กรมวิชาการเกษตร ชู2 ปุ๋ยชีวภาพตัวท็อปช่วยสลายฟอสฟอรัสในดินส่งต่อพืช เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิต ต้านโรค ทนแล้ง
22 ธ.ค. 2566
145
0
กรมวิชาการเกษตรชู2ปุ๋ยชีวภาพตัวท็อปช่วยสลายฟอสฟอรัสในดินส่งต่อพืช
กรมวิชาการเกษตร ชู2 ปุ๋ยชีวภาพตัวท็อปช่วยสลายฟอสฟอรัสในดินส่งต่อพืช เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิต ต้านโรค ทนแล้ง

แนะเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วย 2 ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซาและละลายฟอสเฟต ตัวช่วยสลายฟอสฟอรัสธาตุอาหารสำคัญของพืชที่ถูกตรึงอยู่ในดินออกมาให้พืชใช้ประโยชน์อีกครั้ง ช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิต แถมเป็นวัคซีนต้านโรครากเน่า ทนแล้ง ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี สุดคุ้มใส่เพียงครั้งเดียวอยู่ได้ตลอดชีวิตพืช ชงใช้ 2 ปุ๋ยร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพคูณ 2 ทำงานเสริมกันทั้งในรากและนอกราก


ปุ๋ยชีวภาพเป็นปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์มีชีวิตที่สามารถสร้างและให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช ปุ๋ยชีวภาพจึงเป็นปุ๋ยทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ช่วยทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรได้ค้นพบไมโคไรซาซึ่งเป็นเชื้อราในดินกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณรากพืชและเจริญเข้าไปในราก โดยอยู่ร่วมกับรากพืชในรูปแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยพืชจะให้อาหารประเภทน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงแก่ไมโคไรซ่า ซึ่งเซลล์ของรากพืชและเชื้อราไมโคไรซ่าจะสามารถถ่ายทอดอาหารซึ่งกันและกันได้ โดยเส้นใยของราไมโคไรซ่าที่เจริญห่อหุ้มรากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากพืชให้สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตในดินส่งต่อให้พืช โดยเฉพาะธาตุอาหารที่สลายตัวยากหรืออยู่ในรูปที่ถูกตรึงไว้ในดินส่งต่อให้กับพืชโดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสที่มักถูกตรึงไว้ในดิน จากคุณสมบัติของเชื้อราไมโคไรซ่าดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพเพื่อส่งต่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพและผลผลิต พืชเจริญเติบโตและทนแล้งได้ดี รวมทั้งยังทนทานต่อโรครากเน่าหรือโคนเน่าที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากราไมโคไรซ่าที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรากพืชจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่าเข้าสู่รากพืชได้ และยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่งของอัตราการใช้ปุ๋ยปกติ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แม้ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าจะมีคุณสมบัติที่ช่วยดูดธาตุอาหารที่สลายตัวได้ยากหรือถูกตรึงอยู่ในดินส่งต่อให้พืชได้นำไปใช้ประโยชน์แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากใช้ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ซึ่งมีคุณสมบัติที่ช่วยละลายธาตุฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพืชมากขึ้น เนื่องจากจุลินทรีย์กลุ่มนี้มีประโยชน์ในการละลายฟอสเฟตออกมาใช้งานเช่นกัน โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตให้บางชุดดินที่วิเคราะห์แล้วพบว่ามีปริมาณฟอสฟอรัสในดินสูง ซึ่งจุลินทรีย์ที่ใส่เติมลงไปจะไปละลายฟอสฟอรัสที่ถูกยึดตรึงอยู่ในดินออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกครั้ง และยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสังเคราะห์สารช่วยในการเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นส่งเสริมต่อการเจริญเติบโตของพืช ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารหลักของพืช ในดินที่ใช้ทำการเกษตรส่วนใหญ่จะมีฟอสฟอรัสสำรองอยู่ในดินปริมาณมากอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีให้กับพืชระหว่างการเพาะปลูกแต่พืชสามารถดูดไปใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเหลือตกค้างอยู่ในดินโดยถูกดินยึดตรึงเอาไว้ จึงทำให้เกิดการสะสมของฟอสฟอรัสในดิน แต่ฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่ประมาณ 95-99 เปอร์เซ็นต์อยู่ในรูปที่ไม่ละลายพืชจึงนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ การขาดฟอสฟอรัสในดินจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซาเป็นเชื้อราในดินที่จะเข้าไปอยู่ในรากของต้นไม้ เป็นกลุ่มที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัส มีความสำคัญต่อการแตกราก ช่วยเพิ่มปริมาณรากให้กับต้นไม้ได้ดี ถ้าขาดฟอสฟอรัสต้นไม้จะแคระแกร็น ส่งผลต่อการติดดอกออกผล ส่วนปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตมีจุลินทรีย์ที่สามารถละลายฟอสเฟตที่มีอยู่ในดินบางรูปที่พืชใช้ไม่ได้ให้ละลายออกมาเป็นประโยชน์แก่พืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น โดยปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตจะทำงานอยู่นอกรากพืช ในขณะที่ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าจะทำงานอยู่ในรากพืช ดังนั้นหากใช้ร่วมกันจะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารฟอสฟอรัสซึ่งเป็นธาตุอาหารสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการผลิตเพราะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และการใส่ปุ๋ยชีวภาพเพียงครั้งเดียวสามารถทำงานอยู่ได้จนตลอดชีวิตของพืช เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 0-2579-7522-3”

ตกลง