มะขามป้อม ผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน
21 ธ.ค. 2565
6,344
0
มะขามป้อม ผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน
มะขามป้อม ผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน

มะขามป้อม ผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน งานวิจัยและพัฒนา สู่แปลงปลูกของเกษตรกร ที่แพร่
เนื่องด้วยผู้เขียน มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยป้องกัน บรรเทา บำบัดรักษาโรคดังกล่าว ก็พบว่า มะขามป้อม มีสรรพคุณมากพอที่จะนำมาช่วยบรรเทารักษาโรคได้ โดยเฉพาะช่วยระบายพิษจากระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินโลหิต ทำหน้าที่ขับพิษตกค้าง เป็นต้น ได้ศึกษาจากเอกสาร บทความหลายฉบับ จากสื่อออนไลน์ จากงานวิจัยของบางมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลอภัยภูเบศร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จึงได้นำมาเสนอแบ่งปันข้อมูลยังท่านผู้อ่านด้วย

ในบทความนี้ นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลจำเพาะของมะขามป้อม ประโยชน์ของมะขามป้อม สายพันธุ์ต่างๆ การปลูก การดูแล จากแปลงเพาะปลูกจริงของเกษตรกรในพื้นที่ที่ปลูกเชิงการค้า เพื่อให้ท่านผู้อ่านเกิดความสนใจและมีความมั่นใจ หากจะนำกิ่งพันธุ์มาปลูก หรือเกษตรกรที่ปลูกมะขามป้อมอยู่แล้ว อาจวางแผนขยายพื้นที่และพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด

มะขามป้อม ไม้ดีมีคุณค่า

มะขามป้อม เป็นไม้ยืนต้น

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica (ผลเล็ก)

Phyllanthus indofischeri (ผลใหญ่)

ชื่อสามัญ Indian gooseberry หรือ Malacca tree

อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE

ในประเทศอินเดียและเปอร์เซีย เรียกว่า อัมลา (Amla) หรือ อมาลกะ (Amalaka) แปลว่า พยาบาล

มะขามป้อม พบมากในประเทศแถบเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

ในประเทศไทย พบเห็นกันมานานในป่า จึงเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่งเป็นพืชท้องถิ่นไทย พบมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการขยายพันธุ์พัฒนาพันธุ์กันมาก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี จันทบุรี พิจิตร กำแพงเพชร ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ฯลฯ

และเป็นไม้ประจำจังหวัด ของจังหวัดสระแก้ว

ในบทความเรื่องกินอย่างไร…ไร้โรคภัย เรียบเรียงโดย Td-book.com ตอนเหนึ่งระบุว่า มะขามป้อม เรียกชื่อนี้ได้ทุกภาค แต่ยังมีชื่ออื่นๆ อีกตามท้องถิ่น ได้แก่ กำทวด (ราชบุรี) กันโตด กำทอด (กัมพูชา-จันทบุรี) มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อิ่ว อำโบเหล็ก (จีน) หรือบางแหล่งระบุชื่อ หมากขามป้อม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะขามป้อม

ต้น เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงประมาณ 7 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบเกลี้ยง

ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียว เรียงตัวอยู่ตรงข้ามกัน และอยู่ชิดกัน เรียงอยู่บนกิ่งย่อยขนาดเล็ก (มองดูคล้ายลักษณะเป็นใบประกอบ) รูปขอบขนาน เรียงสลับ กว้าง 0.25-0.5 เซนติเมตร ยาว 0.8-12 เซนติเมตร เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมาก       

ดอก ขนาดเล็ก แยกเพศ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ปะปนกันจำนวนมาก แต่อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ดอกสีขาวหรือขาวนวล ดอกเพศผู้ มีเกสรตัวผู้ 3 อัน ฐานรองดอกมีต่อม 6 ต่อม ดอกเพศเมียมีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย ขอบถ้วยหยัก รังไข่มี 3 ช่อง หลอดท่อรังไข่ปลายแยกเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากัน

ผล ทรงกลม เนื้อหนา 1.2-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเขียวอ่อนค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาว มี 6 เส้น เนื้อผลรสฝาดเปรี้ยว ขมและอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมี 6 เส้น เมล็ดมี 6 เมล็ด สีน้ำตาลดำ

การใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ

เปลือกจากลำต้น ใช้เปลือกที่แห้งแล้วบดให้เป็นผงละเอียดโรยแก้บาดแผลเลือดออก และแผลฟกช้ำ

ใบ ใช้ใบสดมาต้ม ดื่มแก้บวมน้ำ นำมาตำพอกหรือทาบริเวณแผลผื่นคัน มีน้ำหนอง น้ำเหลือง และผิวหนังอักเสบ

ผล ใช้ผลสดกินเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นยาบำรุงทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด ช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟันและคอแห้ง

ซึ่งรายละเอียดยังมีอีก จะได้นำไปกล่าวไว้ในช่วงท้ายของบทความนี้

ผลแห้ง บดให้เป็นผง ชงดื่มแก้ตกเลือด ท้องเสีย โรคบิด แก้โรคดีซ่าน และโรคโลหิตจาง

ราก ใช้ต้มดื่มแก้ร้อนใน แก้โรคเรื้อน แก้ความดันโลหิตสูง และแก้ท้องเสีย

แหล่งปลูกมะขามป้อมในประเทศไทย

พันธุกรรมของมะขามป้อมในประเทศไทย พบเห็นได้จากมะขามป้อมในป่า ในสวนวนเกษตรของผู้เขียนก็มีอยู่หลายต้น แต่ผลมีขนาดเล็ก

ปัจจุบัน มีเกษตรกรนำเมล็ดมาปลูกแล้วคัดเลือกต้นที่ดี และเพาะปลูกหลายๆ ครั้ง จนได้ต้นและผลเป็นที่พอใจ จึงตั้งชื่อเอง แล้วก็นำไปเผยแพร่ เป็นมะขามป้อมยักษ์บ้าง เป็นมะขามป้อมแป้นนั่นแป้นนี่บ้าง

แต่ก็ยังมีการนำเข้ากิ่งพันธุ์มะขามป้อมจากประเทศอินเดียมาปลูกและขยายพันธุ์ เนื่องจากมะขามป้อมอินเดียมีผลขนาดใหญ่มาก 18-20 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม เลยทีเดียว

แหล่งปลูกมะขามป้อมในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี จันทบุรี พิจิตร กำแพงเพชร ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน และจังหวัดพะเยา

ที่จังหวัดแพร่ ก็มีหลากหลายสายพันธุ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามะขามป้อม “จากพืชป่า…เป็นพืชปลูก” และสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกขยายพันธุ์ด้วยตนเอง

ผู้เขียนได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ โดยเริ่มจากตัวจังหวัดแพร่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 แพร่-ลอง ประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือขับรถไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน ประมาณ 15 กิโลเมตร จะผ่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตแพร่ ทางขวามือ ขับรถเลยไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จะอยู่ทางซ้ายมือ

ผู้เขียนได้พบกับเจ้าหน้าที่ตามที่ได้นัดหมายกันไว้ นั่งสนทนากันสักพักหนึ่ง ฟังคำแนะนำ อ่านเอกสารแล้วไปเยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์และแปลงทดสอบมะขามป้อม ตามที่จะได้นำเสนอท่านผู้อ่าน

คุณวิภาดา แสงสร้อย ตำแหน่งนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ โทรศัพท์ (081) 671-1102 และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี 2554 ได้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า แนวนโยบายและแผนการวิจัยและพัฒนามะขามป้อมในระดับชาตินั้น ถือว่ามะขามป้อมเป็นหนึ่งพืชในร่างแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 โดยมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน มีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบด้านเป็นแหล่งทรัพยากรพืชสมุนไพรที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ นั้นได้ดำเนินงานต่อในปี 2559-2563 ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพมะขามป้อม โดยการทดสอบสายต้น (ขอย้ำนะครับ ใช้คำว่า “สายต้น”) มะขามป้อมที่คัดเลือกไว้ในพื้นที่ภาคเหนือ ผลของการตัดแต่งกิ่งที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตมะขามป้อม อิทธิพลของต้นตอที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของมะขามป้อม ศึกษาวิธีการชักนำให้มะขามป้อมออกดอกและติดผล การพัฒนาเครื่องมือแปรรูปสำหรับผลิตภัณฑ์มะขามป้อม ได้แก่ เครื่องบีบผลมะขามป้อมและเครื่องอบแห้งผลไม้สำหรับอบแห้งมะขามป้อม

ผู้เขียนได้สอบถามถึงแรงจูงใจอะไร ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ต้องศึกษาวิจัยและพัฒนามะขามป้อมส่งผลให้ในขณะนี้มีเกษตรกรในเขตอำเภอลอง กำลังตื่นตัวกับการปลูกมะขามป้อมกันหลายราย คุณวิภาดา กล่าวว่า ปัจจุบัน ความต้องการมะขามป้อมเพื่อทำสมุนไพรเป็นการค้ามีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หาซื้อยากและไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนใหญ่ชาวบ้านเก็บผลจากในป่า ซึ่งพื้นที่ป่านับวันจะลดลงเรื่อยๆ ที่สำคัญข้อมูลการผลิตต่างๆ ในประเทศไทยยังมีน้อย เช่น พันธุ์ การจัดการ การผลิตที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง รวมถึงต้นพันธุ์มะขามป้อม (พันธุ์ดี) ที่มีขายเชิงการค้าขณะนี้ราคาก็ยังค่อนข้างสูง

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรอย่างมีคุณภาพแบบครบวงจร ควรมีการร่วมมือกับคนในชุมชน กลุ่มแพทย์ เภสัชกร โรงพยาบาล เพื่อลดการซื้อยาจากต่างประเทศในการรักษาคนไข้ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาให้เป็นระบบการผลิตมะขามป้อมอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ได้ดำเนินการทดสอบการปลูกและคัดเลือกสายต้นมะขามป้อม ในจำนวนพื้นที่ 6 ไร่

การปลูก ใช้ระยะปลูก 6×8 เมตร อาจปลูกพืชอื่นแซมในระยะ 3 ปีแรก เช่น สับปะรด เป็นต้น หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มะขามป้อมจะเจริญเติบโตเร็วมาก และหากมีการจัดการที่ดี ตั้งแต่การเตรียมหลุมปลูก ตัดแต่งทรงพุ่มไว้กิ่งหลัก 3-4 กิ่ง และควบคุมทรงพุ่มให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งการปลูกมะขามป้อมทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.      การใช้เมล็ด มะขามป้อมมีเมล็ดสีน้ำตาลดำอยู่ในกะลาแข็งถัดจากส่วนของเนื้อผล วิธีนี้ต้นมะขามป้อมจะใช้เวลานานในการออกดอกติดผล อาจใช้เวลา 7-10 ปี ทรงต้นจะสูงชะลูด นิยมใช้ต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดมาผลิตเป็นต้นตอ

2.      การทาบกิ่ง โดยการเตรียมต้นตอ อายุ 1 ปี ทาบบนต้นพันธุ์ดีที่ต้องการ ใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ในการออกดอกติดผล และได้ทรงพุ่มที่เตี้ย เก็บเกี่ยวง่าย วิธีนี้จะเปลืองกิ่งพันธุ์ดี แต่จะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง กิ่งมีขนาดใหญ่และโตเร็ว

3.      การเสียบยอด โดยการเตรียมต้นตอ อายุ 1 ปี คัดเลือกยอดพันธุ์ดีมาเสียบยอด นิยมใช้วิธีเสียบลิ่ม แล้วนำต้นตอที่เสียบยอดแล้วอบในถุงพลาสติก ขนาด 24×44 นิ้ว ใช้เวลาอบ ประมาณ 45 วัน รอยแผลจะเชื่อมติดกัน จากนั้นค่อยๆ เปิดปากถุงให้อากาศภายนอกเข้าไปในถุง เพื่อให้ต้นกล้าปรับตัวใช้เวลาอีก 7-10 วัน จึงนำออกจากถุง วิธีนี้จะไม่เปลืองกิ่งพันธุ์ดี และผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

การคัดเลือกสายต้น คุณวิภาดา กล่าวว่า การคัดเลือกสายต้นมะขามป้อมในจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ได้สายต้นที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวนหนึ่ง จึงได้นำยอดพันธุ์เหล่านั้นมาเสียบยอดบนต้นตอมะขามป้อมพื้นเมืองในโรงเรือนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และอีกวิธีหนึ่งคือ ทาบกิ่ง โดยใช้ต้นตอพันธุ์พื้นเมือง จากนั้นจึงนำลงปลูกในแปลงคัดเลือกสายต้น พื้นที่ 2 ไร่ เมื่อคัดเลือกสายต้นอีกครั้ง จึงได้สายต้นลักษณะเด่น โดยมีการบันทึกข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ การเจริญเติบโต ปริมาณและคุณภาพผลผลิต โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผลที่มีขนาดใหญ่ และกลุ่มที่มีสารสำคัญสูง (วิตามินซี สารประกอบฟินอลิก และค่าดัชนีการต้านสารอนุมูลอิสระ) ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์จากมะขามป้อม

สายต้นที่สำคัญ มีอยู่ 6 สายต้น ที่อยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์ ได้แก่

1.      สายต้นวังหงส์ (พร. 01) ต้นแม่พันธุ์ได้มาจากบ้านวังหงส์ ตำบลวังหงส์ อำเภอเมืองแพร่ ลักษณะเด่นคือ ใบมันหนา ใบยาวมาก มีเกสรตัวเมียจำนวนมาก ติดผลดกมาก เป็นพันธุ์เบา

2.      สายต้นปากกาง (พร. 02) ต้นแม่พันธุ์ได้มาจากสวนของเกษตรกรบ้านท่าเดื่อ ตำบลปากกาง อำเภอลอง นำมาเสียบยอด

3.      สายต้นปางเคาะ (พร. 03) ต้นแม่พันธุ์ได้มาจากบ้านปางเคาะ ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย

4.      สายต้นนาคูหา (พร. 06) ต้นแม่พันธุ์ได้มาจากโรงเรียนบ้านนาคูหา หมู่ที่ 5 ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่

5.      สายต้นห้วยลึก (พย. 02) พย. หมายถึง จังหวัดพะเยา ต้นแม่พันธุ์ได้มาจากบ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ

6.      สายต้นแป้นสยาม กิ่งทาบ (กจ. 01) กจ. หมายถึง จังหวัดกาญจนบุรี

คุณวิภาดา ได้กล่าวตอนท้ายว่า การพัฒนาพันธุ์มะขามป้อมยังคงต้องทำต่อไป เพื่อให้ได้สายต้นที่เหมาะสมกับแหล่งปลูกและแนะนำแก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ และขณะนี้ได้นำไปปลูกทดสอบในสวนเกษตรกรพื้นที่อำเภอลอง ตำบลทุ่งแล้ง และแม่ปาน เมื่อปี 2557 พร้อมกับแนะนำให้ปลูกสับปะรดแซมในแปลงปลูก เพื่อจะให้มีรายได้ระหว่างรอเก็บผลมะขามป้อม

“ในอนาคต ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ มีแผนที่จะเป็นศูนย์สร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและแหล่งรับซื้อ รวมทั้งการสนับสนุนการแปรรูปผลมะขามป้อม เช่น การนำมาอบแห้ง แยม กวน ดองหวาน ดองเค็ม น้ำมะขามป้อมพร้อมดื่ม น้ำพริกมะขามป้อม เป็นต้น โดยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่จะเปิดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเกษตรกร สถานศึกษาและบุคคลทั่วไป ภายใต้วลี ผลิตได้ ขายเป็น เน้นคุณภาพ”

พื้นที่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ให้การสนับสนุน ที่ตำบลทุ่งแล้ง ผู้เขียนได้ไปศึกษาสนทนากับเจ้าของสวนเกี่ยวกับการปลูกเชิงการค้า การดูแลเอาใจใส่มะขามป้อมว่าดำเนินการอย่างไร

สวนมะขามป้อมที่ปลูกเชิงการค้า ที่ผู้เขียนขอนำมาเสนอเป็นสวนของ ลุงผล หรือ คุณสิทธิผล เดือนดาว อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 70/6 บ้านอ้ายลิ่ม หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง โทรศัพท์ (089) 955-6528

ลุงผล เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรไม้ผล

เริ่มจากการปลูกส้มเขียวหวาน เนื้อที่ 14 ไร่ จำนวน 560 ต้น

ปลูกและผลิตลองกองนอกฤดู เนื้อที่ 10 ไร่ จำนวน 400 ต้น

ปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียน เนื้อที่ 3 ไร่ จำนวน 75 ต้น

รายได้ปีๆ หนึ่ง หลักสองล้านบาทเลยทีเดียว

ถือว่าเป็นเกษตรกรมืออาชีพโดยแท้ ยากที่จะหาเกษตรกรรายอื่นทำเกษตรไม้ผลเทียบเคียงได้ ที่ว่าเป็นเกษตรกรมืออาชีพ เพราะลุงผลมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ทั้งทางวิชาการ อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ และชีววิทยาของพืชได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน ลุงผล ซื้อที่ดินแปลงใหม่อีก 10 ไร่ เพื่อปลูกมะขามป้อม จำนวน 200 ต้น ลุงผล บอกว่า ได้ปลูกมะขามป้อมมาตั้งแต่ ปี 2555 มี 22 ต้น และได้ปลูกเพิ่มมาเรื่อยๆ ปัจจุบัน จึงมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์วังหงส์ พันธุ์เพชรเมืองลอง (ปากกาง) พันธุ์อินเดีย และพันธุ์แป้นสยาม เป็นแปลงใหม่ อายุ 1 ปี ปลูกล่าสุด

แรงจูงใจที่ทำให้ลุงผลมาปลูกมะขามป้อม ลุงผล บอกว่า “ลุงเป็นเกษตรกรรายแรกที่ปลูกมะขามป้อม ลุงชอบดูโทรทัศน์ ดูสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการเกษตร เห็นเกษตรกรที่จังหวัดกาญจนบุรีเขาปลูกมะขามป้อม มีลูกดกมาก ลุงก็ปิ๊งไอเดียเลย นี่เลยที่ต้องการสมใจนึก คิดว่าถ้าปลูกบ้างน่าจะได้ผล พอดีขณะนั้นทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่กำลังมองหาพื้นที่ให้เกษตรกรปลูกมะขามป้อมเป็นพืชเสริมรายได้ ลุงจึงสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นคนแรก”

การปลูกของลุงผล

ลุงผล อธิบายว่า ก่อนปลูกควรไถพรวนดินเสียก่อน แล้วปรับพื้นที่กำจัดวัชพืชออกให้หมด ดูลักษณะพื้นที่ปลูกมะขามป้อมของสวนลุงผลเป็นเนินเขา มีกรวดหินอยู่ในพื้นดินจำนวนมาก แต่นั่นแหละ ลุงผล บอกว่า “มะขามป้อมชอบดินลักษณะนี้ ถ้าติดดอกเมื่อไรลูกจะดกมาก ดูอย่างมะขามป้อมในป่าซิ มักจะขึ้นตามป่าเนินเขาที่มีดิน หิน กรวด ลูกยังดกเลย”

ลุงผล อธิบายต่อว่า จากนั้นให้จัดผังแปลง กำหนดระยะห่างระหว่างต้น 6×8 เมตร ใช้ไม้ปักหลักไว้เป็นจุดที่จะขุดหลุม ขุดหลุมลึก 30 เซนติเมตร กว้างxยาว 30 เซนติเมตร เช่นกัน ใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุม ใช้ดินกลบเล็กน้อย นำต้นกิ่งพันธุ์ลงปลูก กลบดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นหลัก นำเชือกฟางมามัด ระหว่างต้นกับไม้ไผ่ กันโยกเมื่อโดนลมพัด ยังไม่ต้องรดน้ำ

กล่าวถึงกิ่งพันธุ์ที่ลุงผลนำมาปลูก เป็นกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการเปลี่ยนยอด ไม่ใช่กิ่งพันธุ์จากการตอนหรือจากการเพาะเมล็ด ลุงผลให้เหตุผลว่า ต้นจะโตเร็ว แข็งแรง ขึ้นลูกเร็วกว่า

