กลุ่มแปรรูปปลาส้ม อำเภอบางระกำ ผลิตสินค้าน่าซื้อ อาชีพเสริมสร้างรายได้ หลังว่างจากทำงานการเกษตร
8 มิ.ย. 2567
375
0
กลุ่มแปรรูปปลาส้ม อำเภอบางระกำ ผลิตสินค้าน่าซื้อ อาชีพเสริมสร้างรายได้ หลังว่างจากทำงานการเกษตร

ชาวบ้านในจังหวัดพิษณุโลกมีอาชีพที่สร้างรายได้ด้วยกันหลากหลาย ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำเกษตรกรรม คือ การทำไร่ ทำสวน และการทำนา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและปัญหาอีกหลายประการ อย่างเช่น การเกิดภัยแล้ง ผลผลิตจำหน่ายได้ราคาที่ตกต่ำ ส่งผลให้การทำเกษตรต้องมีการหยุดตัวลง ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง จึงทำให้รายได้จากการทำเกษตรหยุดอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงที่ว่างจากการทำเกษตรมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้หารายได้เสริม ด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูป และจำหน่าย เกิดเป็นรายได้เสริมที่ใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้อย่างดี

กลุ่มแปรรูปปลาส้ม ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ โดยนำปลาหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล และปลายี่สก มาแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่ามากขึ้น โดยนำสินค้าที่ได้ส่งจำหน่ายตลาดในชุมชนและพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อ จนสามารถเกิดเป็นรายได้จากการแปรรูปเป็นปลาส้ม ทำให้สมาชิกภายในกลุ่ม คือเกษตรกรที่ว่างจากการทำเกษตรมีรายได้เสริมมาถึงทุกวันนี้

คุณจำเริญ เพ็ชรน้อย ประธานกลุ่มแปรรูปปลาส้ม เล่าว่า สมาชิกภายในกลุ่มส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและทำสวน เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่นี้ ปรากฏว่าพบปลาออกมาชุกชุมเป็นอย่างมากในบริเวณแหล่งน้ำ ชาวบ้านจึงได้ชักชวนกันจับปลาสดมาเพื่อจำหน่าย แต่แล้วก็ยังไม่สามารถจำหน่ายได้หมด จึงได้หาวิธีนำปลาสดเหล่านั้นมาทดลองแปรรูปเพื่อเป็นการถนอมอาหารและสร้างมูลค่าไปในตัว

“ช่วงแรกที่เรามาทำ ทุกอย่างก็ทำเพื่อเป็นการทดลองสูตร ผลผลิตที่แปรรูปเสร็จ จะแบ่งและแจกจ่ายกันไปกินเองก่อน ยังไม่สามารถขายได้ เพราะสูตรที่เรานำมาทำ ยังไม่เข้าที่และสร้างรสชาติให้กับปลาส้มมากเท่าที่ควร เสร็จแล้วเราก็ลองสูตรและพัฒนากันไปเรื่อยๆ จนได้สูตรที่ตอบโจทย์ และสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับปลาส้มของเรา เมื่อสินค้าเริ่มเข้าที่และมีคุณภาพ จึงนำสินค้าออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ได้เป็นเงินกลับมาคุ้มค่ากับความตั้งใจของสมาชิกในกลุ่มเรา” คุณจำเริญ เล่าถึงที่มาของการสร้างกลุ่มแปรรูปปลาส้ม

ในเรื่องของการหาวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปเป็นปลาส้มนั้น คุณจำเริญ เล่าว่า จะเลือกชนิดปลาที่ลูกค้านิยมรับประทานมาแปรรูป เช่น ปลาจีน ปลายี่สก ปลาตะเพียน และปลานิล โดยปลาสดเหล่านี้จะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาส่งให้ทางกลุ่ม จากนั้นสมาชิกในกลุ่มจะรวมตัวกันเพื่อชำแหละและทำความสะอาดปลาภายในวันนั้นทันที เพื่อให้วัตถุดิบที่จะเตรียมมาทำปลาส้มยังคงมีความสดอยู่ ซึ่งการมารวมกลุ่มเพื่อชำแหละและทำความสะอาดปลาแต่ละครั้ง สมาชิกบางรายหากติดขัดในเรื่องของการทำกิจกรรมภายในไร่นาหรือสวนของตนเอง ก็สามารถหยุดได้ และมาหมุนเวียนกันทำในครั้งต่อไปได้ กลุ่มจึงไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะทุกคนมีความเข้าใจและเกิดความสามัคคีร่วมกัน

สูตรสำหรับทำปลาส้มที่ได้ผ่านการทดสอบและทดลองกันมาหลายต่อหลายครั้ง จนได้เกิดเป็นสูตรที่พัฒนามาใช้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนประกอบต่างๆ ที่นำมาทำปลาส้มประกอบไปด้วย

  1. เนื้อปลาที่จะนำมาทำปลาส้มชนิดใดก็ได้ จำนวน 10 กิโลกรัม
  2. ข้าวเหนียว จำนวน 2 กิโลกรัม
  3. เครื่องปรุงรส
  4. กระเทียม 1 กิโลกรัม
  5. เกลือ โดยใส่ในปริมาณที่สมควร อย่าน้อยหรือมากจนเกินไป
  6. จากนั้นนำส่วนผสมต่างๆ ที่เตรียมไว้ มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน และหมักปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 5 วัน หากช่วงไหนที่เป็นช่วงฤดูหนาว อายุการหมักจะยาวไปถึงเวลา 7 วัน เมื่อส่วนผสมทุกอย่างหมักเข้าที่ก็จะนำปลาที่ผ่านการหมัก มาใส่ถุงบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ ที่มาติดต่อซื้อขายกันไว้
    “ปลาที่เรานำมาแปรรูปก็จะสั่งมาอยู่ที่ประมาณ 70 กิโลกรัม ต่อรอบการผลิต พอสินค้าขายหมดก็จะสั่งรอบใหม่เข้ามาทำ อย่างช่วงในพื้นที่มีการตัดอ้อย ปลาส้มจะเป็นสินค้าที่หมดไวมาก ซึ่งการขายส่วนใหญ่จะมีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงในกลุ่ม ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท โดยปลาทุกชนิดขายอยู่ในราคานี้ราคาเดียว ซึ่งในอนาคตกลุ่มเรามองว่า จะมีการพัฒนาสินค้าต่อยอดไปเรื่อยๆ จนให้ปลาส้มเป็นสินค้าแปรรูปที่ขึ้นชื่อของอำเภอบางระกำ ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาในย่านนี้ต้องซื้อปลาส้มเป็นของฝากกลับไป” คุณจำเริญ บอกเรื่องการทำตลาด
    เวลานี้อาชีพเสริมอย่างการแปรรูปปลาส้ม จึงเป็นอีกหนึ่งงานที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ในบางช่วงไม่สามารถทำการเกษตรกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตได้ แต่ยังมีสินค้าแปรรูปอย่างปลาส้มที่สามารถสร้างรายได้ นำเงินไปใช้จ่ายภายในครัวเรือน และที่สำคัญไปกว่านั้น คุณจำเริญ บอกว่า การได้มามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จึงทำให้เกิดความสามัคคีซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งการทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง ทุกคนได้มาพูดคุย จึงทำให้เกิดความสุขและไม่เหงาอยู่กับบ้าน

 

ตกลง