รองปลัดภัทราภรณ์ ติดตามผลโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ชี้ แผนงานปี 2568 ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกร สู่การพึ่งพาตนเองได้ 200 ท้องถิ่น
7 พ.ย. 2567
61
0
รองปลัดภัทราภรณ์ติดตามผลโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง
รองปลัดภัทราภรณ์ ติดตามผลโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ชี้ แผนงานปี 2568 ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกร สู่การพึ่งพาตนเองได้ 200 ท้องถิ่น

        นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ครั้งที่ 3/2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 134-135 และผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการหน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ตามนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมุลค่าสูง ตามหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการฯ ปี 2567 สามารถสรุปในภาพรวม ได้ดังนี้

1.    ด้านพืช พบว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว และกรมหม่อมไหม ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ในประเด็นกระบวนการผลิต การต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูป การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ตลอดจนแนะนำแนวทางการขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

2.    ด้านปศุสัตว์ พบว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมปศุสัตว์ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเกษตรและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสินค้าปศุสัตว์ อาทิ แพะ วัว และไก่พื้นเมือง อีกทั้ง สนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเกษตรในการลดต้นทุนการผลิต

3.    ด้านประมง พบว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมประมง ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิตอาหาร เพื่อการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการต่อรองทางการตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรสามารถขยายช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ดำเนินการผลักดันผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามบางแพ เป็นสินค้า GI อีกด้วย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ปี 2568 กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการศึกษาและวางแผนการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในระยะยาว รวมถึงเพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตั้งเป้าหมาย 200 ท้องถิ่น ในโอกาสนี้ รองปลัดเกษตรฯ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานและมุ่งพัฒนาเอกลักษณ์สินค้าเกษตรไทย โดยการต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นดั้งเดิมสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อส่งเสริมการรับรู้และเป็นที่สนใจของตลาด ต่อไป

x
  • รวมเว็บไซต์ทั้งหมด
  • ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ภาคกลาง
  • ภาคตะวันออก
  • ภาคใต้
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง