ปลิงทะเล
19 ก.ค. 2567
27
0
ปลิงทะเล
ปลิงทะเล

ปลิงทะเล

ถือเป็นหนึ่งในปลิงทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยกรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลิงขาวในบ่อดิน ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2551 และต่อยอดสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ  

โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากโดยใช้องค์ความรู้สมัยใหม่ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม จนปลิงขาวของที่นี่ขึ้นชื่อ และได้รับตรารับรองให้เป็นสินค้า GI ของจังหวัด

ปลิงขาวพังงาจึงมีอีกชื่อเรียกว่า “ปลิงทะเลเกาะยาว” ลำตัวมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ตัวอวบอ้วน มีลายขวางลำตัวเป็นริ้วสีเทาเข้มหรือสีดำ ผิวเรียบลื่น เนื้อแน่น หนา ไม่เปื่อยยุ่ย เมื่อนำไปปรุงอาหารจะได้เนื้อสัมผัสที่นุ่ม หนึบ ไม่ต่างจากปลิงธรรมชาติที่จับมาจากท้องทะเล

ที่นี่จะเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดิน โดยที่พื้นบ่อมีลักษณะเป็นดินเลนปนทราย ทำให้ปลิงดูดกินสารอาหารจากหน้าดินในบ่อได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีประตูน้ำเปิดปิดให้น้ำทะเลไหลเข้าออกเพื่อช่วยการหมุนเวียนน้ำภายในบ่อ และใช้น้ำที่มีความเค็มไม่ต่ำกว่า 25 ppt ในการเลี้ยง

เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 ปี หรือเมื่อปลิงมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 500 กรัม ก็จับขึ้นมาจำหน่ายหรือทำการแปรรูปได้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 200-350 บาท/ตัว ปลิงพร้อมปรุงราคาเริ่มต้นที่ 350-500 บาท/ตัว และปลิงทะเลแห้งมีราคาเริ่มต้นสูงถึง 5,000 บาท/กก.

จากความสำเร็จของเกษตรกรที่เกาะยาว ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา กรมประมงเปิด “โครงการขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยงปลิงขาวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์”

ได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรใน 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา กระบี่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช

ซึ่ง คุณพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เผยว่า หลังการฝึกอบรม มีเกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงขาวได้จำนวน 1 ราย

สามารถอนุบาลลูกปลิงขาวจากระยะก่อนลงเกาะจนได้ลูกปลิงขาวระยะวัยรุ่นจำนวน 5 ราย และสามารถเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดิน จนได้ปลิงขาวน้ำหนัก 100-300 กรัม จำนวน 8 ราย

“เชื่อว่าเกษตรกรจะนำแนวทางการเพาะพันธุ์ดังกล่าวมาต่อยอด สร้างเครือข่ายและขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ในวงกว้าง และจะผลักดัน “ปลิงขาว” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ในอนาคตได้ในไม่ช้า”

ที่มา : กรมประมง

ตกลง