ถนนสายพิษณุโลก-เด่นชัย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปภาคเหนือหลายจังหวัดทั้งเชียงใหม่และเชียงราย เมื่อใช้เส้นทางนี้จะผ่านอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และท่านจะพบร้านค้าขายของฝากริมทางเป็นจำนวนมาก บริเวณข้างทางจะมีต้นตาลอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนมากจะปลูกต้นตาลไว้ในบริเวณที่นา เพื่ออาศัยร่มเงาและบริโภค พื้นที่ที่มีการปลูกต้นตาลกันมากจะอยู่ที่ตำบลท้อแท้ ตำบลวัดโบสถ์ และตำบลท่างาม ซึ่งต้นตาลจะมีอายุประมาณ 40 – 70 ปี สำหรับพื้นที่ปลูกใหม่เพิ่มเติมมีบ้างเพียงเล็กน้อย ประชาชนในพื้นที่ได้นำเอาส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์กันมาก
ด้วยเหตุที่ตำบลท้อแท้มีการปลูกต้นตาลมากนี่เอง เกษตรกรในหมู่ที่ 3 หมู่บ้านเหล่าขวัญ จึงได้ทำการผลิตน้ำตาลสดเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของครอบครัวรองจากอาชีพหลัก การทำนา โดยน้ำตาลสดที่ผลิตได้มีพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อถึงบ้าน และนำไปบรรจุขวดจำหน่ายบริเวณข้างทาง ถนนสายพิษณุโลก-เด่นชัย การทำน้ำตาลสดของชาวบ้านเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ ปัญหาด้านคุณภาพของน้ำตาลสดไม่สะอาด ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งเจือปนและปัญหาอายุการเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน
จากปัญหาการผลิตน้ำตาลสดดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขวัญใจพัฒนาขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการการส่งเสริมของหน่วยงานราชการ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้รับความรู้ด้านการแปรรูปถนอมอาหารในรูปแบบต่างๆ จากตาล โดยขั้นแรกได้นำน้ำตาลสดมากรองและต้ม บรรจุขวดแม่โขงโดยต้องมีการลวกขวดในน้ำเดือด คว่ำให้แห้งบรรจุน้ำตาลสด นำไปต้มอีกครั้งประมาณ 30 นาที ยกลงปิดด้วยฝาพลาสติกสีขาว ทิ้งไว้ให้เย็นปิดฉลากจำหน่ายเก็บได้ประมาณ 1 อาทิตย์ ทั้งนี้เนื่องจากการทดลองทำกรรมวิธีการนี้ เพราะยังขาดวัสดุอุปกรณ์การผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่สะดวกในการพกพาและใช้เป็นของฝากจึงไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดยังไม่ยอมรับการขนส่งก็ลำบากแตกง่าย
ดังนั้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากน้ำตาลของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขวัญใจพัฒนา ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การผลิต เป็นเตาแก๊สพร้อมถังแก๊ส ถังนึ่งฆ่าเชื้อโรค เครื่องอัดฝาจีบให้กลุ่มแม่บ้านนำมาใช้แปรรูปน้ำตาลสด และได้ฝึกอบรมให้ความรู้โดยการนำขวดโซดาวันเวย์ที่ใช้แล้วนำมาล้างและฆ่าเชื้อโรค บรรจุน้ำตาลสด ปิดผนึกด้วยฝาจีบ ผ่านกระบวนการระบบพลาสเจอร์ไรส์ เก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ปี มีการบรรจุกล่องกระดาษชนิดหูหิ้วเป็นของฝาก และได้พัฒนาส่งเสริมรูปแบบสินค้าที่แปรรูปจากตาลชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำตาลโตนด น้ำตาลกะทิ ฯลฯ ให้มีการบรรจุหีบห่อที่ดี หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น จากการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ สินค้าของกลุ่มแม่บ้าน เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้ตรวจโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานและกลุ่มแม่บ้าน ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดบรรจุขวดพร้อมดื่มและน้ำมะขามพร้อมดื่ม ทำการตรวจวิเคราะห์ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการรับรอง ไม่พบเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน ซึ่งกลุ่มแม่บ้านได้ผลิตน้ำตาลสดพร้อมดื่ม ด้วยกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานในระบบการฆ่าเชื้อโรคเสตอรริไรส์ จึงได้รับอนุญาตให้ใช้ฉลากอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (อย.) เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ยอดการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขวัญใจพัฒนามีคณะกรรมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. นางประโลม ทองดอนคำ ประธานกลุ่ม
2. นางลั่นทม นุชเทียม รองประธาน
3. นางยุพิน แพ่งมิ่ง เลขานุการ
4. นางสมหมาย มั่นเหม็น เหรัญญิก
5. นางเดือนรุ่ง น่วมวัตร์ ฝ่ายบัญชี
6. นางพ่ม สังข์ยัง จนท.สต๊อกสินค้า
7. นางประมวล จิตรเมตตา ฝ่ายตลาด
8. นางทองสุข วงษ์เสนา กรรมการจัดการผลิต