การทำนาหว่านน้ำตม
29 มี.ค. 2564
2,416
0
การทำนาหว่านน้ำตม

 

การทำนาหว่านน้ำตม

     การทำนาในประเทศไทยนั้นมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือนาดำกับนาหว่าน นาหว่านยังสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ เช่น หว่านสำรวย หรือหว่านแห้ง หว่านน้ำตม หรือการหว่านข้าวงอก การหว่านน้ำตมหรือการหว่านข้าวงอกของชาวปราจีนบุรีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ที่เรียกว่าการหว่านน้ำตมเพราะตอนไถคราด น้ำจะขุ่นเป็นตม แต่เมื่อทิ้งไว้ น้ำก็จะใส การทำนาหว่านน้ำตมของชาวปราจีนบุรีต้องอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียวจึงต้องรอให้ฝนตก ให้น้ำขังในนาก่อน จึงทำการไถและทำเทือก ชาวนาจะหว่านข้าวงอกทันทีเมื่อทำเทือกเสร็จ แล้วทิ้งให้ตกตะกอน เมล็ดข้าวซึ่งหนักกว่าตะกอนจะตกถึงผิวดินก่อน ส่วนตะกอนก็จะตกลงไปทับเมล็ดข้าวอีกที่หนึ่ง ทำให้น้ำไม่สามารถพัดพาเมล็ดข้าวงอกลอยไปที่อื่นได้ ข้าวที่หว่านน้ำตมนั้นจะต้องแช่น้ำ 1 คืน รุ่งเช้าต้องนำขึ้นจากน้ำ ให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปใส่ในกระบุงที่กรุด้วยใบตอง ที่กรุด้วยใบตองเพราะป้องกันไม่ให้รากข้าวชอนไชเข้าไปในกระบุง หลังจากนั้นจึงปิดกระบุงด้วยใบตอง รดน้ำเช้าเย็น ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน ให้ข้าวงอก แล้วจึงนำข้าวงอกไปหว่านในน้ำตมการหว่านนาน้ำตมวิธีนี้เป็นรูปแบบเฉพาะถิ่นในเขตพื้นที่นาที่เป็นดินเปรี้ยวเท่านั้น โดยเฉพาะอำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอศรีมหาโพธิบางส่วน เพราะถ้าดินไม่เปรี้ยว ถึงแม้
จะปล่อยให้ตกตะกอนน้ำก็ยังคงขุ่นอยู่ ข้าวก็จะเน่า แต่สำหรับในพื้นที่นาดินเปรี้ยวเมื่อปล่อยให้ตกตะกอนเพียง
คืนเดียว น้ำก็จะใสแสงแดดสามารถส่องลงไปถึงพื้นดินได้ แม้ในระดับความลึกถึง 50 ซม. ข้าวก็สามารถงอกได้ 
ข้าวนาน้ำตมให้ผลผลิตมากกว่านาหว่านธรรมดา แต่ก็น้อยกว่านาดำ

 

ตกลง