จุลินทรีย์ พด. (กรมพัฒนาที่ดิน) แต่ละแบบ ใช้แบบไหน ให้เกิดประโยชน์
22 พ.ย. 2566
854
0
จุลินทรีย์พด.(กรมพัฒนาที่ดิน)แต่ละแบบ
จุลินทรีย์ พด. (กรมพัฒนาที่ดิน) แต่ละแบบ ใช้แบบไหน ให้เกิดประโยชน์

จุลินทรีย์ พด. (กรมพัฒนาที่ดิน) แต่ละแบบ ใช้แบบไหน ให้เกิดประโยชน์
หลายๆ คนอาจจะคุ้นตากันมาบ้าง แต่ก็มีอีกหลายคนที่อาจจะยังไม่รู้ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาไปรู้จัก พด. คืออะไรกันนะ ต้องบอกก่อนว่า พด. คือ จุลินทรีย์ที่ผลิตโดยกรมพัฒนาที่ดิน มีหลายชนิดมาก โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน มีอะไรกันบ้างไปดูกันเลย

กลุ่มที่ 1 จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช

-สารเร่งซุปเปอร์ พด.1

-สารเร่งซุปเปอร์ พด.2

-จุลินทรีย์ ซุปเปอร์ พด.9

-จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

-ปุ๋ยชีวภาพ พด.12

กลุ่มที่ 2 จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช

-สารเร่งซุปเปอร์ พด.3

-สารเร่งซุปเปอร์ พด.7

กลุ่มที่ 3 จุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อม

-สารเร่ง พด.6

จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ พด. มีหลากหลายสูตรเลยทีเดียว แต่ละสูตรใช้งานยังไง แตกต่างกันแบบไหน วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านได้สรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกัน เกษตรกรบางคนอาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว ใครยังไม่รู้ไปดูกันได้เลย

ารเร่ง พด.1

กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีองค์ประกอบของเซลลูโลสและไขมันที่ย่อยสลายยาก เช่น ทะลายปาล์ม ขี้เลื่อย เปลือกถั่ว เปลือกเมล็ดกาแฟ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็ว เป็นจุลินทรีย์ที่อุณหภูมิสูง เพื่อใช้ผลิตปุ๋ยหมักในช่วงระยะเวลาอันสั้น ประกอบด้วย เชื้อแบคทีเรีย แอคติโนมัยซีส และเชื้อรา

ส่วนผสมในการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน

เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัม

มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม

ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม

(หรือน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลา) 9 ลิตร

สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 1 ซอง (100 กรัม)

วิธีการกองปุ๋ยหมัก

กองปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี วัสดุที่มีขนาดเล็ก คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัสดุที่มีชิ้นส่วนยาวให้กองเป็นชั้นๆ 3-4 ชั้น แบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วนตามจํานวน ชั้นที่กอง ดังนี้

1.       ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร คนนาน 5-10 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์ และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย

2.       การกองชั้นแรกนำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่ง มากองเป็นชั้น มีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม

3.       นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช

4.       โรยปุ๋ยไนโตรเจนทับบนชั้นของมูลสัตว์ หรือรดด้วยน้ำหมักชีวภาพจากปลา

5.       ราดสารละลายสารเร่งให้ทั่วไปโดยแบ่งใส่เป็นชั้นๆ

6.       หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก

ข้าว : ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช

พืชไร่ : ใช้ 2 ตันต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืชแล้วคลุกเคล้ากับดิน

พืชผัก : ใช้ 4 ตันต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน

ไม้ดอกยืนต้น : ใช้ 5-10 กิโลกรัมต่อหลุม

การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก

1.       รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย ให้กองปุ๋ยชุ่มอยู่เสมอ มีความชื้น 50-60 เปอร์เซ็นต์

2.       ควรกลับกองปุ๋ยหมัก 7-10 วันต่อครั้ง เพื่อเป็นการระบายอากาศ เพิ่มออกซิเจนและช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน

3.       เก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้วไว้ในโรงเรือนหลบแดดและฝน

สารเร่ง พด.2 

กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยโปรตีน ไขมัน ช่วยลดกลิ่นเหม็นระหว่างการหมัก และเพิ่มการละลายธาตุอาหารในการหมักเปลือกไข่ ก้าง และกระดูกสัตว์ในเวลาสั้นและได้คุณภาพ ซึ่งเจริญได้ในสภาพที่เป็นกรด 

ส่วนผสมในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ

น้ำหมักชีวภาพจากผักและผลไม้ จำนวน 50 ลิตร (ใช้เวลาในการหมัก 7 วัน)

ผักหรือผลไม้ 40 กิโลกรัม

กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

(หรือน้ำตาลทราย) 5 กิโลกรัม

น้ำ 10 ลิตร (หรือให้ท่วมวัสดุหมัก)

สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ

1.       หั่นหรือสับวัสดุพืชหรือสัตว์ให้เป็นชิ้นเล็กๆ

2.       ผสมกากน้ำตาลกับน้ำในถังหมักคนให้ส่วนผสมเข้ากัน

3.       ใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง ในส่วนผสมของกากน้ำตาลกับน้ำ คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

4.       นำเศษพืชหรือสัตว์ใส่ลงไปในถังหมัก และคนส่วนผสมให้เข้ากัน

5.       ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม

6.       ในระหว่างหมัก คนหรือกวน 1-2 ครั้งต่อวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดียิ่งขึ้น 

การใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพในพื้นที่การเกษตร

ไม้ผล : น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร เจือจางด้วยน้ำ 500  ลิตร ในพื้นที่ 2 ไร่ ใช้ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 1 เดือน ช่วงกำลังเจริญเติบโตก่อนออกดอกและช่วงติดผล

พืชผักและไม้ดอก : น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร เจือจางด้วยน้ำ 1,000  ลิตร ในพื้นที่ 10 ไร่ ใช้ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน

พืชไร่ : ช่วงเจริญเติบโต น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร เจือจางด้วยน้ำ 500  ลิตร ในพื้นที่ 5 ไร่ ใช้ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วันก่อนออกดอกและช่วงติดผล

จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9

เป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงในดินกรด ดินเปรี้ยว ให้อยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้ เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ซึ่งเป็นดินกรดกำมะถันที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH5)

ส่วนผสมในการขยายจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9

ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม

รำข้าวละเอียด 3 กรัม

น้ำ 20 ลิตร

จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 1 ซอง (100 กรัม)

วิธีการขยายเชื้อจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9

1.       ผสมปุ๋ยหมักกับรำข้าวละเอียดให้เข้ากัน

2.       ละลายจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 ในน้ำ คนประมาณ 5 นาที

3.       นำจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 ที่ละลายในน้ำเทลงในส่วนผสมของปุ๋ยหมักและรำข้าว

4.       ผสมวัสดุให้เข้ากัน และปรับความชื้นด้วยน้ำให้ได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

5.       ตั้งกองปุ๋ยในที่ร่มเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร

6.       ใช้วัสดุคลุมเพื่อรักษาความชื้น

7.       ในระหว่างการขยายเชื้อให้รักษาความชื้นกองให้ได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

8.       ขยายเชื้อเป็นเวลา 4 วัน จึงนำไปใช้ได้

อัตราและวิธีการใช้

ข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ : ใช้อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลงหรือใส่ระหว่างแถวก่อนปลูกพืช

ไม้ผล ไม้ยืนต้น : ใช้อัตรา 3 กิโลกรัมต่อต้น

จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนสำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดินชนิดนั้นๆ อีกทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายฟอสฟอรัสในดินให้เป็นประโยชน์แก่พืช เพื่อการใช้ประโยชน์พืชปรับปรุงบำรุงดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนผสมในการขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11

ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

รำข้าว 1 กิโลกรัม 

จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน 1 ซอง (100 กรัม)

วิธีการขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11

1.       ผสมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

2.       รดสารละลายจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน

3.       ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์

4.       กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 4 วัน

อัตราและวิธีการใช้

1.       หว่านปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 ให้ทั่วพื้นที่ปลูกหรือโรยในแถวร่องปลูก 100 กิโลกรัมต่อไร่

2.       หว่านเมล็ดปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับโสนแอฟริกันหว่านเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำแล้ว 1 คืน อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่

ปุ๋ยชีวภาพ พด.12

เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช สร้างฮอร์โมนเร่งการเติบโตของรากและต้นพืช

ส่วนผสมในการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12

ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม

รำข้าว 3 กิโลกรัม

ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 1 ซอง (100 กรัม)

วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12

1.       ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และรำข้าวในน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) คนให้เข้ากันนาน 5 นาที        

2.       รดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้น ให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ (โดยตรวจสอบความชื้นด้วยการกำปุ๋ยหมักเป็นก้อนและไม่มีน้ำไหล ออกมา เมื่อคลายมือออกปุ๋ยหมักยังคงสภาพเป็นก้อนอยู่ได้)

3.       ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ย เพื่อรักษาความชื้น

