4 สมุนไพร ลดความดัน
1 กระเจี๊ยบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn.
ชื่อภาษาอังกฤษ Jamaica sorrel หรือ Roselle
ส่วนที่ใช้ คือ กลีบรองดอกสีแดง ทางการแพทย์แผนไทย กระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต ลดความดันโลหิต
จากการศึกษาการใช้ชากระเจี๊ยบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง (Stage 1) โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตและการบริโภคอาหารเหมือนกัน
พบว่า กลุ่มที่ใช้ชากระเจี๊ยบ 2 ถ้วยชา (2.5กรัม) ช่วงเช้านาน 1 เดือน ความดันตัวบนและความดันตัวล่างลดลงทั้ง 2 กลุ่ม แต่กลุ่มที่ใช้ชากระเจี๊ยบมีประสิทธิภาพมากกว่า
2 กระเทียม
ชื่อวิทยาศาสตร์Allium sativum
ชื่อภาษาอังกฤษ Garlic
ภูมิปัญญามีการใช้กระเทียม เพื่อบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ขับลม แก้โรคทางลม
การศึกษาสมัยใหม่ พบว่า มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันตับอักเสบจากสารพิษ และยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดความดันโลหิตสูง
การศึกษา การใช้กระเทียมเม็ดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง (stage1) โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ใช้กระเทียมและกลุ่มที่ไม่ใช้กระเทียม โดยกลุ่มที่ใช้กระเทียมแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ตามขนาดกระเทียมที่ได้รับต่อวัน 300 มก. , 600 มก. , 900 มก., 1200 มก., 1500 มก. ตามลำดับ
และกลุ่มที่ไม่ใช้กระเทียมแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย เป็นกลุ่มที่ใช้ยา Atenolol และใช้ยาหลอกตามลำดับ ทั้งหมดใช้เวลานาน 24 สัปดาห์ จะบันทึกผลในสัปดาห์ที่ 0 ,12 ,24
ผลที่ได้คือความดันโลหิตของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงลดลง ทั้งความดันตัวล่างและความดันตัวบน ของกลุ่มที่ได้รับกระเทียม เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยา Atenolol และใช้ยาหลอก
3 บัวบก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.) Urb.
ชื่อภาษาอังกฤษ Gotu kola
บัวบกเป็นพืชสมุนไพรในแถบเอเชีย มีรสขมเย็น รู้จักกันดีในฐานะยาแก้ช้ำใน บัวบกมีสรรพคุณหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคผิวหนัง โรคกระเพาะอาหาร และช่วยลดความดันโลหิต
การศึกษาสารสกัดใบบัวบกต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของ N-nitro-L-arginine methyl ester ที่ทำให้หนูเกิดความดันโลหิตสูง จะวัดความดันโลหิตจากหลอดเลือด Carotid arteries ขณะหนูสลบ โดยจะได้ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยของหลอดเลือดแดง ความดันโลหิตตัวบน ตัวล่าง และอัตราการเต้นของหัวใจ
พบว่าสารสกัดใบบัวบกช่วยลดค่าความดันโลหิตเฉลี่ยของหลอดเลือดแดง ความดันโลหิตตัวบน-ตัวล่างได้ โดยไม่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง
4 ตะไคร้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
ชื่อภาษาอังกฤษ Lemongrass
ตะไคร้ แก้เสียดแน่น แก้นิ่ว ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ แก้ปวดกระเพาะ แก้เบื่ออาหาร ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง
สอดคล้องกับการศึกษาปัจจุบัน พบว่า ตะไคร้ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากฤทธิ์ขยายหลอดเลือดและฤทธิ์ขับปัสสาวะ
จากการศึกษาศักยภาพในการป้องกันความดันโลหิตสูงของตะไคร้ ตั้งแต่ในหลอดทดลองไปจนถึงการศึกษาทางคลินิก ตะไคร้แสดงฤทธิ์ผ่อนคลายหลอดเลือด การได้รับตะไคร้ ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง บางครั้งอาจมาพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น
การศึกษาในคนที่มีสุขภาพดีและมีความดันโลหิตสูง การบริโภคชาตะไคร้จะช่วยลดความดันโลหิต และยังมีรายงานถึงฤทธิ์ขับปัสสาวะในระดับอ่อนหรือปานกลาง อีกด้วย
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสื่อสารสุขภาพเชิงสร้างสรรค์
จัดทำโดย นักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง