กรมการข้าว ประกาศรับรอง 10 ข้าวพันธุ์ใหม่ เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10
11 เม.ย. 2567
55
0
กรมการข้าว ประกาศรับรอง 10 ข้าวพันธุ์ใหม่ เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10

กรมการข้าว ประกาศรับรอง 10 ข้าวพันธุ์ใหม่ เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ชี้แต่ละสายพันธุ์โดดเด่น ตรงความต้องการของตลาด เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร

สำหรับ 10 ข้าวพันธุ์ใหม่ ที่กรมการข้าวประกาศรับรอง เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 72 พรรษา ประกอบด้วย

1. กข99 (หอมคลองหลวง 72)
เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 115 วัน ให้ผลผลิต 957 กิโลกรัมต่อไร่ แนะนําใช้ปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคเหนือตอนบนที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวหอมไทย ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อ่อนแอต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง

2. กข103 (หอมชัยนาท 72)
เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่มไวต่อช่วงแสง อายุเบา ออกดอกประมาณวันที่ 15 ตุลาคม อะมิโลสต่ำ คุณภาพการหุงต้ม และรับประทานดี ผลผลิตเฉลี่ย 596 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิต 875 กิโลกรัมต่อไร่ แนะนำปลูก ในพื้นที่นาน้ำฝนภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้งในเขตภาคกลาง ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้งในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะ จังหวัดพิษณุโลก รวมถึงค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

3. กข105 (เจ้าพระยา 72)
เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 100-110 วัน (หว่านน้ำตม) และ 110-116 วัน (ปักดำ) ให้ผลผลิต 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ แนะนําปลูกพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้

4. กข107 (พิษณุโลก 72)
เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็งหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 107 วัน (ฤดูนาปี) และ 108 วัน (ฤดูนาปรัง) เมื่อปลูก โดยวิธีปักดำ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนน้ำท่วมฉับพลันปานกลาง ให้ผลผลิต 1,070 กิโลกรัมต่อไร่ แนะนํา พื้นที่นาชลประทานในเขตภาคเหนือตอนลางและภาคกลาง ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

5. กข109 (หอมพัทลุง 72)
เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่มไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว (102 วัน วิธีหว่านน้ำตม และ 112 วัน วิธีปักดำ) ให้ผลผลิตสูงสุด 1,086 กิโลกรัมต่อไร่ แนะนําปลูกพื้นที่นาชลประทานภาคใต้ ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นประจำ

6. กข24 (สกลนคร 72)
เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี ออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณวันที่ 21 ตุลาคม เก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 23 พฤศจิกายน ผลผลิตเฉลี่ย 663 กิโลกรัมต่อไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ มีลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้มดีกว่าพันธุ์ กข6 และ กข18 ต้านทานโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนะนําให้ปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการระบาดของโรคไหม้ ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง ขอบใบแห้ง แมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และ กข18

7. กข26 (เชียงราย 72)
เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน ให้ผลผลิต 1,152 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้ระยะกล้าในภาคเหนือตอนบน แนะนําปลูกพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนบน ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง ขอบใบแห้ง แมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

8. กขจ1 (วังทอง 72)
เป็นข้าวญี่ปุ่น หรือจาปอนิกาไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 98-113 วัน (นาปี และ 105-123 วัน (นาปรัง เมื่อปลูกโดยวิธีปักดำให้ผลผลิต 953 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้ แนะนำปลูกพื้นที่นาชลประทานในเขตภาคเหนือตอนบนและล่าง ข้อควรระวังอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

9. กขส1 (สะเมิง 72)
เป็นข้าวสาลี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 89 วัน เมื่อปลูกโดยวิธีโรยเป็นแถว ผลผลิตเฉลี่ย 441 กิโลกรัมต่อไร่ให้ผลผลิตสูงถึง 569 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพของโปรตีนเหมาะสมสำหรับทำแป้งขนมปัง มีค่าความหนืดสูงสุด แนะนําปลูก ภาคเหนือตอนบน ข้อควรระวัง การปลูกล่าช้าอาจทำให้เกิดโรคใบจุดสีน้ำตาล

10. หอมหัวบอน35 (กระบี่ 72)
เป็นข้าวไร่ไวต่อช่วงแสง อายุวันออกดอก ระหว่าง 21 กันยายน-17 ตุลาคม เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวหุงสุกมีกลิ่นหอมเหมือนเผือก มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Gamma Oryzanol และ Total antioxidant ค่อนข้างสูง ต้านทานโรคไหม้ในระยะกล้า แนะนําปลูกในสภาพไร่แซมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ปลูกใหม่ อายุ 1-3 ปี ในภาคใต้ ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ที่มาของข้อมูล: เทคโนโลยีชาวบ้าน
ตกลง