พ.ศ. 2475 กระทรวงเกษตรพาณิชยการ
เมื่อ พ.ศ. 2475 กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม ได้รวมเข้าเป็นกระทรวงเกษตรพาณิชยการ โดยย้ายกรมทะเบียนที่ดิน กรมรังวัดที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมราชโลหกิจ จากกระทรวงเกษตราธิการไปขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้ระบุให้มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ขึ้นแทนตำแหน่งเสนาบดี และเปลี่ยนตำแหน่งปลัดทูลฉลองเป็นปลัดกระทรวงในเวลาต่อมา
พ.ศ. 2476 กระทรวงเศรษฐการ
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงเกษตรและกรม พ.ศ. 2476 เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตรพาณิชยการเป็นกระทรวงเศรษฐการ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อกรมตรวจกสิกรรมเป็นกรมเกษตร กรมรักษาสัตว์น้ำเป็นกรมประมง ส่วนกรมป่าไม้ กรมทะเบียนที่ดิน กรมรังวัดที่ดิน และกรมราชโลหกิจ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยนั้นได้โอนกลับมาอยู่ในสังกัดตามเดิม โดยรวมกรมทะเบียนที่ดินและกรมรังวัดที่ดินเข้าด้วยกันเป็นกรมที่ดิน นอกจากนั้น มีการเปลี่ยนนามเกษตรมณฑล และเกษตรจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานที่ดินมณฑล และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตามลำดับ กระทรวงเศรษฐการในสมัยนั้น ให้ความสำคัญกับหน้าที่ด้านการเกษตรเป็นอันดับแรก จึงใช้ตราพระพิรุณทรงนาค ซึ่งเป็นตราใหญ่ประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการอยู่ก่อนแล้ว มาเป็นตราประจำตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการด้วย จากนั้น เมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 ได้แยกกระทรวงเกษตราธิการออกจากกระทรวงเศรษฐการ ตั้งเป็นอีกกระทรวงหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตรเป็นสำคัญ
พ.ศ. 2478 กระทรวงเกษตราธิการ
กระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2478 ซึ่งต่อมามีการแยกกรมเกษตร และการประมงออกเป็นกรมเกษตร และกรมประมง แยกกรมที่ดินและราชโลหกิจเป็นกรมที่ดิน ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และกรมราชโลหกิจขึ้นอยู่กับกระทรวงการเศรษฐกิจ แยกกองสัตวบาลและกองสัตวลักษณ์ออกจากกรมเกษตร จัดตั้งเป็นกรมใหม่คือ กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ และได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2486
พ.ศ. 2495 กระทรวงเกษตร
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตราธิการเป็นกระทรวงเกษตร พร้อมทั้งเปลี่ยนนามกรมเกษตรเป็นกรมกสิกรรม และกรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะเป็นกรมการปศุสัตว์ ตลอดจนก่อตั้งกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกกรมหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้โอนไปอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น ได้แยกกรมสหกรณ์ออกมาเพื่อสถาปนาเป็นกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2495 จากนั้น มีการแยกกองการข้าวและทดลองในกรมการกสิกรรมออกไปตั้งเป็นกรมใหม่คือกรมการข้าว พร้อมทั้งเปลี่ยนกรมการกสิกรรมเป็นกรมกสิกรรม กรมการประมงเป็นกรมประมง และกรมการปศุสัตว์เป็นกรมปศุสัตว์ เมื่อมีการตั้งกระทรวงพัฒนาแห่งชาติขึ้นใหม่กรมชลประทาน และกองการกสิกรรมเคมี จึงย้ายไปสังกัดที่กระทรวงใหม่นี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น เพื่อสนองนโยบายในการส่งเสริมการเกษตรของประเทศให้เจริญก้าวหน้า และจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยรวมทุนกับประเทศ เดนมาร์คในการจัดตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมขึ้นด้วย
พ.ศ. 2505 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในวันที่ 1 ตุลาคม 2505 มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ให้ยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติโดยโอนกรมส่งเสริม สหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน มาอยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น " กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ " ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการจัดตั้งกรมวิชาการเกษตรซึ่งรวมกรมกสิกรรม และกรมการข้าวเข้าด้วยกัน ตามนโยบาย ที่จะปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการรวมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานคล้ายคลึง กันเข้าเป็นกรมเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ในด้านการผลิตและการตลาดเป็นสำคัญ การจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรมเพื่อกระจายที่ดินให้แก่เกษตรกร ผู้เช่าหรือผู้ไร้ที่ดินให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือเป็นของสถาบันเกษตรกร รวมถึงกลุ่มสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ด้วย เพื่อการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ การจัดระบบการผลิต การจัดจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ให้กับเกษตรกร การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตามประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ได้กำหนดให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตร การเศรษฐกิจการเกษตร การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การชลประทาน การประมง การปศุสัตว์ การป่าไม้ การพัฒนาที่ดิน และการสหกรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 14 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พร้อมทั้งรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจอีก 7 แห่ง ได้แก่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และบริษัท ไม้อัดไทย จำกัด
ในปี พ.ศ. 2546 มีพระราชกฤษฎีกา โอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการ เกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำาและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นที่กฎหมายกําหนด ให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกอบด้วยส่วนราชการ 13 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร แห่งชาติ พร้อมทั้งรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง ได้แก่ องค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย