กรมประมงชี้แจงหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวบรวมวัตถุดิบปลาหมอคางดำ ทั้งแพปลาและประชาชน หลังเกิดความไม่แน่ใจในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ย้ำรับซื้อตามเกณฑ์ที่กำหนด
จากเหตุการณ์เจ้าของแพปลาในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการไม่กล้ารับซื้อปลาหมอคางดำ เนื่องจากมีการส่งต่อข้อมูลในกลุ่มผู้ประกอบการแพปลาด้วยกันว่า “ทั้งผู้รับซื้อและผู้ขายจะต้องมีใบอนุญาต” ทำให้ไม่มีความชัดเจนและไม่สามารถคุมราคาตามที่ทางรัฐกำหนดได้ เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดหรือผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยหารือในกรณีดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันยังมีความกังวลหากเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำ
กรมประมงชี้แจงหลักเกณฑ์-เงื่อนไขการรับซื้อ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ตามที่กรมประมงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพและนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรชาวสวนยางในโครงการแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง
ก่อนหน้านี้ กรมประมงได้มีการรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบหรือแพปลา และตั้งจุดรับซื้อขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว รวมจำนวน 75 จุด หลังเริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 7 วัน (นับจากวันที่ 1 – 7 สิงหาคม 2567) พบว่า มีเกษตรกรนำปลาหมอคางดำมาจำหน่ายแล้ว จำนวน 168,029.50 กิโลกรัมและได้จัดส่งให้กรมพัฒนาที่ดินนำไปผลิตปุ๋ยหมักแล้วถึง 155,409.50 กิโลกรัม
สำหรับประเด็นที่แพปลาผู้เข้าร่วมโครงการฯ บางราย รวมถึงประชาชนยังไม่ทราบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวข้างต้น กรมประมงชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้
• ผู้รวบรวมวัตถุดิบปลาหมอคางดำหรือแพปลารายใดประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้รวบรวมปลาหมอคางดำ สามารถยื่นใบสมัครตามแบบฟอร์มสมัครผู้รวบรวมและจำหน่ายวัตถุดิบ (ปลาหมอคางดำ) ตามประกาศกรมประมง ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงานประมงจังหวัดท้องที่ที่มีการแพร่ระบาด
• การรับซื้อวัตถุดิบปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและประชาชน แพปลาจะต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท (จะได้รับค่ารวบรวมและค่าขนส่งไปยังหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน กิโลกรัมละ 5 บาท)
• เนื่องจากการรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถกระจายจุดรับซื้อให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกรชาวประมงผู้จำหน่ายได้เพียงพอตามปริมาณของปลาหมอคางดำ กรมประมงจึงออกประกาศขยายการรับสมัครผู้รับซื้อวัตถุดิบหรือแพปลาเพิ่มเติมออกไปจากประกาศฉบับเดิมจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2567
เกษตรกร-ชาวประมง รับซื้อแบบไม่มีเงื่อนไข
ในส่วนของเกษตรกรชาวประมงที่เป็นผู้จำหน่าย กรมประมงเน้นย้ำว่า ขั้นตอนการนำปลาหมอคางดำมาขายไม่มีเงื่อนไขกำหนดในการรับซื้อ
• สามารถนำมาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท และไม่จำกัดจำนวน
• หากเกษตรกรผู้จำหน่ายมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ. 1) ที่จับจากบ่อตนเอง ขอให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลด้วย
• กรมประมงขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายแจ้งแหล่งน้ำที่จับและเครื่องมือที่จับกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อเพื่อบันทึกเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป
• กำหนดเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567
• หากสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อแล้ว กรมประมง และ กยท. จะร่วมกันพิจารณาการขยายเวลารับซื้ออีกครั้ง
สมุทรปราการ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 6 แห่ง
สำหรับในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ 4 แห่ง อำเภอเมือง 1 แห่ง และอำเภอบางบ่อ 1 แห่ง หลังจากเริ่มดำเนินโครงการฯ ทางสำนักงานประมงจังหวัดได้แจ้งผู้สมัครทั้ง 6 แห่ง เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบรายละเอียดตามคู่มือของโครงการฯ พร้อมเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Line เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประมง เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน เจ้าหน้าที่ กยท. และผู้รวบรวมผลผลิตซึ่งเป็นแพปลาได้ประสานงานกันโดยตรง ในกรณีประสบปัญหาหรือมีข้อติดขัดต่าง ๆ