“เกษตรไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด” อดีตนักเรียนนอก กับ“เกษตรผสมผสาน”ที่ทำเงินได้จริง
21 ก.ค. 2566
60
0

ในยุคที่เศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ มีผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าอาชีพการงานจะสร้างกำไรได้มากแค่ไหน ก็มีอันต้องได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ดั่งการโดนต้องคำสาปเลยทีเดียว

แต่สำหรับเขาคนนี้ คุณอภิศักดิ์ พันธุ์ไชย ที่เล็งเห็นถึงทางออก โดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ให้เป็นเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางงานเกษตร และเป็นการเพิ่มรายได้ไปในตัว

“เกษตรนี่มันไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็นทางรอดของเรา”

นี่คือคำกล่าวของคุณอภิศักดิ์ เกษตรกรหนุ่มชาวโคราช ที่อยู่บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 4 ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ผู้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน

จากนักเรียนนอกสู่การเป็นเกษตรกรพื้นบ้าน
คุณอภิศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และปริญญาโทเอกภาษาญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสได้โควต้าไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้รู้จักกับอาจารย์ที่สอนภาษาญี่ปุ่น ท่านก็มีความรู้ความเข้าใจและค่อนข้างสนใจเรื่องของสหกรณ์การเกษตร ท่านก็มักจะพาไปดูการทำเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีความคิดที่จะกลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิดจังหวัดนครราชสีมานั่นเอง เพราะมองว่าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ประเทศไทยดีกว่าประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ก็ตัดสินใจที่จะกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อกลับมาทำการเกษตรที่บ้านทันที

และเนื่องด้วยความที่จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่เป็นจำนวนมากใช้ในการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นแรงสนับสนุนชั้นดีที่ทำให้คุณอภิศักดิ์ กล้าที่จะเดินหน้าทำการเกษตรอย่างเต็มที่

“พอดีที่บ้านทำนากันเยอะ ก็เลยจัดตั้งโรงสีข้าวขึ้นมา พอมีโรงสีเราก็มีรำมีปลายข้าว เราก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปเลี้ยงสัตว์ ก็จะเป็นเป็ดไข่ แล้วก็เลี้ยงค่อนข้างเยอะ ก็เลยทำให้หาอาหารไม่ทัน แรกๆ ลำบากหน่อย พอเลี้ยงมาได้ 6 ปีแล้ว ก็เริ่มรู้แนวทาง และก็ประคองมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้” คุณอภิศักดิ์ กล่าว

พอหลังจากที่เขาได้เทคนิคต่างๆ มากมายจากการเลี้ยงเป็ดไข่ จึงทำให้เขามีเวลาว่างมากพอที่จะมีไอเดียว่า จะปลูกพืชผักสวนครัวต่อทันที แล้วก็ได้หาข้อมูลการปลูกผักสวนครัวจากโลกโซเชียลต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ

หลังจากที่ลงมือปลูกผัก พืชชนิดแรกที่คุณอภิศักดิ์ปลูกก็คือ ถั่วฝักยาว ซึ่งในช่วงแรก คุณอภิศักดิ์ ได้บอกว่า ผลจากการที่ปลูกถั่วฝักยาวเพียงอย่างเดียว ทำให้ทุกครั้งเวลาจะนำไปขาย จะทำให้ขายไม่ออก เนื่องจากถั่วฝักยาวที่ผลิตมีจำนวนเยอะเกินความต้องการ ตลาดทั่วไปจึงไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด

คุณอภิศักดิ์ จึงเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการใช้พื้นที่ที่ตนเองมีเพียง 2 ไร่นั้น ในการจัดทำการเกษตรแบบผสมผสาน

ในอีกด้านคุณอภิศักดิ์ ยังบอกอีกว่า เขาได้ใช้เกษตรประณีตในการปลูกในพื้นที่จำกัด จะมีพืชที่ใช้ปลูกคือ แคบ้าน เพกา กะเพรา โหระพา และแมงลัก โดยให้เหตุผลถึงการเลือกปลูกพืชเหล่านี้ว่า เนื่องจากช่วงหลังๆ ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่บ่อยมาก นั่นรวมถึงที่โคราชด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรหนุ่มคนนี้ เลือกที่จะปลูกพืชที่ทนแล้ง เพราะนอกจากจะสู้ภัยแล้งได้แล้ว ยังเป็นพืชที่ดูแลง่ายและก็สามารถจำหน่ายได้ง่ายด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ คุณอภิศักดิ์ ยังบอกถึงวิธีการจัดตำแหน่งพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรอีกว่า

“ผมมีพื้นที่อยู่ 2 ไร่ ในส่วนของไร่ที่หนึ่ง ผมก็จะแบ่งไว้เลี้ยงสัตว์ ส่วนอีกไร่ก็จะใช้ปลูกพืช…พอดีว่ามันจะมีคลองอยู่ทางด้านหน้าที่ติดถนน ผมก็เลยใช้เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงปลาไป พอมาปีนี้ก็แล้งอีกแล้ว น้ำก็ไม่มี เลยหยุดการเลี้ยงปลาไปก่อน”

จากปัญหาภัยแล้งตรงนี้ทำให้คุณอภิศักดิ์ ต้องทำการเกษตรเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ การเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชผักสวนครัว

วิธีการป้องกันศัตรูพืช
แบบประหยัด
แน่นอนว่าอุปสรรคอันดับต้นๆ ของการทำการเกษตรคือ เรื่องของศัตรูพืชที่พร้อมจะสร้างความเสียหายให้กับพืชผลไร่นา ของเกษตรกรทุกๆ ครัวเรือน ซึ่งถ้าหากเป็นคนทั่วไปอาจจะยังใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัดศัตรูพืชต่างๆ แต่สำหรับคุณอภิศักดิ์แล้ว เลือกที่จะกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ด้วยการใช้พริกแกงในการป้องกันแมลง ซึ่งเขาก็ได้บอกว่า ได้แนวคิดที่จะใช้พริกแกงในการกำจัดศัตรูพืชมาจากโลกโซเชียล นั่นก็คือ ยูทูป เขาได้ศึกษาวิธีการต่างๆ ในยูทูปอย่างละเอียด ก่อนที่จะลงมือผสมพริกแกงตามสูตร (อัตราส่วน พริกแกง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน)

โดยเขาบอกว่า ส่วนผสมของเครื่องพริกแกงจะมีสมุนไพร ซึ่งได้แก่ ขิง ข่า จะคอยช่วยป้องกันเชื้อราไม่ให้ขึ้นพืชและตัวพริกจะใช้ป้องกันแมลงได้ไปในตัว ส่วนโรคพืชจะใช้แต่ไตรโคเดอร์มา และเขายังบอกอีกว่ามีรายการหนึ่งของญี่ปุ่น เขาก็บอกว่าพวกน้ำยาล้างจาน หรือที่เรียกว่า สารจับใบ มันจะไปทำลายผิวของแมลงศัตรูพืช ก็เลยใช้ผสมไปในพริกแกงประมาณ 1 ช้อน เมื่อผสมได้แล้วจะใช้ฉีดทุกอาทิตย์ และที่สำคัญพืชผักที่ได้จะปลอดสารพิษอย่างแน่นอน

ในส่วนของปุ๋ยก็ใช้สิ่งของที่ตนเองมี โดยจะเป็นการใช้แกลบที่มีอยู่ในโรงสีอยู่แล้ว นำไปหมักกับอุจจาระของหมูและอุจจาระของเป็ดที่ได้เลี้ยงเอาไว้ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ย นี่เท่ากับว่าสามารถประหยัดได้ทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของพริกแกงกำจัดแมลง ที่ต้องจ่ายให้กับพริกแกงเพียง กิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น และในส่วนของค่าปุ๋ยก็ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว หรือถ้าเสียจริงๆ ก็ดูจะน้อยมาก

โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะขายได้ดีเกือบทั้งหมด ซึ่งสินค้าที่สร้างรายได้ดีหลักๆ ให้กับคุณอภิศักดิ์ ก็จะเป็นไข่เป็ด แต่ก็จะมีอุปสรรคอยู่ที่หน้าฝน เพราะจะทำให้ผลผลิตไม่สามารถออกได้มากตามที่ต้องการ ส่วนของพืชผักสวนครัวก็สามารถจำหน่ายสู่ตลาดได้เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะการปลูกผักที่หลากหลาย จึงสามารถขายออกได้ทั้งหมด

คุณอภิศักดิ์ บอกว่า ตอนนี้ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เมื่อในสมาชิกกลุ่มได้พืชผักหรือผลผลิตต่างๆ ก็นำมารวมกัน เพื่อไปขายสู่ตลาดกลางในเมืองโคราชอีกที ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพื้นที่ 2 ไร่ ที่มีอยู่ไม่พอกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าชั้นนำในจังหวัด ที่ติดต่อให้นำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า รวมถึงตามตลาดต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมาด้วยเช่นกัน

เกษตรแบบผสมผสาน
ทางเลือกที่ดีกว่า
แต่ก่อนคุณอภิศักดิ์ เคยเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เลือกทำการเกษตรแบบเดี่ยว ด้วยปัจจัยในเรื่องของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนของอาหารสัตว์ที่หามาได้ไม่พอกับจำนวนที่เลี้ยงไว้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณอภิศักดิ์ หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อจะได้ใช้ต้นทุนในการซื้ออาหารสัตว์ได้หลากหลาย ไม่ประสบปัญหาอาหารไม่พอเลี้ยง

