ระเบียบคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
พ.ศ. ๒๕๕๔
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๓) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จึงออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. ๒๕๕๔”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
กองทุน” หมายความว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร
ข้อ ๔ กิจการตามโครงการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุน ได้แก่กิจการ ดังนี้
(๑) การส่งเสริมการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนี้
ก. การจัดหาปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นปัจจัยการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความจำเป็นต่อการผลิตและมีคุณภาพ เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม
ข. ให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืมเพื่อการผลิต การเก็บรักษาหรือจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น หรือผลิตภัณฑ์อาหาร โดยจะต้องเสนอรายละเอียดของโครงการ ประโยชน์ที่จะได้รับ และแผนการชำระเงินกู้ยืมคืน
ค. ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ หรือที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำกิน การจัดหากรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในที่ดินให้แก่เกษตรกร การปฏิรูปที่ดิน และจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจะต้องพิจารณา ถึงเหตุผลความจำเป็นของการดำเนินการดังกล่าวและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงประโยชน์สาธารณะ โดยเทียบกับการใช้จ่ายเงินกองทุน
ง. ดำเนินการอื่นใดอันจะก่อประโยชน์ในการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น หรือผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงการส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยจะต้องเสนอ โครงการเป็นรายกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายเงินกองทุน
(๒) การส่งเสริมการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานคุณภาพของผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น หรือผลิตภัณฑ์อาหาร โดยจะต้องเสนอแผนการดำเนินการในการส่งเสริมผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น หรือผลิตภัณฑ์อาหารเป็นรายแผนงาน ประโยชน์ที่จะได้รับหรือประโยชน์สาธารณะโดยเทียบกับการใช้จ่าย เงินกองทุน
(๓) โครงการเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนี้
ก. ซื้อหรือรับจำนำผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหารไม่เกินในราคาที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะต้องเสนอแผนการดำเนินงานและราคาซื้อหรือรับจำนำที่เหมาะสมพร้อมเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา
ข. จำหน่ายซึ่งผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหารภายใน หรือนอกราชอาณาจักร จะต้องเสนอแผนการดำเนินงานและราคาจำหน่ายที่เหมาะสม พร้อมเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา
ค. ดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของราคา และจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จะต้องเสนอแผนการดำเนินงาน หรือโครงการพร้อมเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา
(๔) โครงการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันและขจัดภัยอันจะเป็นผลเสียหายแก่เกษตรกร โดยโครงการที่เสนอจะต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนและประโยชน์ในการป้องกันและขจัดภัย อันจะเป็นผลเสียหายแก่เกษตรกร ทั้งนี้ ต้องไม่ซ้ำซ้อนหรือไม่ขัดกับกฎหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๕) การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการผลิต การแปรรูป หรือการตลาด ซึ่งผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร โดยให้เสนอรายละเอียดการศึกษาดังกล่าวรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับหรือประโยชน์สาธารณะ
กรณีที่ไม่มีกองทุนอื่นใดรับผิดชอบในกิจการตาม (๑) ถึง (๕) ให้คณะกรรมการพิจารณาให้การสนับสนุนได้
องค์กรเกษตรกรสามารถขอยื่นคำขอรับจัดสรรเงินได้โดยตรงเฉพาะกรณีตาม (๑) ก และ ข และ (๕) โดยจะต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ของแต่ละองค์กรให้ความเห็นชอบและในกรณีองค์กรเกษตรกร ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นสินเชื่อแก่สมาชิกขององค์กรเกษตรกรจะต้องเสนอผ่านหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล
ข้อ ๕ ภายในระยะเวลา ๓ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. ๒๕๕๔ ใช้บังคับ ให้องค์กรเกษตรกรขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนผ่านหน่วยงานของรัฐ ดังต่อไปนี้
(๑) สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม ชุมนุมสหกรณ์ดังกล่าวและกลุ่มเกษตรกร ให้ยื่นต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์
(๒) วิสาหกิจชุมชนให้ยื่นต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
(๓) องค์กรเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้ยื่นต่อสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(๔) องค์กรเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้ยื่นต่อสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ในกรณีองค์กรเกษตรกรขอกู้ยืมเงิน ให้หาหลักทรัพย์หรือคณะกรรมการบริหารองค์กร และผู้จัดการหรือผู้ที่ทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวมาค้ำประกันการกู้ยืม
ข้อ ๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาอนุมัติเงินกองทุน สำหรับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานและค่าบริหารโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม
ข้อ ๗ โครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์การผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล หากหน่วยงานของรัฐที่เสนอโครงการมีกองทุนที่ให้การส่งเสริมหรือสงเคราะห์โดยเฉพาะอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้จัดสรรเงินให้หน่วยงานของรัฐนั้นได้
ข้อ ๘ ให้นำประวัติการใช้จ่ายเงินกองทุนของส่วนราชการย้อนหลัง ๓ ปี มาเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุน
ข้อ ๙ การพิจารณาโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิต ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเกษตรกรได้รับจัดสรรไม่เกินร้อยละแปดสิบของแผนการใช้เงินของโครงการ
ข้อ ๑๐ การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อดำเนินธุรกิจขององค์กรเกษตรกรให้พิจารณาอนุมัติวงเงินได้ไม่เกิน ๕ เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองขององค์กรเกษตรกร เว้นแต่กรณีที่มติที่ประชุมใหญ่ขององค์กรเกษตรกรเห็นชอบให้กู้เกินกว่า ๕ เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองขององค์กรเกษตรกร ในกรณีองค์กรเกษตรกรไม่มีทุนเรือนหุ้น หรือทุนสำรองและวงเงินที่ได้รับจัดสรรไม่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่เสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงวงเงินที่กำหนดในวรรคแรกเพื่อประกอบการพิจารณา
ข้อ ๑๑ การพิจารณาโครงการที่เสนอต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่สถาบันการเงินหรือกองทุนอื่นได้อนุมัติแล้ว
ข้อ ๑๒ โครงการเพื่อสนับสนุนงานวิจัยของส่วนราชการหรือองค์กรเกษตรกร ต้องกำหนดให้ผลงานหรือสิทธิในผลงานหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
เฉลิมพร พิรุณสาร
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประธานกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร