ข้าวเป็นยา บำบัดรักษาสารพัดอาการ ถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ซึ่งหมอยาพื้นบ้านสืบทอดกันมาช้านาน
อาหารหลักที่คนไทยทานกันทุกบ้านอย่าง ข้าว ได้รับการยอมรับจากนักโภชนาการว่ามีคุณประโยชน์ทางสารอาหารครบถ้วนในตัวเอง และก็เป็นหนึ่งในตำรับยาที่หมอยาพื้นบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำมาใช้บำบัดรักษาอาการต่าง ๆ ลองมาดูข้อมูลเรื่องนี้จาก ไทยโพสต์
ข้าวที่มีสารอาหารครบถ้วน ต้องเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เพราะข้าวขัดขาวสารอาหารสำคัญจะถูกขัดสีออกไปเป็นรำข้าวเกือบหมดแล้ว และทางการแพทย์แผนจีนยังกล่าวว่า ข้าวมีทั้งหยิน-หยางอย่างสมดุลในตัวเอง ถือเป็นยารักษาโรคคุณภาพดี การแพทย์พื้นบ้านหรือการแพทย์ตะวันออกของทุกชาติที่มีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักจึงมักมีตำรับยาดีๆ ที่ใช้ข้าวในการรักษาโรคมากมายทั้งแบบใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้แบบตำรับ
ผลผลิตจากการสีข้าวแบบขัดข้าวจะได้รำและจมูกข้าว ในสมัยก่อนมักขายเป็นหัวอาหารนำไปใช้เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ไก่ แต่เมื่อประชาชนตระหนักรู้ในความสำคัญของรำข้าวและจมูกข้าวแล้ว ก็มีการสีข้าวกล้องเพื่อลดการขัดสีจมูกข้าวลง สำหรับเป็นทางเลือกของประชาชนในการเลือกซื้อข้าวที่มีคุณค่าทางสารอาหารในการบริโภคมากขึ้น หรือแม้กระทั่งรำและจมูกข้าวก็นำมาบีบเอาน้ำมันที่เรียกว่าน้ำมันรำข้าว ซึ่งเป็นน้ำมันคุณภาพดี สามารถนำมาใช้บำรุงผิว ทำยา และอาหาร หรือบรรจุในแคปซูลเป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย
หมอยาพื้นบ้านภาคอีสานได้ทำการรวบรวมตำรับยาที่ใช้ข้าวปรุงเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ อาทิ โรคผดผื่น มดมาน โรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ปวดหัวไมเกรน ถอนพิษจากสัตว์หรือพืช เช่น พิษงู แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ เจ็บหัว เจ็บตา อีสุกอีใส มดลูกเป็นแผลทำให้มดลูกหดตัวแห้ง แก้ซางขโมยเด็กน้อย สมานแผล แก้ปวด แก้ไอ แก้พิษ แก้งูสวัด และบำรุงร่างกาย ซึ่งหมอพื้นบ้านต่างลงความเห็นว่าได้ผลดี และเป็นยากลางบ้านที่ชาวอีสานใช้กันบ่อย เช่น
ตำรับยาใช้น้ำซาวข้าวรักษาพิษงูสวัด งูสวัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการคัน ๆ เจ็บ ๆ หรือปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง จากนั้นเกิดอาการบวม แดง ร้อน และเริ่มพองเป็นตุ่ม น้ำใส เรียงตัวเกาะกันเป็นกลุ่ม ๆ ตุ่มน้ำใสเหล่านี้ก็จะพองโตและแตกออกกลายเป็นสะเก็ด เป็นที่ทรมานไม่น้อย ตำรับยาที่ใช้รักษา ใช้ใบเสลดพังพอนโขลกจนละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว จะได้ยาลักษณะเหนียวข้น ใช้สำลีชุบน้ำยาทาบริเวณที่เป็นงูสวัดบ่อย ๆ เมื่อยาแห้งก็ทาใหม่ ประมาณ 1 อาทิตย์ก็เห็นผล ยานี้มีสรรพคุณดูดพิษงูสวัด
ตำรับน้ำซาวข้าวผสมขิง รักษาอาการผด ผื่น คัน โดยนำขิงมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวคนให้เข้ากัน ใช้ทาผิวหนังที่มีอาการผดผื่นคัน ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ข้าวจี่ ดูดพิษดูดฝี ข้าวจี่คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ๆ แบน ๆ ขนาดพอเหมาะมือ นำไปปิ้งไฟ (จี่ไฟ) จนไหม้เกรียม แล้วนำข้าวนั้นมาตำกับใบลำโพง 7 ใบให้ละเอียด เวลาใช้ให้เอาน้ำซาวข้าวเป็นกระสายยา แล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็น
การใช้ข้าวเป็นยารักษาโรค มีทั้งการใช้ในรูปแบบอาหารรับประทานโดยตรง เช่น ข้าวต้ม หรือน้ำข้าวต้ม ใช้ในรูปแบบยาเข้าตำรับ หรือเป็นน้ำกระสายยา ข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยอุษา กลิ่นหอม และคณะ (2546) และเอกสารตำรายาอีสานโบราณของ ดร.ปรีชา พิณทอง (2536) พบว่าหมอพื้นบ้านชาวอีสานมีการใช้ข้าวเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ถึง 38 กลุ่มอาการ และมีตำรับยาจำนวน 330 ตำรับ โดยใช้ในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับไข้มากที่สุดจำนวน 122 ตำรับ เป็นการรักษาไข้หมากไม้ 81 ตำรับ และไข้ธรรมดาจำนวน 40 ตำรับ นอกจากนี้ยังมีตำรับรักษาสัตว์เลี้ยงอีก 2 ตำรับ อาทิ
แก้เบื่อเมา ใช้รากมะนาวฝนใส่น้ำซาวข้าว บำรุงเส้นผม ใช้น้ำซาวข้าว ใบหมี่ รากมะขามส้ม ต้มรวมกันแล้วนำไปสระผม
แก้เบาหวาน ใช้แก่นสะเดา 1 ส่วน ฟางข้าวเจ้า 1 ส่วน ต้มกิน 3 วันหลังอาหาร
ยาแก้หืด ใช้รากลำเจียก 1 ส่วน ทองพันชั่ง 1 ส่วน แกลบข้าวเหนียว 1 ส่วน ดินประสิว 1 ส่วน ต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวเหลือ 1 ส่วนกิน
กินของผิดสำแดง ใช้รากย่านาง รากหมาน้อย เฟืองข้าวเจ้า รากฝาง อ้อยดำ ฝนกิน
โรคฝี ใช้รากต้างไก่ หัวหนวดแมว น้ำข้าวจ้าวเป็นน้ำฝนทา ปวดหัว ใช้รากตดหมา เข็มขาว ฝนใส่น้ำข้าวเจ้าทา
แก้ไอ ใช้ข้าวเจ้าป่นละเอียด 1 ส่วน พริกไทย 1 ส่วน น้ำผึ้ง 1 ส่วน เอาทั้ง 3 ผสมให้เข้ากันกินแก้ไอ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ข้าวเป็นยารักษาโรคจากภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านภาคอีสาน ที่ตระหนักว่าการเป็นหมอพื้นบ้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชนที่แสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในชุมชน เป็นทางเลือกในการพึ่งพาตนเองในการดูแลสุขภาพ ที่มีการสืบทอดความรู้ภูมิปัญญามาช้านาน และถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง อันเป็นกลไกสำคัญของการดำรงชีวิตที่ยังคงมิตรภาพ น้ำใจและไมตรี ที่หาได้ยากยิ่งนักในสังคมโลกปัจจุบัน