การดูแลเอาใจใส่ในแต่ละฤดูกาล

“ไม่ต้องจัดการอะไรกับมะขามป้อมมากมายนัก ปล่อยให้เขาดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ เพียงแต่เอาใจเข้าใส่ คอยตรวจตราพวกแมลงไม่ให้มารบกวน ต้องเป็นคนช่างสังเกต ถ้าหญ้ามันรกมากไป ก็กำจัดเสีย ก็เท่านั้น” ลุงผล กล่าว

ให้สังเกตดีๆ ในช่วงฤดูร้อนหรือหน้าแล้ง มะขามป้อมจะผลัดใบหรือสลัดใบทิ้ง แล้วจะแตกยอดใหม่เป็นใบอ่อนเพียงชุดเดียวในเดือนมีนาคม ถ้าต้นมะขามป้อมที่อายุ 3 ปี ต้นสมบูรณ์ เมื่อแตกยอดก็จะเกิดดอกพร้อมกัน ออกเป็นช่อดอกขนาดเล็ก ลุงผล บอกว่า ดอก ผล มะขามป้อมจะไม่เหมือนไม้ผลอื่น ตรงที่ว่าเมื่อดอกบาน จนร่วงโรย ดูผิวเผินคล้ายจะไม่เกิดลูกแต่แท้จริงแล้วดอกมะขามป้อมกำลังจะขึ้นลูก แต่เล็กมากๆ ต้องรอไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จึงจะขึ้นลูกให้เห็น ลุงผลเน้นว่านานมาก

ช่วงระยะเวลานี้ ที่สวนลุงผลไม่ให้น้ำแก่มะขามป้อมเลย เป็นผลไม้ที่ทนแล้งมาก 1 ปี ไม่ต้องรดน้ำก็ยังไม่ตาย แต่ในฤดูฝนได้อาศัยน้ำจากน้ำฝนก็เพียงพอ

ผู้เขียนไม่เห็นการวางระบบน้ำในแปลงมะขามป้อมเลยเช่นกัน ช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน มาดูคำอธิบายของลุงผลในการดูแลมะขามป้อม ว่าระหว่างนี้ต้องศึกษาพฤติกรรมของต้นมะขามป้อมว่า ชอบหรือไม่ชอบอะไร ศึกษาเรื่องการติดดอก ออกผล สังเกตการเจริญเติบโตแต่ละช่วงอายุว่ามีการพัฒนาไปเช่นไร ต้นที่โตช้าแต่เมื่อเกิดดอกออกผลแล้วจะติดผลดกมากนั่นเป็นเพราะธรรมชาติของมะขามป้อม ช่วงติดผลไม่ต้องกังวล อาจจะมีผลร่วงหล่นบ้างเป็นเรื่องปกติ เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง

หมั่นดูแลโรคและแมลง เรื่องโรคจะไม่ค่อยพบ แต่ถ้าเป็นแมลงก็มีบ้าง โดยเฉพาะเพลี้ยไฟและหนอนเจาะลำต้น การป้องกันลุงผลใช้สารสกัดหรือน้ำหมักสมุนไพรจากสะเดาฉีดพ่น ส่วนหนอนเจาะลำต้นซึ่งเกิดจากผีเสื้อกลางคืนตัวขาวๆ ตัวไม่ใหญ่เท่าไร มาวางไข่แล้วฟักตัวเป็นหนอนเจาะเข้าไปในลำต้น ถ้าพบเห็นก็จะใช้สเปรย์ใส่ยาบวกกับน้ำส้มควันไม้ฉีดเข้าไปในรูให้โดนตัว แล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูเท่านี้หนอนก็ตาย “ความจริงแล้ว มะขามป้อมโดยธรรมชาติเป็นพืชที่มีรสฝาด แมลงไม่ชอบ”

เรื่องปุ๋ย “ปุ๋ยก็ใส่บ้าง เน้นสูตร 15-15-15 ใส่ต้นละ 1 กิโลกรัม ใส่ร่วมกับปุ๋ยหมัก ต้นละ 20 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว ช่วงเดือนกรกฎาคม”

เมื่อถามถึงกรรมวิธีในการผลิตปุ๋ยหมัก ลุงผล ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ลุงใช้สูตร 1:2:3 คือ ใช้กากน้ำตาล 1 ส่วน โดยผสมคนเคล้ากับ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพ ใช้ขี้ไก่ 2 ส่วน วัตถุดิบ 3 ส่วน จากซังข้าวโพด”

“ปุ๋ยไม่ใส่เลย มะขามป้อมก็ยังเติบโตให้ผลผลิต แต่ถ้าใส่ก็จะยิ่งเจริญเติบโต ให้ผลดี”

เดือนธันวาคม จะได้ช่วงเวลาเก็บผลผลิต ด้วยการใช้อุปกรณ์สอย ต้นที่มีอายุ 5 ปี ต้นอาจจะสูงสักหน่อย ลุงได้ขอให้ศูนย์วิจัยฯ สร้างเครื่องต้นแบบเครื่องเขย่าผลมะขามป้อมอยู่พอดี คาดว่าฤดูกาลผลิตนี้ลุงผลจะได้ใช้ ปีก่อนให้ผลผลิต ต้นละ 50 กิโลกรัม ขายได้ กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ปีนี้มะขามป้อมติดดกมาก ดกจนกิ่งบางกิ่งหักเกือบทุกต้น

เคยนำผลมะขามป้อมมาชั่งน้ำหนักดู ได้สถิติว่า ถ้าเป็นพันธุ์เพชรเมืองลอง (ปากกาง) จะมีจำนวน 60 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม พันธุ์วังหงส์ 125 ผล ต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นพันธุ์อินเดีย 45 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม

“ปีนี้มีคนจองหมดแล้ว เขาจะนำไปแช่อิ่มอบแห้ง แล้วก็ทำน้ำมะขามป้อมบรรจุขวด” ลุงผล กล่าว

กล่าวถึงการตลาด ลุงผล กล่าวว่า ส่วนใหญ่แหล่งรับซื้ออยู่ในท้องถิ่น ขายได้หมดไม่มีปัญหา ซึ่งต่างจากตอนเริ่มปลูกใหม่ๆ คิดว่าปลูกมะขามป้อมแล้วจะขายผลได้หรือ เพราะไม่มีใครเขาปลูกกัน ลุงผลเป็นเกษตรกรรายแรกที่ปลูก ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน ขณะนั้นยังเป็นกังวลอยู่ ในที่สุดก็มีคนซื้อไปแปรรูป ไปทำเป็นมะขามป้อมแช่อิ่มบ้าง ทำน้ำคั้นจากมะขามป้อมบ้าง ไปทำสมุนไพรบ้าง

ลุงผล วางแผนในอนาคตว่า “จะก่อสร้างอาคารแปรรูปอบแห้งมะขามป้อม รอปรึกษากับทายาท ว่าจะให้รับช่วงไปดำเนินการต่อ”

มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ลุงผลกล่าวไว้ว่า เป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ทั้งจากสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ หากเห็นว่ามีพรรณไม้อะไรแปลกๆ ก็จะตระเวนหาซื้อมาปลูก “ก็ดูอย่างมะขามป้อมที่พาไปดูเมื่อสักครู่นี้ (พันธุ์อินเดีย) ลุงซื้อมา ต้นละ 1,000 บาท ลุงยังซื้อมาปลูกเลย”

ลุงผล ฝากบอกมายังเพื่อนๆ เกษตรกรว่า ลุงผลขอชักชวนให้ปลูกมะขามป้อมกันมากๆ เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่มะขามป้อมเป็นผลไม้สมุนไพรมาแต่โบราณ ใช้เป็นส่วนผสมยารักษาโรคให้แก่มนุษยชาติได้ ส่งผลให้ประชากรมีสุขภาพดี และลดการซื้อยาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะยาแก้ไอ

ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้วเกี่ยวกับข้อมูลจำเพาะของมะขามป้อมสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีการปลูกกันอยู่ การปลูกมะขามป้อมในเชิงการค้า จากกรณีของสวนลุงผล ที่จังหวัดแพร่ ก็มาถึงช่วงสุดท้าย จากประโยชน์ของมะขามป้อมโดยเฉพาะจากผลสด

มีแหล่งข้อมูลรายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรยาที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม ที่ระบุสรรพคุณที่ใช้ในการแก้หวัด วัณโรค ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและแก้ไข้

บ่งบอกว่า แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับมะขามป้อม ย่อมยืนยันได้ว่า มะขามป้อมมีประโยชน์ หรือแม้แต่ประเทศอินเดียก็ใช้เป็นสมุนไพรมาหลายพันปีแล้ว เพราะเป็นยาอายุวัฒนะ ในประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานได้ศึกษาประโยชน์ของมะขามป้อมและได้เผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป ได้แก่

– ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยสารโครเมียมในมะขามป้อม จะช่วยควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและทำให้ร่างกายสนองต่ออินซูลิน

– ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โดยสารเพคตินจะช่วยป้องกันการรวมตัวของเกล็ดเลือด และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ช่วยปรับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

– ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง

– สร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการภูมิแพ้ คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ปากแห้ง

– รักษาสุขภาพช่องปาก โดยป้องกันแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุและกลิ่นปาก

– บำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น สดใส ลดริ้วรอย

เมื่อประโยชน์ของมะขามป้อมมีหลายประการ จึงถูกนำไปใช้ทั้งทางอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และเมื่อนำไปเป็นตัวยาร่วมกับผลไม้อื่นก็ยิ่งเพิ่มคุณค่า เพิ่มสรรพคุณมากขึ้นไปอีก ดังเราเคยรู้จักจากการแพทย์แผนไทยและตำรายาพื้นบ้านในบัญชียาหลักแห่งชาติ และในประเทศอินเดียก็ใช้เป็นยาโบราณ ใช้ผลของมะขามป้อม เป็นส่วนหนึ่งของ “ตรีผลา” ร่วมกับผลสมอพิเภกและผลสมอไทย นำมาผลิตเป็นตัวยา (คำว่า ตรี คือสาม ผลา คือผล รวมกันเรียกว่า ผลไม้ 3 ชนิด)

รายละเอียดเกี่ยวกับยาสมุนไพรตรีผลาขอให้สอบถามที่คลินิกร้านยาโพธิ์เงินโอสถอภัยภูเบศร โทรศัพท์ (037) 211-088 ต่อ 3333

ปัจจัยที่เป็นผลจากมะขามป้อมมีสรรพคุณมากมายหลายประการ ได้สอบถามผู้รู้ บอกว่ามาจากองค์ประกอบทางเคมีธรรมชาติของผลมะขามป้อมนั่นเอง คือ

– มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่าง วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 3 โดยเฉพาะ วิตามินซี กรมอนามัยเคยรายงานไว้ว่า ผลมะขามป้อม 100 กรัม มีวิตามินซีถึง 276 มิลลิกรัม และหากนำผลสดมาคั้นน้ำ จะมีวิตามินซีสูงกว่าน้ำส้มคั้นถึง 20 เท่า

– มีธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร

– มีกรดอินทรีย์ มีสารฝาด สมานและอื่นๆ

– มีสารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปิน ฟลาโวนอยด์ อัลคานอยค์ คูมาริน สารโครเมียม สารเพคติน

ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับมะขามป้อมโดยสถาบันต่างๆ

การศึกษาน้ำคั้นจากมะขามป้อม ในการปกป้องอันตรายจากสาร Doxorubicin ที่มีต่อกล้ามเนื้อหัวใจ พบว่า น้ำคั้นมะขามป้อมช่วยเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจให้อยู่รอดได้

การศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของมะขามป้อม พบว่า สารสกัดมะขามป้อมสามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี

การศึกษาสารสกัดจากมะขามป้อม สำหรับป้องกันเซลล์ผิวจากรังสี UVB พบว่า สารสกัดมะขามป้อมสามารถป้องกันอันตรายจากรังสี UVB ที่มีต่อผิวหนังได้

การศึกษาสารสกัดมะขามป้อมสำหรับใช้ผสมในเครื่องสำอาง พบว่า ใช้สารสกัดมะขามป้อม ขนาด 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการสังเคราะห์เมลานินที่เป็นสาเหตุทำให้ผิวหมองคล้ำ หรือเกิดฝ้าได้

ตกลง