ปลัดเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา กำชับกรมชลฯ เตรียมรับมือฝนตกหนัก พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งประชาสัมพันธ์ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยช่วงเช้าเดินทางไปยัง สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากนั้นช่วงบ่าย ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ ประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (YAGI) จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และอ่อนกำลังลง จะส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67 โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ประกอบกับเขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ที่สถานีวัดน้ำ C2 เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในอัตรา 1,500 -1,600 ลบ.ม. /วินาที ก่อนที่จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองชลประทานในอัตราที่เหมาะสม และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและสามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่จะเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในระยะนี้ได้ จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,500 – 1,700 ลบ.ม. /วินาที ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา , แม่น้ำน้อยบริเวณตำบลหัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดน อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 20 - 50 เซนติเมตร โดยกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม.
จากสถานการณ์ดังกล่าว รมว.เกษตรฯ ได้กำชับให้กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง และเน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ระบายจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และแควน้อยฯ ไหลมารวมกันที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ปัจจุบัน 1,481 ลบ.ม. /วินาที โดยกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก รวมรับน้ำ 292 ลบ.ม. /วินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ 1,498 ลบ.ม. /วินาที โดยเขื่อนเจ้าพระยามีความสามารถในการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 3,000 ลบ.ม. /วินาที
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินทางไปยังประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณก่อนเข้าตัวเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งหารือแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย ตลอดจนเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้การบริหารการจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีทั้งหมด 2 จังหวัด 8 อำเภอ จำนวน 11,639 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2567) ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1) อ.เสนา 7 ตำบล 2,792 ครัวเรือน 2) อ.ผักไห่ 13 ตำบล 2,582 ครัวเรือน 3) อ.บางปะอิน 10 ตำบล 1,432 ครัวเรือน 4) อ.พระนครศรีอยุธยา 11 ตำบล 573 ครัวเรือน 5) อ.บางบาล 14 ตำบล 1,737 ครัวเรือน 6) อ.บางไทร 21 ตำบล 2,490 ครัวเรือน 7) อ.บางปะหัน 1 ตำบล 24 ครัวเรือน และ จ.อ่างทอง ได้แก่ อ.ป่าโมก 1 ตำบล 9 ครัวเรือน