รมว.เกษตรฯ​ ร่วมกล่าวเปิดการเสวนา Hand-in-Hand Investment Forum ในการประชุม​ World​ Food​ Forum
15 ต.ค. 2567
20
0
รมว.เกษตรฯ​ร่วมกล่าวเปิดการเสวนา
รมว.เกษตรฯ​ ร่วมกล่าวเปิดการเสวนา Hand-in-Hand Investment Forum ในการประชุม​ World​ Food​ Forum

"รมว.เกษตรฯ​ ร่วมกล่าวเปิดการเสวนา Hand-in-Hand Investment Forum ในการประชุม​ World​ Food​ Forum. แลกเปลี่ยนแนวทาง​ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาภาคเกษตร"
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567​ ณ​ สำนักงานใหญ่​ FAO กรุงโรม​ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการเสวนาหัวข้อ Hand-in-Hand Investment Forum​ ซึ่งเป็น​อีกหนึ่ง​ Flagship​ สำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร จัดขึ้นระหว่างห้วงการประชุม World Food Forum (WFF) โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานและตัวอย่างผลสำเร็จในการส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนเพื่อการพัฒนาของทุกภาคส่วน​ ที่จะนำนำไปสู่การมี "Good food for all, for today and tomorrow” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้แทนจาก Central American Bank for Economic Integration (CABEI) ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสภาเศรษฐกิจโลก
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบอาหารและเกษตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างความเข็มแข็งให้แก่เกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อีกทั้งยังมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรเทคโนโลยี” ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี มุ่งเน้นไปทางสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี ส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนไปด้วย “Innovative” เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ “Competitive” เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ “Inclusive” เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ประเทศไทย​ ขับเคลื่อนการลงทุน​ โดยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร และปรับใช้แนวทาง BCG ประกอบด้วย​ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจ สีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา​ไทยได้ดำเนินการส่งเสริมการลงทุนแก่ภาคเกษตรตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
“โลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย การลงทุนในภาคเกษตรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจฐานราก จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาผ่านกลไกการลงทุนและความร่วมมือ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รมว.เกษตรฯ กล่าวทิ้งท้าย

ตกลง