สาวแบงก์ ปลูกผักในกล่องโฟม สร้างอาชีพเสริม ต้นทุนหลักสิบ รายได้หลักร้อย ทำเงินครึ่งหมื่นต่ออาทิตย์
ปัจจัย 4 ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย แต่ในยุคปัจจุบันนอกจากปัจจัย 4 แล้ว ความมั่นคงทางการเงิน กลายเป็นปัจจัย 5 เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยพยุงให้เราปลอดภัยและอยู่รอดได้ ด้วยสถานการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความมั่นคงทางการเงินสำคัญอย่างไร และทำให้กระจ่างว่าการมีรายได้จากช่องทางเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนเริ่มตื่นตัวและต่อยอดสร้างรายได้เสริมกันเป็นจำนวนมาก หากใครกำลังมองหาช่องทางเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน ฉบับนี้เทคโนโลยีชาวบ้านขอแนะนำการปลูกผักสลัดในกล่องโฟมสร้างอาชีพเสริม ที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก หรือใช้เงินลงทุนที่สูง ก็สามารถทำได้ แถมสร้างรายได้ดีมากๆ อีกด้วย
คุณวิพักตร์ อุดทา หรือ คุณก้อย เจ้าของฟาร์มฮัก ผักไฮโดร ตั้งอยู่ที่บ้านอีเลี่ยน ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี สาวแบงก์ปลูกผักสลัดในกล่องโฟมเป็นอาชีพเสริม ต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่ไม่มาก มีงานประจำก็ทำได้ ผลตอบแทนดี ยิ่งขยันยิ่งมีรายได้เพิ่ม
คุณก้อย เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตนเองทำงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ปลูกผักสลัดเป็นอาชีพเสริม เริ่มมาจากที่ตนเองทำเบเกอรี่ขายเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว จากนั้นได้มีการต่อยอดมาทำแซนด์วิชขายเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำแซนด์วิชคือผักสลัด เราต้องใช้ในจำนวนที่เยอะ ในช่วงแรกเป็นการไปซื้อผักสลัดจากตลาดมาทำ แต่พอทำไปสักพักก็สู้กับต้นทุนราคาผักสลัดไม่ไหว จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการซื้อชุดทดลองมาปลูกเอง โดยทดลองปลูกจาก 15 กล่อง แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาดี จากนั้นจึงได้มีการเพิ่มปริมาณการปลูกขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่ฟาร์มปลูกผักสลัดในกล่องโฟมทั้งหมด 200-300 กล่อง ผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่ดี
โดยที่ฟาร์มเริ่มปลูกผักสลัดเป็นอาชีพเสริมเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถือว่าได้สะสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง ทำให้รู้ข้อดีของการปลูกผักในกล่องโฟมคือ ปลูกและดูแลง่าย ผู้ที่มีงานประจำสามารถทำได้ ต่างจากการปลูกผักลงดินที่จะต้องมีขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดินก่อนปลูก เนื่องจากการปลูกผักไฮโดรโปนิกในกล่องโฟม จะมีการดูแลเพียง 2 ปัจจัยหลักๆ คือ น้ำ และธาตุอาหาร AB เท่านั้น
“ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเวลา เราจึงมองว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกน่าจะเหมาะกับเราและคนที่มีงานประจำมากกว่า เพราะขั้นตอนการปลูกการดูแลไม่ยุ่งยาก ใช้พื้นที่น้อย และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนเริ่มต้นปลูก เราเริ่มต้นปลูกในช่วงหน้าหนาวด้วย ทำให้ผักที่ออกมาค่อนข้างสวยและรสชาติดี เราก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ จากคนที่ไม่มีพื้นฐานการเกษตรเลย ก็เดินเข้าไปหาความรู้ โดยการสมัครเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของจังหวัดอุดรธานี ก็ได้ไปแชร์ความรู้มาจากรุ่นพี่ รุ่นน้องในกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยกัน เราก็ได้ข้อมูลมาพัฒนาในฟาร์มของตัวเองจนสามารถผลิตผักที่มีคุณภาพส่งขายได้สำเร็จ”
เทคนิคการปลูกผักสลัดในกล่องโฟม
ต้นทุนต่ำ ผลผลิตคุณภาพ ตลาดต้องการสูง
คุณก้อย บอกว่า เทคนิคการปลูกผักสลัดของที่ฟาร์ม จะเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดในกระดาษทิชชู โดยเริ่มจากการนำกระดาษทิชชูมาวางทับซ้อนกัน วางในกล่องพลาสติก จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ผักที่เตรียมไว้วางบนกระดาษทิชชู ฉีดพรมน้ำเมล็ดพันธุ์พอให้ชุ่ม ปิดฝากล่องให้สนิท นำกล่องที่บรรจุเมล็ดพันธุ์แช่ในตู้เย็นไว้ 2 คืน แล้วนำกล่องมาวางไว้ในห้องมืดอีก 1 คืน จากนั้นสามารถย้ายกล้าลงฟองน้ำได้เลย
ถัดมาคือการนับอายุของผักที่ฟาร์มจะไม่ได้นับตั้งแต่วันที่เพาะเมล็ด แต่จะนับวันที่ย้ายกล้าลงฟองน้ำเป็นวันที่ 1 จะช่วยในการจดจำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผักสลัดใช้ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 40-45 วัน หลังจากย้ายกล้าลงฟองน้ำแล้ว นำไปแช่ลอยน้ำธรรมดาไว้ 15 วัน โดยที่ยังไม่ได้ผสมสารละลายธาตุอาหารลงไป
เมื่อต้นกล้าอายุครบ 15 วัน จะทำการย้ายกล้าลงกล่องอนุบาลอีก 15 วัน โดยกล่องอนุบาล 1 กล่องจะเจาะหลุมปลูกให้ได้ 35 หลุม แล้วเติมน้ำและสารละลายธาตุอาหารลงไปในอัตราส่วน 70-90 ซีซีต่อน้ำ 24 ลิตร ซึ่งวิธีการนับแบบนี้จะช่วยป้องกันการนับผิดพลาด ช่วยให้นับได้ง่ายขึ้นคือ “15 วันลอยน้ำ 15 วันอนุบาล และอีก 15 วันปลูกจริง”
หลังจากอนุบาลครบ 15 วันแล้วทำการย้ายลงกล่องปลูกจริง โดยกล่องปลูกจริง 1 กล่อง สามารถปลูกผักได้กล่องละ 6-8 ต้น หากเป็นผักสลัดที่มีลักษณะเป็นทรงสูง เช่น กรีนคอส จะลงปลูกกล่องละ 8 ต้น แต่ถ้าหากเป็นผักสลัดที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค จะปลูกกล่องละ 6 ต้น เพื่อไม่ให้ผักเบียดกันจนเกินไป ทำให้ต้นเล็ก แคระแกร็น ไม่น่ากิน
การเตรียมกล่องโฟมก่อนปลูก
อันดับแรกต้องทำการล้างกล่องโฟมให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง จากนั้นใช้ถุงพลาสติกปูรองที่ก้นกล่องอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมออกนอกกล่อง จากนั้นเติมน้ำให้เต็ม แล้วพักน้ำไว้ประมาณ 1-2 วัน จึงค่อยเติมธาตุอาหารลงไปในอัตราส่วน 70-90 ซีซีต่อน้ำ 24 ลิตร เป็นปริมาณที่พอดีสำหรับการปลูกผัก 1 กล่อง จากนั้นทำการย้ายกล้าลงหลุมปลูกได้เลย ซึ่งปริมาณการผสมธาตุละลายในขั้นตอนการอนุบาลและการปลูกใช้อัตราส่วนที่เท่ากัน
โดยเคล็ดลับการประหยัดต้นทุนของที่ฟาร์มที่บอกไปว่ามีต้นทุนเพียงหลักสิบ เริ่มตั้งแต่กล่องโฟมที่ใช้เป็นภาชนะปลูก ที่ฟาร์มจะใช้เป็นกล่องโฟมมือสอง ขนาดความกว้าง 39x54x20 เซนติเมตร บรรจุน้ำได้ประมาณ 24 ลิตร ที่ไปขอซื้อมาจากร้านขายอาหารทะเล ในราคากล่องละ 10 บาท เมื่อเทียบกับกล่องโฟมใหม่ไซซ์เดียวกันที่มีราคาต่อกล่องเกือบ 100 บาท ตรงนี้ช่วยลดต้นทุนไปได้เยอะเลย ส่วนต้นทุนอื่นๆ ค่าเมล็ดพันธุ์เมื่อหารออกมาแล้วต้นทุนตกกล่องละ 2-3 บาท ส่วนปุ๋ยหรือธาตุอาหารขวดหนึ่งใช้ได้หลายครั้ง ดังนั้น เมื่อสรุปต้นทุนเฉลี่ยออกมาแล้ว อยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อกล่อง แต่เก็บผักขายได้ถึงหลัก 100 บาทต่อกล่อง
การควบคุมน้ำและธาตุอาหาร หลังจาก 30 วันไปแล้วผักสลัดมีการเจริญเติบโตที่มากขึ้น ก็จะมีการดูดน้ำและธาตุอาหารที่มากขึ้น ก็ไม่ต้องทำอะไรมากเพียงเปิดกล่องแล้วเติมน้ำเปล่าลงไปพร้อมกับการผสมธาตุอาหารลงไปเล็กน้อยเพื่อให้น้ำกับปุ๋ยสมดุลกันเพียงเท่านี้
แต่ถ้าหากเป็นช่วงหน้าร้อนการปลูกผักในกล่องโฟมต้องคำนึงถึงออกซิเจนเป็นพิเศษ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่าถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนให้ใช้ไม้ตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศ เพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำที่อยู่ในกล่อง ช่วยให้รากของพืชเดินได้ดี ไม่เกิดรากเน่า
การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช ส่วนมากปัญหาของโรคและแมลงศัตรูพืชจะเกิดในช่วงหน้าฝน คือโรครากเน่า และหนอนใยผัก ที่เข้ามากัดกินใบของผักสลัด ที่ฟาร์มก็จะใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเติมลงไปพร้อมกับธาตุอาหารแก้ปัญหารากเน่า ส่วนหนอนจะใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ผสมกับยาเส้น หมักทิ้งไว้ 1 คืน ใช้ฉีดพ่นในช่วงเช้า สูตรนี้สามารถฉีดได้ทุกวันช่วงเช้า เริ่มฉีดได้ตั้งแต่ผักช่วงเล็กๆ ไปจนถึงอายุ 30 วัน ถ้าหลังจากนั้นทางฟาร์มจะไม่การฉีดพ่นสารใดๆ ยกเว้นฮอร์โมนนมสด
โดยฮอร์โมนนมสดเป็นการฉีดพ่นทางใบเพื่อบำรุงให้ผักหวาน กรอบ ฉีดพ่นบำรุงตั้งแต่ต้นอายุ 15 วัน โดยส่วนผสมของฮอร์โมนนมสด ได้แก่ 1. นมจืด (ยี่ห้อใดก็ได้) 2. เครื่องดื่มชูกำลัง 3. น้ำตาลทรายแดง และ 4. นมเปรี้ยว ผสมให้เข้ากัน วิธีการใช้น้ำไปผสมกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนฮอร์โมนนมสด 3 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทางใบอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ฉีดเฉพาะตอนเช้าไม่เกิน 10 โมง ช่วยทำให้ผักหวาน กรอบ ไม่ขม
ปริมาณผลผลิต ชนิดของผักที่ปลูกหลักๆ ได้แก่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค กรีนคอส กรีนปัตตาเวีย และสลัดแก้ว โดยจะวางแผนการปลูกต่อรอบ รอบละ 500 ต้น เก็บขายสัปดาห์ละ 500 ต้น เฉลี่ยต้นละ 10 บาท คิดเป็นเงิน 5,000 บาทต่อสัปดาห์ ถือเป็นรายได้ที่ดีมากๆ โดยที่ฟาร์มจะขายผักสลัดในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ตลอดทุกฤดูกาล ส่งขายให้ร้านสลัดโรลกับแม่ค้าประจำ และยังมีในส่วนของการขายปลีกใส่ถุงวางขายที่ตลาดในราคา 3 ต้น 50 บาท จะเป็นราคาที่ขายง่าย และได้ปริมาณที่เหมาะสมกับราคา
สำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกเริ่มต้นยังไง
“ในส่วนของการปลูกผักสลัดถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเราได้ดีมากๆ และที่เคยได้ยินมาคนที่เริ่มปลูกส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้จะไม่ใช่อาชีพเสริมอีกต่อไปแล้ว เพราะรายได้จากการปลูกผักแซงรายได้หลักไปแล้ว ซึ่งถ้าหากใครอยากปลูกบ้างก็แนะนำให้ซื้อชุดทดลองมาปลูกก่อน อย่างก้อยเริ่มต้นจากการซื้อชุดทดลองมาปลูก ซื้อมาชุดหนึ่งสามารถปลูกกินได้เลย เพราะว่าของพี่แรกๆ พี่ก็ปลูกแจกให้เพื่อนที่ทำงาน ให้เพื่อนบ้านกิน แล้วหลังจากนั้นลูกค้าจะตามมาเอง เพราะฉะนั้นการเป็นทั้งเกษตรกรและแม่ค้ามือใหม่ในเวลาเดียวกันนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ เพราะด้วยความที่ผักสลัดเป็นเหมือนสินค้าที่มีความต้องการบริโภคอยู่ทุกวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องออกไปหาตลาดเองด้วย เพราะตลาดไม่ได้เดินมาหาเรา แต่เราต้องเดินไปหาตลาดเพื่อบอกกับลูกค้าให้รู้ว่าสวนของเรา ฟาร์มของเราอยู่ที่ไหน สามารถสั่งซื้อสินค้าจากช่องทางไหนได้บ้าง รวมถึงการกดติดตามเพจเพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้กลายมาเป็นลูกค้าประจำ และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถติดต่อฟาร์มได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องลุ้นว่าวันนี้เราจะมาขายไหม เพียงแค่อินบล็อกมาถามหรือสั่งผักจากเพจได้โดยตรงเลย” คุณก้อย กล่าวทิ้งท้าย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 082-114-4596 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ฟาร์มฮัก ผักไฮโดร