ระวังหนอนเจาะฝักข้าวโพด
ในระยะข้าวโพดออกดอกถึงระยะติดฝัก เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เฝ้าระวังหนอนเจาะฝักข้าวโพด
โดยจะมีผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัยบินมาวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามเส้นไหมที่ปลายฝักข้าวโพดหรือที่ช่อดอกตัวผู้ หนอนที่ฟักตัวออกมาระยะแรกจะกัดกินช่อดอก และเมื่อข้าวโพดเริ่มติดฝักตัวหนอนจะกัดกินเส้นไหมของฝัก และเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในบริเวณปลายฝัก ทำความเสียหายให้แก่คุณภาพฝักโดยตรง เนื่องจากปลายฝักเสียหาย
ถ้าพบระบาดมากปลายฝักจะเน่า เนื่องจากความชื้นจากมูลของหนอนที่ถ่ายไว้ และหนอนเจาะฝักข้าวโพดทำความเสียหายได้มาก หากการระบาดเกิดก่อนระยะการผสมเกสรจะเกิดขึ้น การระบาดจะรุนแรงทำให้เก็บผลผลิตไม่ได้ เนื่อง จากหนอนกัดกินเส้นไหมจนแหว่งหมดไปทำให้ข้าวโพดไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ฝักที่ได้จึงไม่ติดเมล็ด หรือเกิดเป็นข้าวโพดฟันหลอขึ้น
วิธีการป้องกันกำจัด แนะนำให้ใช้วิธีกล... พื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดเล็ก ให้ใช้วิธีการจับหนอนที่ปลายฝักทิ้ง หรือใช้มือบีบปลายฝักให้หนอนตายโดยไม่ต้องเก็บทิ้ง และควรเดินเก็บหนอนทุกวันในระยะติดฝัก
เนื่องจากผีเสื้อของหนอนเจาะฝักข้าวโพดจะวางไข่ที่ยอดเกสรตัวผู้ และที่ไหมข้าวโพดในระยะผสมเกสร จึงควรหมั่นตรวจปลายฝักข้าวโพดในระยะนี้ หากพบหนอนวัย 1-2 เฉลี่ย 10-20 ตัวต่อ 100 ต้น พ่นสารฆ่าแมลง ฟลูเฟนนอกซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้พ่นเฉพาะฝักที่หนอนลงทำลายไหม พ่นซ้ำตามความจำเป็น โดยพ่นที่ปลายฝักบริเวณไหมโผล่
หากพบการระบาดมากจึงพ่นที่เกสรตัวผู้ส่วนบนสุด ทั้งนี้ สารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะที่หนอนยังเล็กถึงจะได้ผลดี...สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อฝักติดเมล็ดแล้วไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง.