล้ว และในพื้นที่สวนก็มีคลองไส้ไก่ วันหนึ่งได้เข้าไปในสวนและดูสัตว์น้ำในคลอง พบว่ามีกุ้งอยู่จำนวนมาก กุ้งเหล่านี้หากินและเติบโตเองตามธรรมชาติ
ทำให้คุณชุติกาญจน์จึงอยากทดลองเลี้ยงกุ้ง และส่วนตัวนั้นเป็นคนชื่นชอบในการกินกุ้งฝอยอยู่แล้ว และตลาดกุ้งฝอยในภาคอีสานมีความต้องการสูงมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่พอต่อความต้องการผู้บริโภค จึงทำให้คุณชุติกาญจน์มองเห็นการสร้างรายได้จากช่องทางนี้ จึงได้ทดลองเลี้ยงกุ้งฝอย และประสบความสำเร็จมาแล้วถึง 5 ปี
บ่อเลี้ยงกุ้งฝอย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1.บ่อปูน ขนาด 1×2, 1×3, 1×4 เมตร ความลึกของน้ำภายในบ่อไม่ควรต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หรือความลึกของน้ำภายในบ่อควรมีระดับน้ำ 50 เซนติเมตรขึ้นไป
2.บ่อผ้าใบ ขนาด 2 x3-2×10 เมตร ความลึกของน้ำภายในบ่อไม่ควรต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หรือความลึกของน้ำภายในบ่อควรมีระดับน้ำ 50 เซนติเมตรขึ้นไป
3.บ่อดินรองพื้นผ้าใบก้นบ่อ
4.บ่อดินไม่รองผ้าใบก้นบ่อ บ่อดินจะมีขนาดไม่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ความลึกของน้ำภายในบ่อควรมีระดับน้ำ 60 เซนติเมตรขึ้นไป ภายในบ่อเลี้ยงทุกประเภท ต้องมีสายออกซิเจนภายในบ่อเลี้ยง เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ยกเว้นบ่อดินที่ไม่รองผ้าใบก้นบ่อ
อัตราส่วนในการปล่อยกุ้งฝอยลงบ่อ
ลูกพันธุ์กุ้งฝอย 300 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร อัตราส่วนนี้สามารถใช้ได้กับบ่อทุกประเภท และในกรณีบ่อทำพันธุ์จะใช้อัตราส่วนในการปล่อยลงบ่อคือ แม่พันธุ์ 80 เปอร์เซ็นต์ต่อพ่อพันธุ์ 20 เปอร์เซ็นต์
อาหาร
การเลี้ยงกุ้งฝอยค่าอาหารมีต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากกุ้งฝอยมีตัวที่เล็กกินอาหารไม่มาก อาหารที่ให้จะเป็นอาหารกุ้งเม็ดจม โปรตีนสูง โดยจะให้อาหาร 1 ครั้งต่อวัน ช่วงเย็น อัตราส่วนการให้อาหารเม็ด ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหมั่นสังเกต ให้อาหารเพียงพอต่อกุ้งภายในบ่อ ไม่ให้อาหารมากหรือน้อยเกินไป น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงกุ้งฝอย ดังนั้น ความสะอาดของน้ำภายในบ่อ จะส่งผลถึงคุณภาพกุ้งฝอยภายในบ่อ ภายในฟาร์มจึงต้องทำการดูดตะกอนใต้ก้นบ่อ (กระชังบก) ทุก 1 เดือน เดือนละ 2 ครั้ง
โรคและข้อควรระวัง
ควรระวังสารเคมีที่มากจากน้ำฝน เพราะส่งผลต่อสภาพน้ำภายในบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แร่ธาตุลงไปในน้ำ แร่ธาตุจะช่วยปรับสมดุลในน้ำได้ (สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาการเกษตร)
เลี้ยงกุ้งฝอยกี่เดือนถึงขายได้
การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อแต่ละประเภท มีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาการเจริญเติบโต กระชังบก เช่น บ่อปูน บ่อผ้าใบ จะใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 4-5 เดือนขึ้นไป ถึงจะได้ขนาดที่เหมาะสมตามที่ตลาดต้องการ บ่อดินรองพื้นผ้าใบก้นบ่อ บ่อดินไม่รองผ้าใบก้นบ่อ จะใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 3 เดือน ก็สามารถขายได้แล้ว เนื่องจากบ่อดินมีลักษณะเป็นบ่อธรรมชาติ กุ้งสามารถหากินเองได้จากสัตว์น้ำขนาดเล็กภายในบ่อ
ตลาด
ตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1. ตลาดกลุ่มขายลูกพันธุ์ ลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นเกษตรกรที่ต้องการสร้างอาชีพจากกุ้งฝอย ซึ่งทางฟาร์มจัดส่งจำหน่ายทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย พร้อมให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยง การดูแล และจำหน่ายลูกพันธุ์ให้แก่ลูกฟาร์มที่นำไปเลี้ยง และทางฟาร์มรับซื้อคืนเพื่อนำมาจำหน่ายเนื้อ 2. ตลาดกลุ่มขายเนื้อ มีทั้งตลาดชุมชน ตลาดอำเภอ ตลาดภายในจังหวัด และตลาดจังหวัดใกล้เคียง โดยราคาในท้องตลาดสำหรับกุ้งฝอยทอด มีมูลค่า 200-300 บาทต่อกิโลกรัม และพ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอย อยู่ที่ตัวละ 1-2 บาท (แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละฟาร์ม)