รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกันยายน 2567
8 ต.ค. 2567
31
0
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกันยายน 2567
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกันยายน 2567

FAO รายงานดัชนีราคาอาหารโลกประจำเดือนกันยายน 2567 (Food Price Index, FFPI) อยู่ที่ 124.4 จุด เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนสิงหาคม จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุกประเภทตั้งแต่ 0.4% ถึง 10.4% และเป็นการเพิ่มขึ้นแบบเดือนต่อเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565

 ที่มา www.fao.org/worldfoodsituation/foodpricesindex/en  (4 ตุลาคม 2567)

ดัชนีราคาธัญพืช เฉลี่ยอยู่ที่ 113.5 จุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 3.3 จุด (3.0%) จากเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในประเทศแคนาดาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกหลัก ที่อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและผลผลิตน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับดัชนีราคาข้าวโพดโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมาเดย์ราในบราซิลและแม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกาลดลง รวมทั้ง มีความต้องการภายในประเทศบราซิลที่มากขึ้นและอัตราการส่งออกที่คงที่จากอาร์เจนตินา ในขณะที่ดัชนีราคาข้าวลดลง 0.7% ในเดือนกันยายน เนื่องจากการซื้อขายที่ชะลอตัวโดยทั่วไปและราคาข้าวบาสมาตีของอินเดียลดลงจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่และการที่รัฐบาลอินเดียยกเลิกราคาขั้นต่ำที่ใช้ในการจดทะเบียนการส่งออกข้าวบาสมาตี

ดัชนีราคาน้ำมันพืช เฉลี่ยอยู่ที่ 142.4 จุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 6.2 จุด (4.6%) จากเดือนสิงหาคม และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2566 การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีราคาน้ำมันพืชมาจากราคาน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ทานตะวัน และเมล็ดเรพซีดที่สูงขึ้น โดยราคาน้ำมันปาล์มระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน สาเหตุหลักมาจากความกังวลเกี่ยวกับการผลิตที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการลดลงของผลผลิตตามฤดูกาลในประเทศผู้ผลิตหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันถั่วเหลืองทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น มาจากผลผลิตที่น้อยกว่าที่คาดไว้ในสหรัฐอเมริกา สำหรับน้ำมันทานตะวันและเมล็ดเรพซีด มีราคาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนกันยายนจากแนวโน้มการลดลงของอุปทาน

ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นม เฉลี่ยอยู่ที่ 136.3 จุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 5 จุด (3.8 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนสิงหาคม การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมเกิดจากราคาผลิตภัณฑ์นมทั้งหมวดสูงขึ้น โดยราคานมผง whole milk powder ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากมีความต้องการนำเข้าสูงจากภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าจะมีการผลิตนมที่สูงตามฤดูกาลในโอเชียเนียก็ตาม ในขณะที่ราคานมผงขาดมันเนย เนยและชีสเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการนำเข้าสูงและอุปทานการส่งออกที่จำกัดจากยุโรปตะวันตก

ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ เฉลี่ยอยู่ที่ 119.6 จุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 0.4 จุด (0.4 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนสิงหาคม การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาเนื้อสัตว์เกิดจากราคาสัตว์ปีกที่สูงขึ้น สะท้อนถึงความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากบราซิล สำหรับราคาเนื้อวัวและเนื้อหมูยังคงคงที่ เนื่องจากปริมาณที่จำกัดจากประเทศผู้ผลิตหลักยังเพียงพอต่อความต้องการนำเข้าทั่วโลก ในขณะที่ ราคาเนื้อแกะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการนำเข้าจากจีนที่ลดลง

ดัชนีราคาน้ำตาล เฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 จุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 11.9 จุด (10.4 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนสิงหาคม เกิดจากความกังวลถึงปริมาณน้ำตาลที่อาจลดลงในฤดูกาล 2567/2568 ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์สภาพอากาศแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องและไฟไหม้ที่ทำลายพื้นที่ปลูกอ้อยในบราซิลในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทั่วโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลถึงการส่งออกน้ำตาลของอินเดียที่อาจได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลในการยกเลิกข้อจำกัดในการใช้อ้อยสำหรับการผลิตเอทานอล

ตกลง