4.       กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำมาใช้

อัตราและวิธีการใช้

ข้าว : 300 กิโลกรัมต่อไร่

พืชไร่ พืชผัก หญ้าอาหารสัตว์ : 300 กิโลกรัมต่อไร่

ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น : 3-5 กิโลกรัมต่อต้น

สารเร่งซุปเปอร์ พด.3

จุลินทรีย์ที่ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในดินในสภาพน้ำขังที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรากเน่าหรือโคนเน่า ประกอบด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส

ส่วนผสมในการขยายเชื้อซุปเปอร์ พด.3

ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

รำข้าว 1 กิโลกรัม

สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีการขยายเชื้อซุปเปอร์ พด.3

1.       ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที 

2.       รดสารละลายซุปเปอร์ พด.3 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน

3.       ตั้งกองปุ๋ยที่คลุกผสมเข้ากันดีแล้ว เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้นให้ได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์

4.       กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน

อัตราและวิธีการใช้

พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ : 100 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวก่อนปลูกพืช

ไม้ผลและไม้ยืนต้น : 3-6 กิโลกรัมต่อต้น ตอนเตรียมหลุมปลูก ใส่คลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักรองไว้ก้นหลุม ถ้าต้นพืชที่เจริญแล้ว ใส่รอบทรงพุ่มและหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม

แปลงเพาะกล้า : 1-2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลงเพาะกล้า

สารเร่งซุปเปอร์ พด.7

เป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดสารออกฤทธิ์โดยกระบวนการหมักพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ เพื่อผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช

ส่วนผสมในการหมักสมุนไพรสด ควบคุมแมลงศัตรูพืช

พืชสมุนไพร 30 กิโลกรัม

กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

รำข้าว 100 กรัม

น้ำ 30 ลิตร

สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 1 ซอง (25 กรัม) 

วิธีการหมักสมุนไพรสด ควบคุมแมลงศัตรูพืช

1.       สับสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก

2.       นำสมุนไพรและรำข้าวใส่ลงในถังหมัก

3.       ละลายกากน้ำตาลในน้ำ แล้วใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที

4.       เทสารละลายใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าและคนให้เข้ากัน

5.       ปิดฝาถังไม่ต้องแน่น ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่มและคนทุกวัน ใช้ระยะเวลาในการหมัก 21 วัน

อัตราและวิธีการใช้

1.       เจือจางสารควบคุมแมลงศัตรูพืช น้ำ เท่ากับ 1 : 100

2.       ฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน และฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการระบาดของหนอนและเพลี้ย

3.       ควรฉีดพ่นช่วงตัวอ่อนหรือช่วงที่เพลี้ยยังไม่เกิดแป้ง

สารเร่ง พด.6

เชื้อจุลินทรีย์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่มีอากาศหรือมีอากาศน้อย และย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อผลิตสารบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดคอกสัตว์ 

ส่วนผสมในการผลิตจากการหมักขยะสด

เศษอาหารในครัวเรือน 40 กิโลกรัม

กากน้ำตาล 10-20 กิโลกรัม

น้ำ 10 ลิตร

สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีการทำ

1.       ผสมน้ำกับกากน้ำตาลในถังหมักคนให้เข้ากัน

2.       ละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ในส่วนผสมของน้ำและกากน้ำตาล คนประมาณ 5-10 นาที

3.       เทเศษอาหารลงในถังหมัก คนให้ส่วนผสมเข้ากัน

4.       ปิดฝาไม่ต้องสนิท โดยในระหว่างการหมักให้คนทุกๆ 2-3 วัน

5.       ใช้ระยะเวลาหมัก 20-30 วัน กรองน้ำนำไปใช้ได้

อัตราและวิธีการใช้

ใช้บำบัดน้ำเสีย : จำนวน 1 ลิตรต่อน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร โดยเทในน้ำเสียทุกๆ 3-7 วัน จนกว่าน้ำจะใสและกลิ่นลดลง ควรใช้ในสภาพน้ำนิ่งเน่าเสียเริ่มส่งกลิ่นเหม็น

ใช้ทำความสะอาดคอกสัตว์ : ใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นอัตราเจือจางด้วยน้ำ 1 : 10 ราดให้ทั่วพื้นทุกๆ 3 วัน

ผลิตภัณฑ์ พด. ไม่มีวางจำหน่าย หากใครสนใจสามารถติดต่อขอรับฟรีได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่นั่นเองจ้า แต่ละสูตรต่างกันยังไงสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ใต้ภาพได้เลยน้าา

 

ตกลง