“เราก็สามารถใช้ต้นทุนเรา หาอาหารสัตว์ที่แตกต่างกันได้ ตอนนี้เราก็มีหมูป่าอยู่ 14 ตัว ก็จะได้เศษอาหารมาจากโรงเรียนบ้าง ปั๊มน้ำมันบ้าง หรือว่ามีงานตามที่ต่างๆ เราก็สามารถหาเศษอาหารจากจุดๆ นั้นมาได้ เราก็ถือคติที่ว่า ด้านได้อายอดนะ สมัยก่อนเลี้ยงหมูบ้าน 4-5 รุ่น ก็เลยเลิกเลี้ยง มาเลี้ยงหมูป่าแทน เอาเศษอาหารให้อย่างเดียว วันไหนที่โรงเรียนปิดเราก็เอาต้นกล้วยหรือว่าผักบุ้งมาเป็นอาหารแทนได้”

เลี้ยงหมูป่า
ควบคู่กับการทำเกษตรแบบผสมผสาน
หมูป่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย สามารถใช้อาหารท้องถิ่นที่มีอยู่ได้ ปัจจุบันความต้องการในการบริโภคเนื้อหมูมีค่อนข้างมาก แต่มีผู้เลี้ยงน้อย ทำให้ผลผลิตเนื้อหมูป่ามีไม่เพียงพอ ดังนั้น ราคาเนื้อหมูป่าจึงแพงกว่าเนื้อหมูปกติทั่วไป จึงเป็นเหตุที่ทำให้คุณอภิศักดิ์ เลือกเลี้ยงหมูป่าเพิ่มจากเดิมทีที่เลี้ยงเป็ดและไก่ไว้อยู่แล้ว

คุณอภิศักดิ์ บอกว่า เริ่มนำหมูป่ามาเลี้ยงครั้งแรกจากโรงเรียนบุญเหลือ

“ช่วงแรกที่นำมาเลี้ยงมีอยู่ 8 ตัว ในส่วนของตัวผู้เราจะเก็บเอาไว้แค่ตัวเดียว ส่วนตัวเมียจะเก็บไว้เยอะหน่อย สาเหตุที่เราชำแหละตัวผู้ไปเยอะ เพราะจะได้เก็บตัวเมียไว้ทำพันธุ์”

กำไรส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการเลี้ยงหมูป่าคือ การขายเนื้อหมูแบบแยกขายเป็นกอง

“แต่ก่อนเคยมีคนมาซื้อตัวเล็กๆ ตัวละ 1,500 บาท แต่มาคำนวณดูแล้วผมว่ามันไม่คุ้มนะ ถ้าเลือกที่จะเลี้ยงให้โตแล้วชำแหละและแยกขายเป็นกอง ก็จะทำให้มีรายได้ที่ต่างกันออกไป ถ้าขายให้ชาวบ้านก็จะขายกองละ 500 บาท ขายสัก 10 กอง ก็ได้ละประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นบางกอง นี่กองละพันเลย” คุณอภิศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ กำไรที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์เชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังมีพืชผักสวนครัวอีกมากมายที่ปลูกไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

การเอาตัวรอด
ในยุคที่เกษตรมีการแข่งขันสูง
ณ จุดนี้ ประเทศไทยของเราได้ก้าวสู่ AEC แบบเต็มตัวแล้ว แน่นอนว่าเราจะต้องเจอกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะสินค้าประเภทเกษตรที่ตอนนี้ได้มีการนำเข้ามาเป็นอย่างมาก เช่น กระเทียมจีน หอมจีน กะหล่ำปลี เป็นต้น

ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งเราจะได้ความคิดที่ว่า ทำไมเราถึงลองปลูกหรือสร้างพันธุ์พืชต่างๆ ด้วยตัวเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อยู่รอดได้เช่นกัน การเรียนรู้การแปรรูปจากผลผลิตที่เรามีอยู่ ให้เกิดเป็นอาหารหรือสินค้าที่น่าสนใจ จะกลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราได้ทันที

“ตอนนี้ถ้าเรามีสมุนไพรอะไรที่อยู่ในสวน เราก็เอาไปทำน้ำสมุนไพรด้วย และตอนนี้ที่กำลังจะคิดในปีนี้ก็น้ำสมุนไพรที่ใส่หญ้าหวาน ไม่ใส่น้ำตาล ก็กำลังจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไปเลย” คุณอภิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากท่านผู้อ่านมีความสนใจที่จะทำการเกษตรแบบผสมผสาน แต่ต้องการข้อมูลต่างๆ ก็สามารถปรึกษาได้ที่ คุณอภิศักดิ์ พันธุ์ไชย ที่หมายเลขโทรศัพท์ (090) 669-7859

ตกลง