การทำการเกษตรปลอดการเผาไหม้
25 พ.ค. 2564
408
0

การทำการเกษตรปลอดการเผาไหม้

               การทำการเกษตรแบบปลอดการเผามีความจำเป็นต้องมีการจัดการระบบการเพาะปลูกพืชให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยควรมีการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เข้ามาใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิตเพื่อสนับสนุนการหยุดการเผาในไร่นาควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช

               การพัฒนาการเตรียมดิน  การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการพัฒนาการเตรียมดิน โดยทำการไถกลบเศษซากพืชที่อยู่ในแปลงเพาะปลูกลงดิน เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา และยังส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตพืชในอีกหลายประการ ดังนี้

1. เป็นการฟื้นฟูโครงสร้างดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกส่งผลให้ปริมาณเนื้อดิน อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศในสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืช กล่าวคือ 45:5:25:25

2. พลิกให้ไข่แมลงและเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในดินกลับขึ้นมาฆ่าทำลายด้วยแสงแดด ส่งผลให้ลดปัญหาเรื่องโรคพืช มีการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชน้อยลง

3. พลิกให้รากวัชพืชกลับขึ้นมา ตากแดดให้แห้งตาย ลดปัญหาเรื่องวัชพืชในแปลงเพาะปลูก มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชน้อยลง

4. ส่งผลให้ดินโปร่งรากพืชชอนไชง่าย พืชหาอาหารได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดีผลผลิตสูง

5. ช่วยดูดยึดธาตุอาหารจากการใส่ปุ๋ยเคมีไม่ให้สูญเสียไปจากดิน ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ลดต้นทุนการผลิต

6. ช่วยเพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดินทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่รวดเร็วจนเป็นอันตรายต่อพืช

7. ช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน

8. ช่วยลดความเป็นพิษจากดินเค็ม

9. ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารในดินและอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและส่งผลช่วยลดปริมาณเชื้อราและโรคพืชบางชนิดในดินลดน้อยลง

               อย่างไรก็ตามการไถกลบเศษซากพืชควรควบคู่ไปกับการใช้สารอินทรีย์ สำหรับเร่งการย่อยสลาย หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการย่อยสลายของเศษซากพืชให้เป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้น

               การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ในช่วงฤดูเพาะปลูก  ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องทำการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ใบอ้อยที่อยู่ในแปลงอ้อยตอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับต้นอ้อยที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยมีแนวทางการจัดการใบอ้อย ดังนี้

1. สับกลบใบอ้อยลงในดิน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินทำให้ดินมีความอุดมสมบรูณ์ พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตสูง

2. ใช้ใบอ้อยปกคลุมดินเพื่อเก็บรักษาความชื้นและลดปัญหาวัชพืช ทั้งนี้ควรมีการจัดทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ข้ามแปลง โดยทำการแบ่งแปลงอ้อยให้เป็นแปลงย่อย และเว้นระยะในแต่ละแปลง รวมถึงควรมีการกวาดรวมใบอ้อยเป็นแนวกันไฟ

               การพัฒนาวิธีการเก็บเกี่ยว  การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นอีกวิธีการ หนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาการเผาก่อนการเก็บเกี่ยวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อย และยังสามารถแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนแรงงานสำหรับเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย ทั้งนี้ การใช้เครื่องตัดอ้อยนอกจากจะไม่ต้องทำการเผาใบอ้อยแล้ว ยังส่งผลให้มีความง่ายและสะดวกในการจัดการแปลงเพาะปลูกอ้อยหลังการปลูก มากยิ่งขึ้น เนื่องจากใบอ้อยถูกตัดสับให้มีขนาดเล็กลงสามารถไถกลบลงดินได้ง่ายขึ้น

               อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยวอ้อยมีราคาสูง เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทุนหรือจัดหามาใช้ได้ด้วยตนเอง จึงควรมีการ ส่งเสริมการจัดระบบการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกันในชุมชน เพื่อเป็นการลดภาระการลงทุนของเกษตรกร และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องจักรกล การเกษตรเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน

ประโยชน์ของตอซังฟางข้าว และใบอ้อย

1.ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน

               ปรับปรุงบำรุงดินทางตรงการไถกลบตอซังฟางข้าว หรือใบอ้อยลงไปในดิน เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในดินต่อไป เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิตในการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย

               ปรับปรุงบำรุงดินทางอ้อมโดยการนำมาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน หรือใช้ปกคลุมดินสำหรับรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชด้วย และเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้เกิดการตรึงไนโตรเจนในดินเพิ่มขึ้นได้ด้วย

2.ใช้เป็นอาหารสัตว์

               ฟางข้าว ยอดและใบอ้อยสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับโคและกระบือได้ทั้งในลักษณะสด แห้ง และหมักโดยใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกับหญ้าหรือใช้เป็นอาหารหยาบหลักแทนหญ้าได้ แต่ต้องเสริมด้วยอาหารข้นหรือใบพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เช่น ใบกระถินหรือใบมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยเฉพาะค่าโปรตีนให้สูงขึ้น เช่นเดียวกับการเลี้ยงโดยให้หญ้าเป็นอาหารหยาบหลัก

3.ใช้เป็นพลังงานทดแทน

               ฟางข้าวและใบอ้อยถือว่าเป็นชีวมวล (Biomass) หรือสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติประเภทหนึ่ง สามารถนำใช้ผลิตพลังงานได้ซึ่งการผลิตพลังงานจากชีวมวล (Biomass Energy Technology) ในปัจจุบันจะเป็นการผลิตในรูปของพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือน้ำมันเชื้อเพลิง

4.อื่น ๆ

               ใบอ้อยสามารถนำมาผลิตกระดาษได้ โดยกระดาษใบอ้อยสามารถนำไปทำบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องห่อของขวัญ บรรจุภัณฑ์ใส่กาแฟ หรือทำเป็นของที่ระลึกในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่นอกจากกระดาษสาที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป

 

ที่มาของข้อมูล : ฝ่ายบริการงานช่างเกษตรกองส่งเสริมโครงการพระราชดําริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตรกรมส่งเสริมการเกษตร https://www.kubotasolutions.com/knowledge/sugar_cane/detail/530 (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564)

 

 

ตกลง