เลี้ยง “ปลาสลิด” แบบธรรมชาติ ใช้หญ้าคู่อาหารเม็ด ปลาโตไว กำไรสูง
22 เม.ย. 2567
56
0
เลี้ยง“ปลาสลิด”แบบธรรมชาติใช้หญ้าคู่อาหารเม็ด
เลี้ยง “ปลาสลิด” แบบธรรมชาติ ใช้หญ้าคู่อาหารเม็ด ปลาโตไว กำไรสูง

พื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในอดีตเคยเป็นนาข้าวและสวนผลไม้ ต่อมาประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรจนกลายเป็นพื้นที่น้ำกร่อยไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว แต่ เอื้อต่อการเลี้ยงปลาสลิด ชาวบ้านจึงหันมาทำนาปลาสลิดตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนจนถึงทุกวันนี้

เกษตรกรประมงต้นแบบ

คุณปัญญา โตกทอง ชาวตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ในเรื่องของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบแทนจากการผลิตสูง

คุณปัญญาเริ่มต้นเลี้ยงปลาสลิดในปี 2537 หลังเห็นเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสมุทรปราการที่ย้ายมาเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดสมุทรสงคราม ขายปลาสลิดได้ราคาดีมาก จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่นาข้าว 30 ไร่มาทำบ่อเลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากคุณปัญญาไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาสลิดเลย ทั้งด้านพื้นที่ใช้เลี้ยงปลา ด้านระบบนิเวศและวิธีการเลี้ยง จึงทำให้ในช่วง 2 ปีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ

จากเดิม ฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อที่ 30 ไร่แห่งนี้ เคยมีรายได้จากการขายปลาอยู่ที่ 600,000 บาทหลังปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1,112,500 บาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน หลังจากนั้น เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทะลุหลักล้านมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับเลี้ยง “ปลาสลิด” ให้มีความสุข
ฟาร์มแห่งนี้ เน้นการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดแบบธรรมชาติ ก่อนเลี้ยงต้องตากบ่อ ประมาณ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยปลาเข้าเลี้ยงในบ่อ แต่ละบ่อมีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ระดับความลึก 1-1.2 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 50-70 เซนติเมตร ระดับน้ำในบ่อสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ที่นี่ปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นหนาแน่นบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิดแล้ว ต้นหญ้ายังมีประโยชน์ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู และใช้ต้นหญ้านำมาหมักในแปลงนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำ

เมื่อปลาสลิด อายุราว 20 วัน คุณปัญญาสามารถใช้ต้นหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีกทางหนึ่ง โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ลูกปลากินทุกๆ 15 วันจนกระทั่งลูกปลาอายุประมาณ 4 เดือน สำหรับปลาสลิดที่อายุ 3 เดือน คุณปัญญาจะให้อาหารคือหญ้าอ่อน ควบคู่กับอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยทำยอเป็นที่ให้อาหารในอัตรา 2% ของน้ำหนักตัว เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

การให้อาหารปลาสลิดในแต่ละครั้ง คุณปัญญาจะจดบันทึกปริมาณอาหารที่ให้ปลา และคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารหมดช่วงเวลาไหน ถ้าปลาสลิดกินหมดช่วงเวลาเย็น แสดงว่าอาหารพอดีกับความต้องการของปลา หากปลาสลิดกินอาหารหมดเร็ว แสดงว่าอาหารไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

ปลาสลิด อายุได้ 3 เดือน จะใช้วิธีการจับปลาแบบยกยอ ทุกๆ 15-20 วัน จนกว่าจะจับขายเพื่อตรวจสอบดูว่า 1 กิโลกรัม มีปลากี่ตัว และใน 1 บ่อ มีปลากี่ตัว เพื่อเป็นการคำนวณน้ำหนักของปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนการแลกเนื้อของปลา และอาหาร รวมทั้งคำนวณต้นทุนกำไร

ต้นทุนการเลี้ยงปลาของคุณปัญญา จะคำนวณจากปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 87,750 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม รวมมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา 877,500 บาท ขายปลาได้ 48,750 กิโลกรัม แสดงว่าอัตราการแลกเนื้อและอาหารคือ 1 : 1.8 กิโลกรัม

ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทุกวันนี้ คุณปัญญาแบ่งพื้นที่การเลี้ยงออกเป็น 2 พื้นที่ โดยพื้นที่แรกเป็นบ่อน้ำจืดใช้เลี้ยงปลาสลิด ปลาหมอไทย และปลาช่อน ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่เป็นบ่อน้ำเค็มใช้เลี้ยงปลาหมอเทศ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย และปูทะเล

แนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนของคุณปัญญาคือ การเปิดร้านอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรกำหนดราคาได้ยาก คุณปัญญาจึงต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรของตนเองและคนในชุมชนมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านั้น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ผักต่างๆ หรือพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของชาวสมุทรสงคราม อย่างยอดหนามพุงดอ ใบชะคราม ฯลฯ

คุณปัญญาจึงรับซื้อจากคนในชุมชนเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารที่ร้านอาหารของตนเอง ชื่อ “ร้านอาหารข้าวใหม่ปลามัน” อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

 

ที่มาของข้อมูล: เทคโนโลยีชาวบ้าน
ตกลง