‘ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา’ สินค้า GI พืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง #OAE_Navigator #สศก
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่จังหวัดยะลาให้การส่งเสริมเป็นสินค้ามูลค่าสูง เนื่องจากเป็นไม้ผลที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดย “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” หรือ Sa-Ded Nam Yala หรือ Durian Sa-Ded Nam Yala เป็นสินค้าอัตลักษณ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดยะลา สภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยผืนป่า ภูเขา สายน้ำ แร่ธาตุในดิน จึงส่งผลให้คุณภาพของทุเรียนในพื้นที่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือ เนื้อทุเรียนแห้ง ไม่แฉะ รสชาติหวานมัน เส้นใยน้อย คุณภาพดี
ด้านสถานการณ์การผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ปี 2567 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 96,234 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 91ของเนื้อที่ปลูกทั้งจังหวัด เนื้อที่ให้ผล 66,788 ไร่ ผลผลิตรวม 76,739 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,149 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรปลูกทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ที่เหมาะสมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เกษตรกรในพื้นที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายนของทุกปี หรืออาจจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปี ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่นิยมปลูก (ราคาเฉลี่ยปี 2567 ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด) ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง เกรดคละ ราคา 85 บาท/กิโลกรัม เกรดส่งออก AB ราคา 65.50 บาท/กิโลกรัม พันธุ์ก้านยาว เกรดคละ 57.58 บาท/กิโลกรัม และพันธุ์ชะนี เกรดคละ 48.89 บาท/กิโลกรัม
“สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา GI ทางจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเกษตร ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ สร้างแบรนด์ ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากเศษทุเรียนเป็นสินค้าสร้างรายได้” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ ภาพรวมของทุเรียนจังหวัดยะลา พบว่า มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 14 แห่ง ที่ดำเนินการรวบรวมผลผลิตทุเรียน เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด และมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและตลาดทุเรียน 1 แห่ง โดยดำเนินการคัดเกรด แยกผลผลิตสู่ช่องทางต่างๆ ตรวจสอบ ย้อนกลับ ขับเคลื่อนการจัดการทุเรียนอ่อน ได้ถ่ายทอดความรู้การแปรรูปแก่องค์กรเกษตรกร และส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ซึ่งบูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด จัดตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.) ในพื้นที่ศูนย์ดินปุ๋ยชุมชนของสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา 2 แห่ง ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา เพื่อดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาปุ๋ยไว้ใช้ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรทั่วไปในอำเภอรามัน ได้มีการผลิตไตรโคเดอร์มา สารชีวภัณฑ์ แหนแดง แมลงหางหนีบ กำจัดเพลี้ย BS DOA20W16 และเห็ดเรืองแสงสิริรัศมี เพื่อแก้ปัญหาลดการใช้สารเคมีในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา GI สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรือ อีเมล์ zone9@oae.go.th
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา